แรงงานผิดกฎหมายในอุตสาหกรรมประมงอาเซียน

แรงงานผิดกฎหมายในอุตสาหกรรมประมงอาเซียน

อุตสาหกรรมประมงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประชาคมโลกเพราะเป็นแหล่งที่มาของหนึ่งในปัจจัย 4 คือ อาหารที่เลี้ยงดูประชากรทั้งอาหารสด อาหารแช่แข็ง

รวมไปถึงอาหารแปรรูปต่างๆ ทั้งยังเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ทั้งทางตรงและทางอ้อมอันมีมูลค่ามหาศาล ก่อให้เกิดการสนับสนุนอุตสาหกรรมประเภทอื่นที่เกี่ยวเนื่องกัน เกิดการสร้างงานให้กับตลาดแรงงานอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ดี ภายใต้ความเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศภูมิภาคอาเซียน ปัญหาหนึ่งซึ่งยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเด็ดขาดและแอบแฝงอยู่ในห่วงโซ่อุตสาหกรรมประมงคือปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย เนื่องด้วยเมื่อประชากรโลกเพิ่มจำนวนมากขึ้น ความต้องการอาหารของประชาคมโลกก็มีเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ความต้องการแรงงานจึงเพิ่มขึ้นทั้งแรงงานประมงบนเรือและชายฝั่ง

แรงงานในอุตสาหกรรมประมงมีความแตกต่างจากแรงงานประเภทอื่นเป็นอย่างมากเนื่องด้วยลักษณะของการทำงาน เช่น สถานที่ทำงาน เวลาในการทำงาน ความเสี่ยงในการทำงานและความแตกต่างของค่าตอบแทน ด้วยเหตุนี้การใช้แรงงานต่างถิ่นจึงเกิดขึ้น และกว่า 3 ใน 4 ของแรงงานต่างชาติในอุตสาหกรรมประมงเป็นแรงงานผิดกฎหมาย การจ้างงานแรงงานที่ผิดกฎหมายนี้เองยังนำมาซึ่งปัญหาการใช้แรงงานเด็ก การกดค่าแรง การละเมิดสิทธิมนุษยชนและการค้ามนุษย์อีกด้วย ปัญหาแรงงานผิดกฎหมายที่ซ่อนอยู่ในอุตสาหกรรมประมงของกลุ่มประเทศอาเซียนถือได้ว่าเป็นปัญหาใหญ่ในสายตาของประชาคมโลกแม้ว่าจะมีการพยายามหาช่องทางแก้ไขแต่ยังคงไม่ได้รับการเยียวยาอย่างจริงจัง รวมถึงจะถูกกดดันจากเวทีนานาชาติ อาทิเช่น กลุ่มสหภาพยุโรปอยู่เนือง ๆ ก็ตาม

ปัจจุบันประเทศไทยได้บังคับใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อการบรรเทาปัญหาดังกล่าวลงแต่ยังคงมีช่องว่างทางกฎหมายในเรื่องการตีความบทบัญญัติดังกล่าวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงอยู่บ่อยครั้ง และช่องว่างของกฎหมายไทยนี้เองเป็นเหตุให้เกิดจุดอ่อนที่นำไปสู่ปัญหาเหยื่อแรงงานบังคับในภาคประมง แม้ว่าประเทศไทยจะได้ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labor Organization- ILO) ว่าด้วยแรงงานบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2550 (ฉบับที่ 188) แต่ประเทศไทยยังคงไม่มีการกำหนดให้แรงงานบังคับเป็นความผิดตามกฎหมายเป็นการเฉพาะแต่อย่างใด อาจกล่าวได้ว่าผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์อาจตกเป็นเหยื่อแรงงานบังคับได้โดยการพิจารณาจากการยึดเอกสารประจำตัวและการใช้แรงงานแทนการชำระหนี้ รวมถึงการบังคับและหลอกลวงกลุ่มแรงงานดังกล่าว เช่น การถูกกระทำด้วยความรุนแรง หรือการถูกกักบริเวณเป็นต้น

ประเด็นที่จำเป็นต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อคุ้มครองแรงงานประมงให้มากขึ้น คือ การกำหนดให้แรงงานบังคับเป็นการแสวงหาประโยชน์รูปแบบหนึ่ง มีการบัญญัติความรับผิดอย่างชัดเจนและลดช่องว่างทางกฎหมาย เช่น ปรับเปลี่ยนการตีความอย่างแคบว่าผู้เสียหายจากแรงงานบังคับนั้นจะต้องตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ซึ่งเป็นเหตุให้ถูกแสวงหาประโยชน์เท่านั้นลง เป็นต้น ประเทศไทยควรแสดงความมุ่งมั่นต่อการดำเนินงานเพื่อขจัดปัญหาแรงงานบังคับทั้งนี้โดยการยกเลิกข้อจำกัดที่ขัดขวางการพัฒนาของระบบแรงงานในภาคประมง และผลักดันนโยบายรัฐบาลที่มีต่อเสรีภาพของคนงานในการกำหนดเงื่อนไขการจ้างงานหรือสภาพการทำงานที่ดีขึ้น รวมถึงข้อเสนอแนะซึ่งไม่มีผลผูกพันเป็นกฎหมายและเป็นบทส่งเสริมของอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานบังคับในฐานะรัฐภาคีของอนุสัญญาให้ขยับฐานะเป็นบทบัญญัติทางกฎหมายที่มีอำนาจบังคับใช้และมีการกำหนดโทษขึ้นมา นอกจากนี้ประเทศไทยจำเป็นต้องมีกฎหมายใหม่ที่กำหนดให้แรงงานบังคับเป็นฐานความผิดเฉพาะและห้ามการจ้างงานแรงงานบังคับในทุกรูปแบบ ซึ่งควรกำหนดเป็นพันธกรณีให้ประเทศไทยต้องเพิ่มความพยายามอย่างมากในการแก้ไขปัญหาแรงงานบังคับโดยกำหนดให้ผู้เสียหายได้รับค่าชดเชยและเข้าถึงการได้รับการเยียวยาที่เหมาะสมและเป็นผล เช่น การได้รับค่าชดเชยไปจนถึงการลงโทษผู้ละเมิดและใช้งานแรงงานบังคับเป็นต้น

เมื่อคำนึงถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมประมงในกลุ่มประเทศภูมิภาคอาเซียน ผู้เขียนจึงมีความเห็นว่าควรมีการสร้างกฎหรือระเบียบอาเซียนร่วมด้วย โดยอาศัยการใช้กลไกแห่งข้อตกลงระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียนเปรียบเทียบกับ บทบัญญัติของอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labor Organization- ILO) ร่วมกับแนวทางปฏิบัติ ขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization- IMO) ในประเด็นที่เกี่ยวข้องในลักษณะ เป็นความตกลงแบบพหุภาคีและเป็นบทบัญญัติทางกฎหมายซึ่งมีบทลงโทษต่อประเด็นปัญหาดังกล่าวร่วมกัน

อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า แม้ว่าประเทศไทยจะมีบทบัญญัติทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานในอุตสาหกรรมประมงในมิติของสิทธิ และขอบเขตหน้าที่การทำงาน รวมถึงการอนุวัติการและรับเอาเนื้อหาตามอนุสัญญาที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวแล้วก็ตาม เป็นเพียงการกำหนดขอบเขตไว้อย่างกว้างและไม่มีกรอบทางกฎหมายที่ชัดเจนจึงยังคงไม่สอดรับกับวัตถุประสงค์ในการป้องกันการใช้แรงงานผิดกฎหมายหรือควบคุมการเข้าถึงโอกาสการจ้างงานอย่างผิดกฎหมาย และในปัจจุบันกลุ่มประเทศอาเซียนยังคงไม่มีความร่วมมือในการพัฒนากฎหมายที่บังคับใช้เพื่อการควบคุมแรงงานผิดกฎหมายร่วมกันในอุตสาหกรรมประมงในระดับพหุภาคี เพื่อวัตถุประสงค์ในการปราบปรามและป้องกันการจ้างงานและการเข้าสู่วงจรที่ผิดกฎหมายของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน อันส่งผลต่อภาพลักษณ์สินค้าประมงส่งออกและเศรษฐกิจของไทย

หากภูมิภาคอาเซียนมีการนำต้นแบบมาตรการทางกฎหมายหรือข้อบังคับของอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labor Organization- ILO) มาประยุกต์ให้เหมาะสมกับสภาพสังคม วัฒนธรรมและ เศรษฐกิจในมิติระหว่างประเทศต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานบังคับหรือแรงงานผิดกฎหมายแล้ว น่าจะมีส่วนสำคัญในการคลี่คลายปัญหาดังกล่าวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพรวมถึงการสร้างความตกลงในระดับพหุภาคีอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมให้เป็นบทบัญญัติทางกฎหมายร่วมกันในประเด็นดังกล่าวซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมั่นในเวทีนานาชาติต่อแหล่งที่มาของวัตถุดิบจากทะเลได้มากขึ้นอย่างแน่นอน

โดย... 

ดร. ณัชชา สุขะวัธนกุล

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลสนครินทร์