การสร้างจีดีพีด้วยวิธีสามานย์ (ภาค 2 ต่อ)

การสร้างจีดีพีด้วยวิธีสามานย์ (ภาค 2 ต่อ)

หลังรัฐบาลปัจจุบันเข้าบริหารประเทศไม่นาน โครงการและแนวคิดต่างๆ สำหรับสร้างเสริมเศรษฐกิจค่อยๆ ทยอยออกมา

โครงการและแนวคิดเหล่านั้นมักมีจีดีพีเป็นตัวชี้วัด ตัวเลขจีดีพีมีทั้งส่วนดีและส่วนที่มาจากความสามานย์ เช่น การแจกเงินให้คนไทยไปเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายประชานิยมที่ทำให้หลายประเทศล่มจมมาแล้ว (รายละเอียดมีอยู่ในหนังสือชื่อ “ประชานิยม ทางสู่ความหายนะ” ซึ่งดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์วิทยาทานของมูลนิธินักอ่านบ้านนา www.bannareader.com) และ การเปลี่ยนพื้นที่เกษตรกรรมอันอุดมสมบูรณ์ในภาคตะวันออกเป็นเขตอุตสาหกรรมในนามของ อีอีซีโครงการนี้จะทำให้ไทยยืมจะจมูกผู้อื่นหายใจมากขึ้นพร้อมกับรองรับขยะและปฏิกูลจากชาวต่างชาติซึ่งจะทำให้ธาตุ 4 ของเมืองไทยเป็นพิษมากขึ้น ประเด็นนี้ได้อธิบายไว้ในบทความเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว โดยมิได้อ้างถึงเรื่องแนวคิดที่จะถมอ่าวไทยทำเกาะหลายพันไร่เพื่อใช้เป็นฐานของโรงงานอุตสาหกรรม

แนวคิดเรื่องการถมอ่าวดังกล่าวเกิดก่อนรัฐบาลปัจจุบัน การผลักดันกลับมาเข้มข้นเพราะรัฐมนตรีบางคนคงมีผลประโยชน์ทับซ้อนซ่อนอยู่ งานในการถมอ่าวให้เป็นเกาะขนาดใหญ่ย่อมยังผลให้ตัวเลขจีดีพีเพิ่มขึ้นแน่ แต่ในขณะเดียวกัน มันมีด้านลบติดมาด้วย เช่น ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งจะเกิดขึ้นทั้งในขณะถมอ่าวและหลังจากนั้น หากอุตสาหกรรมน้ำมันใช้เกาะใหม่นั้นเป็นที่ตั้ง โอกาสที่น้ำมันจะรั่วไหลออกมาดังที่เคยเกิดขึ้นแล้วมีอยู่สูง ต่อไปการทำความสะอาดสิ่งแวดล้อมพร้อมกับการรักษาพยาบาลเมื่อมีการเจ็บป่วยจะทำให้เกิดจีดีพีอีกรอบหนึ่งซึ่งจะเป็นจีดีพีที่มาจากความสามานย์ การถมอ่าวมะนิลามองได้ว่าเป็นอาการของปัจจัยที่ทำให้ฟิลิปปินส์เป็น “คนป่วยแห่งเอเซีย” การถมอ่าวไทยอาจส่งผลให้ไทยเป็นเช่นฟิลิปปินส์ ณ วันนี้ คงยับยั้งอีอีซีไม่ได้แล้ว แต่ยังยับยั้งการถมอ่าวได้

ในขณะเดียวกัน จะให้เปิดพื้นที่มากขึ้นเพื่อค้นหาแร่และทำเหมืองรวมทั้งเหมืองทองคำ เรื่องการนำแร่ออกมาใช้ควรคิดเป็นส่วนหนึ่งของจีพีพีหรือไม่และจะจัดการอย่างไรยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมากเนื่องจากมันมีอยู่ก่อนแล้วและหลังจากนำออกมาใช้มันย่อมหมดไปส่งผลให้คนรุ่นหลังไม่มี ต่างกับการทำเกษตรกรรมซึ่งสร้างสิ่งใหม่แบบหมุนเวียนขึ้นมาไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ การทำเหมืองแร่มักทำลายสิ่งแวดล้อม ฉะนั้น จึงมักถกเถียงกันว่าสิ่งที่สูญไปนั้นคุ้มค่ากับแร่ที่นำออกมาหรือไม่ ยิ่งเป็นแร่ทองคำ ยิ่งต้องคิดหนักขึ้น ทั้งนี้เพราะทองคำที่ขุดขึ้นมาส่วนใหญ่มีค่าเพียงในอุปาทานของมนุษย์เท่านั้น ข้อมูลบ่งว่า ทองคำที่ขุดขึ้นมาแล้วราว 2 แสนตัน ราว 10% เท่านั้นที่ใช้ทำประโยชน์จริง นอกเหนือจากนั้น ใช้ทำเครื่องประดับและเก็บไว้ในรูปของทองแท่งซึ่งสร้างความไม่ปลอดภัยให้แก่เจ้าของและต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษา การทำเหมืองแร่อาจเกิดผลเสียหายร้ายแรง กรณีห้วยคลิตี้ใน จ. กาญจนบุรีน่าจะชี้ชัดอยู่แล้ว สำหรับการสร้างความเสียหายร้ายแรงของกระบวนทำเหมืองทองคำคอลัมน์นี้อธิบายหลายครั้งรวมทั้งเมื่อวันที่ 8 มกราคา 2553

พื้นที่ซึ่งจะเปิดให้ทำเหมืองแร่จะครอบคลุมพื้นที่ สปก. และเขตป่าสงวนเท่าไรยังไม่เป็นที่ประจักษ์ ปรากฏการณ์ที่ผ่านมาชี้ชัดว่า การใช้พื้นที่เหล่านี้มีความบิดเบือนไปจากเป้าหมายเดิม เอกสารของทางราชการเองชี้ว่า ดิน น้ำและป่ายังถูกทำลายต่อไป เช่น “วิสัยทัศน์ประเทศไทยสู่ปี 2570” ของสภาพัฒน์ฯ แม้เอกสารนี้จะเขียนหลายปีแล้ว แต่การทำลายยังมิได้เปลี่ยนไปในทางบวก การบิดเบือนดังกล่าวอาจเพิ่มจีดีพี แต่มันเป็นด้วยวิธีสามานย์ที่จะไม่มีวันนำความยั่งยืนมาให้สภาพการณ์ภายในเวลาเพียงข้ามวันที่เปลี่ยนภาคอีสานจากพื้นที่ซึ่งแห้งแล้งแสนสาหัสให้จมบาดาลน่าจะบ่งชี้อย่างดีแล้วว่าผลของความสามานย์เป็นอย่างไร การจะสร้างจีดีพีด้วยวิธีสามานย์ดังที่อ้างถึงมานี้ส่วนใหญ่ยังมีโอกาสยังยับยั้ง การไม่ยับยั้งย่อมแสดงว่าผู้กำนโยบายไม่ใส่ใจในความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนของชาติย่างจริงจังดังคำพูดของตน