วิกฤติบุคลากรไอซีทีไทย ปัญหาเดิมที่แก้ไม่ได้ (ตอน2)

วิกฤติบุคลากรไอซีทีไทย ปัญหาเดิมที่แก้ไม่ได้ (ตอน2)

ต้องทำงานวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างจริงจัง โดยเฉพาะเรื่อง Deep Technology

สัปดาห์ที่แล้วกล่าวถึงวิกฤติบุคลากรไอซีทีประเทศไทย ซึ่่งเป็นปัญหาเดิมๆ ที่มีมาอย่างต่อเนื่องนับสิบปี ที่ผ่านมาเราเน้นการผลิตบัณฑิตเชิงปริมาณมากกว่าคุณภาพ ซึ่งหากเจาะลึกไปในกลุ่มที่สำเร็จการศึกษาจะพบว่า มีเพียงจำนวนน้อยมากที่มีความสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งอาจแบ่งกลุ่มบัณฑิตตามลักษณะของสถาบันการศึกษาได้คร่าวๆ ดังนี้

กลุ่มระดับต้น คือสถาบันที่มีสาขาวิชา และมีนักศึกษาพร้อมทำงานในอุตสาหกรรม มีความรู้ด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ กลุ่มนี้มีไม่เกิน 10 แห่ง และนักศึกษาส่วนมากเก่งมีจำนวนรวมกันไม่เกิน 2,000 คน แต่ก็พบว่า จำนวนหนึ่งเมื่อจบออกมาก็ไม่ได้ทำงานด้านไอที และหลายๆ คนไปศึกษาต่อสาขาอื่น

กลุ่มระดับกลาง มีไม่เกิน 20 แห่ง จะได้นักศึกษาที่มีคุณภาพพอใช้ได้ประมาณ 20-30% จำนวนคนเหล่านี้มียอดรวมกันราว 1,000 คนเศษ แต่ที่เหลือก็ไม่เก่ง เพราะขาดพื้นฐานที่ดี

กลุ่มสุดท้ายเป็นสถาบันส่วนใหญ่ที่เปิดสอน จะมีนักศึกษาที่มีคุณภาพน้อยมาก บางแห่งมีนักศึกษาที่พอทำงานได้ ซึ่งเรียนทางด้านไอทีไม่เกิน 3-5 คน

จากจำนวนที่กล่าวมาจะเห็นว่า ยอดรวมต่อปี เรามีบัณฑิตที่พร้อมจะเข้าสู่วิชาชีพเพียงแค่ 3-4 พันคนทั้งที่เราผลิตบัณฑิตด้านนี้ออกมานับหมื่นคน ดังนั้นจึงไม่แปลกใจว่า ทำไมผู้ประกอบต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า บัณฑิตจำนวนมากไม่มีคุณภาพ ไม่เก่ง และคำพูดที่พบบ่อยมาก คือ จบด้านไอทีแต่เขียนโปรแกรมไม่เป็น ทำงานด้านไอทีไม่ได้

จะเห็นได้ว่า วิกฤติอุตสาหกรรมไอทีอยู่ที่เราไม่อยู่กับความจริง ไม่อยู่กับข้อมูลและตัวเลข เราได้แต่สร้างภาพและการตลาดว่า จะเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนี้ ทั้งที่เรามีบุคลากรเก่งน้อยมาก

เราพยายามบอกว่าเด็กจบใหม่เก่งไปเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ได้ ทั้งที่จริงจะเป็นไปได้หรือ ในเมื่อเด็กเราอ่อนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ บัณฑิตที่จบด้าไอทีเขียนโปรแกรมไม่เป็น ไม่เข้าใจเรื่อง Deep Technology มีบัณฑิตที่มีคุณภาพจำนวนไม่เกิน 3-4 พันคนต่อปี หากทำธุรกิจเองก็คงรอดเพียงไม่กี่รายและยากที่จะขยายไปเป็นบริษัทขนาดใหญ่ได้ เพราะสุดท้ายก็ไม่มีทางที่จะหาบุคลากรได้

ทางแก้ก็คือ ยอมรับความจริงและวางแผนสร้างคนในอนาคต ซึ่งอาจจะต้องเน้นในประเด็นเหล่านี้ ควรต้องปฎิรูประบบการศึกษา พัฒนาหลักสูตรใหม่ อาจต้อง ฝึกอบรมอาจารย์ และต้องส่งเสริมให้ทำการวิจัยใหม่ๆ รวมถึงมีการเรียนการสอนเทคโนโลยีใน 10-15 ปีข้างหน้า

หากต้องการสร้างบุคลากรทางด้านนี้ต้องวางแผนระยะยาว ส่งเสริมการเรียนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การเขียนโปรแกรม ตั้งแต่เด็ก ต้องใช้เวลา 10-15 ปี เป็นอย่างน้อยในการสร้างคนรุ่นใหม่

การพัฒนาหลักสูตรที่เป็นเทตโนโลยีใหม่ เช่น ทางด้าน ดาต้า ไซน์ หรือ เอไอ ต้องเน้นที่คุณภาพ ไม่ใช่ปริมาณหรือเน้นการตลาดเหมือนการทำหลักสูตรทางเทคโนโลยีสารสนเทศบางสาขาในอดีตที่ทำให้เข้าใจผิดว่าใครก็เรียนได้ แล้วออกแบบหลักสูตรง่ายๆ สุดท้ายบัณฑิตที่จบออกมาก็ไม่มีคุณภาพไม่สามารถทำงานและแข่งขันกับต่างประเทศได้

ต้องส่งเสริมอุตสาหกรรมด้านนี้ตามแนวทางที่ถูกต้องไม่ใช่เน้นการตลาด ถ้าต้องการคนไอทีจำนวนมากในระยะนี้เราอาจต้องส่งงานไปทำในต่างประเทศหรือต้องออกหาแนวทางให้บุคลากรต่างชาติมาทำงานในไทยได้ง่ายขึ้น

ความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในปัจจุบันกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องของปัญญาประดิษฐ์หรือด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล จึงเป็นโอกาสทำให้ทุกประเทศสามารถจะเข้าแข่งขันในอุตสาหกรรมที่กำลังเปลี่ยนแปลงได้ แต่ทั้งนี้บุคลากรก็ต้องมืพื้นฐานทางด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ รวมทั้งจะต้องมีการทำงานวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างจริงจัง

โดยเฉพาะในเรื่องของ Deep Technology และรัฐบาลอาจต้องทุมเทงบประมาณจำนวนมากเหมือนที่หลายๆ ประเทศทำ จึงจะแข่งขันในอนาคตได้ การพัฒนาคนต้องใช้เวลาไม่มีนโยบายใดๆ ที่สามารถจะทำให้คนเก่งขึ้นมาได้ในระยะเวลาอันสั้น หากเราไม่ได้สร้างพื้นฐานความรู้ให้แข็งแกร่งพอ