Currency War 2019 (ตอน 2) ใครคือเหยื่อ และใครคือผู้ชนะ?

Currency War 2019 (ตอน 2) ใครคือเหยื่อ และใครคือผู้ชนะ?

เดือนที่ผ่านมาเราคุยกันถึงเรื่อง Currency War หรือสงครามค่าเงิน ซึ่งเป็นเรื่องที่อาจเกิดขึ้นถ้าสหรัฐฯ ต้องการ“ลดค่าเงินดอลลาร์”

 เพื่อความได้เปรียบทางการค้า

 วันนี้เราจะมาคุยกันว่า ประเทศไหน หรือสกุลเงินคู่ใด มีความเสี่ยงที่จะถูกหยิบขึ้นมาบนโต๊ะเจรจาของโดนัลด์ ทรัมป์ สงครามค่าเงินที่กำลังจะเกิดขึ้นจะกระทบตลาดทุนอย่างไร ไปจนถึงว่า ประเทศไหนที่จะสามารถพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส และกลายเป็นผู้ชนะในสงครามค่าเงินนี้ได้

 ขั้นแรก เราต้องหาว่าสกุลเงินคู่ใดที่จะถูกหยิบขึ้นมาเป็น “เหยื่อ” ในสงครามค่าเงินก่อน โดยถ้ามองจากแนวคิดของโดนัลด์ ทรัมป์ หยวน ยูโร และเปโซเม็กซิโก มีโอกาสโดนโจมตีมากที่สุด

 แน่นอนว่าสกุลเงินของประเทศที่ “เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯสูงและเงินอ่อนค่าในระยะสั้นเสี่ยงที่สุด ไล่เรียงจากตัวเลขขาดดุลการค้าในปัจจุบัน จะพบว่า จีน เม็กซิโก เยอรมัน ญี่ปุ่น และแคนาดา คือห้าประเทศใหญ่ที่เลี่ยงไม่ได้

 แต่ในปีนี้ทั้งเยนและดอลลาร์แคนาดาแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐไปแล้ว 3.2% และ 2.4% ดังนั้น ถ้ามองแวบแรก ความเสี่ยงนี้ดูจะตกไปที่ประเทศที่เหลือ ซึ่งคือจีน เม็กซิโก เยอรมัน

 คัดกรองระดับสอง ก็ต้องดูที่รายชื่อประเทศ “ผู้แทรกแซงค่าเงิน” ซึ่งสกุลเงินที่อาจตกเป็นเหยื่อน่าจะเป็น หยวน เยน และยูโร

แม้กลุ่มนี้ มีจีนประเทศเดียวที่ได้รับตำแหน่ง “ผู้แทรกแซงค่าเงินอย่างเป็นทางการ แต่ประเทศที่เข้าข่าย เฝ้าระวังของสหรัฐฯส่วนหนึ่งก็เป็นประเทศใหญ่ (เช่นญี่ปุ่น และ เยอรมัน) จึงมีความเป็นไปได้ที่ทรัมป์จะหยิบสกุลเงินของประเทศเหล่านี้ขึ้นมาต่อรองไปพร้อมกัน

 เมื่อเอาทั้งสองรายชื่อมารวมกัน สกุลเงินที่อาจต้องเตรียมรับมือสงครามค่าเงิน จึงมีอยู่สามสกุลเงิน ได้แก่ เยน ยูโร และหยวน ซึ่งถ้า Currency War เกิดขึ้นสกุลเงินเหล่านี้ต้อง แข็งค่าขึ้น และ ดอลลาร์ต้องอ่อนค่าลง

 อย่างไรก็ดี เงินไม่เหมือนสินค้าทั่วไป การอ่อนหรือแข็งไม่สามารถบอกได้ว่าดีหรือแย่ไปทุกครั้ง และก็อาจมีบางประเทศที่จะยอมเล่นเกมส์สงครามค่าเงินกับสหรัฐฯ ถ้าผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจและตลาดการเงินอยู่ในเกณฑ์ “รับได้”

 ผมมองจากฝั่งตลาดทุน โดยตั้งสมการว่าประเทศที่จะชนะในสงครามค่าเงินกับสหรัฐ “ต้องเป็นประเทศที่ได้ประโยชน์จากค่าเงินที่แข็ง” โดยวิเคราะห์จากความสัมพันธ์ (Correlation) ของเงิน (วัดด้วย Net Effective Exchange Rate) กับจีดีพี เงินเฟ้อ บอนด์ยีลด์ และตลาดหุ้นของแต่ละประเทศ ในช่วงต่างกันทั้งในระยะสั้น (5ปี) ไปจนถึงระยะยาว (10-20ปี) และนำมาหาค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักตามช่วงเวลา 

เริ่มที่ “เยน” เป็นสกุลที่จำเป็นต้องสู้กับสหรัฐฯมากที่สุดถ้าถูกโจมตีด้านค่าเงิน

 ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เงินเยนมีความสัมพันธ์เป็นลบทั้งกับจีดีพีญี่ปุ่นและเงินเฟ้อ หมายความว่าการแข็งค่าของเงินเยนจะทำให้ภาพเศรษฐกิจและเงินเฟ้อชะลอตัวลง

ขณะเดียวกันในฝั่งตลาดการเงิน ดัชนี TOPIX กับเงินเยนก็มี Correlation เฉลี่ยลบลึกถึง -0.4 แปลความได้ว่าหุ้นญี่ปุ่นจะปรับฐานไปด้วยถ้าเยนแข็งค่า  ไม่ว่ามองอย่างไร ญี่ปุ่นก็ไม่ควรยอมให้สหรัฐฯกดดันด้วยการขอลดค่าเงินดอลลาร์ข้างเดียว และควรต้องใช้นโยบายการเงินเข้าแลกถ้าเข้าสู่สงครามครั้งนี้

 

ฝั่ง “ยูโร” แม้จะไม่ได้หนักเท่าญี่ปุ่นแต่ก็ “อาจต้องสู้” ถ้ามองผ่านตลาดการเงิน

 ยุโรปแตกต่างจากญี่ปุ่นเพราะเป็นเศรษฐกิจที่ซื้อขายกันภายใน การอ่อนค่าหรือแข็งค่าของเงินยูโรจึงไม่ได้กระทบกับจีดีพีหรือเงินเฟ้อในยูโรโซนอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ดี โดยเฉลี่ย Correlation ของดัชนี Euro Stoxx 50 กับค่าเงินยูโรจะอยู่ที่ -0.1 ขณะที่เมื่อเทียบกับบอนด์ยีลด์ความสัมพันธ์เฉลี่ยจะอยู่ที่ 0.1 ซึ่งหมายความว่า ตลาดหุ้นและราคาบอนด์ยุโรปจะย่อตัวลงถ้ายูโรแข็ง ดังนั้น ถ้าสหรัฐฯพยายามกดดันให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนเทียบกับยูโร ยุโรปก็ไม่น่าจะยอมสหรัฐไปเสียหมด

 ที่ต่างก็คือ “เงินหยวน” การแข็งค่ามักเป็นสัญญาณบวกกับตลาดมากกว่าลบ

 เพราะในจีน นโยบายการคลังมักมีผลกับเศรษฐกิจ มากกว่านโยบายการเงินและค่าเงินหยวนอยู่แล้ว ขณะที่หยวนก็เป็นหนึ่งในสกุลเงินตลาดเกิดใหม่ ซึ่งค่าเงินที่แข็งมักเป็นปัจจัยที่สร้างความมั่นใจให้นักลงทุน

 ดังจะเห็นได้จากความสัมพันธ์เฉลี่ยที่เป็นบวก 0.1  กับดัชนี CSI 300 และ -0.1 กับบอนด์ยีลด์จีนอายุ 10ปี ซึ่งหมายความว่า จีนอาจเป็นประเทศเดียวที่สามารถพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส และอาจรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการแข็งค่าของเงินหยวนได้

ล่าสุด ยิ่งสงครามการค้าปั่นป่วน ทางการจีนก็ยิ่งกำหนดเงินหยวนให้อ่อนค่าไปรอ จนน่าสงสัยว่านี่คือการเตรียมความพร้อมเพื่อให้สหรัฐฯเปิดฉากสงครามค่าเงินในอนาคตหรือไม่