การทำตามนโยบายสาธารณสุข ตามที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภา(จบ)

การทำตามนโยบายสาธารณสุข ตามที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภา(จบ)

นโยบายข้อ 9.4 สร้างหลักประกันทางสังคมที่ครอบคลุมด้านการศึกษา สุขภาพ การมีงานทำที่เหมาะสมกับประชาชนทุกกลุ่ม มีการลงทุนทางสังคมแบบมุ่งเป้าหมาย

 เพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนยากจนและกลุ่มผู้ด้อยโอกาสโดยตรง จัดให้มีระบบบำนาญหลังพ้นวัยทำงาน ปฏิรูประบบภาษีให้ส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม สร้างความเสมอภาคทางการศึกษาผ่านกลไกกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และยกระดับคุณภาพการศึกษา ผ่านการใช้เทคโนโลยีทันสมัย รวมทั้งคุ้มครองแรงงานทั้งในระบบ และนอกระบบให้ได้รับความปลอดภัยและมีสุขภาพอนามัยที่ดีในที่ทำงาน ได้รับรายได้ สวัสดิการ และสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมในการดำรงชีพ

นโยบายในข้อ 9.4 นี้ เป็นนโยบายรวมในการสร้างหลักประกันฯที่ครอบคลุมทุกด้าน ซึ่งปัจจุบันมีการจัดให้มีการประกันสุขภาพภาครัฐ 3 ระบบ ครอบคลุมพลเมืองไทยประมาณ 99% ได้แก่ ระบบสวัสดิการข้าราชการ ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (30 บาท) และระบบประกันสังคม ในส่วนการสร้างหลักประกันฯอื่นๆ นั้น  มีสำหรับผู้จ่ายเงินสมทบ 10 ล้านคนเศษ ครอบคลุมเพียง 1 ใน 6 ของประชาชนทั้งประเทศ และหลักประกันฯสำหรับข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจอีกประมาณ 6 ล้านคน นอกจากนี้ ประชาชนที่ไม่ได้มีหลักประกันฯจากรัฐ รัฐบาลควรมีมาตรการให้ประชาชนทุกคนรวมอยู่ในกองทุนประกันสังคม 

โดยตามหลักการมีการดำเนินการนี้อยู่แล้ว ได้แก่ระบบการประกันสังคม โดยสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงานฯ ซึ่งจะดูแลผู้เข้าสู่ระบบ(ไทยเรียกว่าเป็น “ผู้ประกันตน”) ทั้งเมื่อยังไม่เจ็บป่วยและเมื่อเจ็บป่วย มีการดูแลมารดาและทารก การได้รับเงินทดแทนเมื่อบาดเจ็บหรือป่วยจากการทำงาน การได้รับค่าจ้างเมื่อป่วยหรือคลอดบุตร การได้เงินช่วยเหลือเมื่อถูกเลิกจ้าง การได้รับบำเหน็จบำนาญเมื่อเกษียณ ซึ่งประเทศไทยเองนั้น มีการให้การประกันสังคมแก่ประชาชนเฉพาะลูกจ้าง(ไม่รวมผู้มีอาชีพอิสระ ที่ไม่มีนายจ้าง) เท่านั้น โดยเก็บเงินสมทบจากนายจ้าง ลูกจ้างและรัฐบาลในสัดส่วนน้อยและไม่เท่ากัน (รัฐบาลออก 2.75% ในขณะที่นายจ้างและลูกจ้างออก 5% ของเงินค่าจ้างที่มีเพดานไม่เกิน 15,000 บาท) เมื่อผู้จ่ายเงินเข้ากองทุนฯน้อย จ่ายเงินสมทบน้อย จึงทำให้จ่ายเงินบำนาญอาจไม่เพียงพอต่อการครองชีพหลังเกษียณ หลายประเทศในยุโรปและอเมริกา ประชาชนทุกคนต้องจ่ายเงินสมทบเข้าสู่กองทุนประกันสังคม และเมื่อเกษียณ ก็จะได้เงินบำนาญมากพอจะมาใช้ชีวิตได้อย่างพอเพียง 

ฉะนั้น ในข้อนี้รัฐบาลควรคิดวางแผนแบบบูรณาการ โดยปฏิรูประบบการประกันสังคมใหม่ให้ครอบคลุมประชากรทุกคน และเก็บเงินสมทบเพิ่มขึ้น ทั้งในภาคบังคับหรือสมัครใจ เพื่อให้สามารถจ่ายเงินบำนาญในวัยชราได้มากขึ้น เป็นการออมเงินไว้ใช้ในวัยชรา และเป็นการประกันสุขภาพด้วยโดยไม่เป็นภาระจากการใช้ภาษี และเมื่อคนสูงอายุมีเงินบำนาญ รัฐบาลอาจไม่ต้องแจกเงินคนแก่ทุกคนอีกต่อไป ควรแจกเฉพาะคนจนเท่านั้น ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ เพราะการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในสังคมเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องทำ

ก.นโยบายที่มุ่งเป้าช่วยเหลือคนยากจนและกลุ่มผู้ด้อยโอกาสโดยตรงนั้น รัฐบาลได้ช่วยลดค่าครองชีพ แจกค่าเดินทาง รถเมล์ รถไฟฟรี แต่รัฐบาลควรจะสร้างงาน สร้างรายได้ โดยยึดหลักการว่า ทุกคนควรต้องทำงานเพื่อจะพึ่งตนเองได้ เป็นการสร้างความภาคภูมิใจในตนเองของประชาชน ไม่ต้องคอยแบมือรับแจกอย่างเดียว

ข.นโยบาย “ปฏิรูประบบภาษีให้ส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม นโยบายข้อนี้ ไม่เกี่ยวกับภาระรับผิดชอบของก.สาธารณสุขโดยตรง รัฐบาลควรจะเก็บภาษีผู้ที่มีรายได้สูงมากในอัตราเพิ่มขึ้น เก็บภาษีที่ดินสำหรับผู้ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากที่ดินโดยตรง ไม่ควรเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเป็นภาษีทางอ้อม แต่มีผลให้สินค้าในการอุปโภคบริโภคมีราคาแพงเพราะส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนผู้รายได้น้อย

ค.นโยบาย สร้างความเสมอภาคทางการศึกษาผ่านกลไกกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และยกระดับคุณภาพการศึกษา ผ่านการใช้เทคโนโลยีทันสมัย ข้อนี้ คงไม่ใช่ความรับผิดชอบของ ก.สาธารณสุข แต่เป็นความรับผิดชอบของ ก.ศึกษาธิการ แต่จะเห็นได้ว่า รัฐบาลได้จัดการศึกษาฟรีจนถึงมัธยม 6 แต่ในระดับสูงกว่านั้น มีกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา แต่ผู้เขียนขอเสนอให้ยกเลิกกองทุนกู้ยืมฯ เนื่องจากพบว่า ถ้าเรียนจบ แล้วหางานไม่ได้ นักเรียนผู้กู้ยืมเงินก็ไม่มีเงินมาจ่ายคืน (มีข่าวการทวงเงินคืนจากผู้กู้ฯ อยู่เสมอๆ) เป็นการบีบบังคับให้นักเรียนผู้รับทุนจำต้อง “เบี้ยวหนี้” โดยไม่ตั้งใจ เป็นการเริ่มต้นปลูกฝังนิสัยที่ไม่สุจริต/ไม่รับผิดชอบให้แก่เยาวชน แต่ควรยกเว้นค่าหน่วยกิตแก่นักศึกษาที่ยากจน เท่ากับให้ทุนการศึกษา

 โดยรัฐบาลจะให้ทุนการศึกษาโดยตรงหรือสนับสนุนให้บริษัทเอกชนให้ทุนแก่นักศึกษา และนำเงินส่วนนี้ไปหักลดภาษี โดยอาจมีข้อผูกมัดให้ไปทำงานในบริษัทเอกชนหรือรัฐบาลผู้ให้ทุน ก็จะเกิดประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย เพราะรัฐบาลหรือบริษัทเอกชน ก็สามารถที่จะสนับสนุนการศึกษาในสาขาวิชาเฉพาะ ที่จะทำให้ได้ผู้สำเร็จการศึกษามีความรู้และทักษะในการทำงานในสาขาที่รัฐบาลหรือบริษัทเอกชนที่ให้ทุนต้องการ ในสาขาวิชาที่จำเป็นหรือยังขาดแคลนในการพัฒนาประเทศชาติ ซึ่งทุกคนเมื่อเรียนจบก็จะมีงานทำตรงตามความจำเป็นในการพัฒนาประเทศ และในขณะกำลังเรียนก็ควรมีโอกาสฝึกงานจริง เพิ่มพูนทักษะการทำงาน เพื่อให้นักเรียนสามารถเลือกทำงานตามความชอบและความถนัดของตนได้ และสามารถที่จะพัฒนาศักญภาพของตนในการสร้างงานใหม่ๆ ให้แก่ตนเองได้ เป็นผู้ประกอบการเองได้ ไม่ต้องรอสมัครงาน หรือเรียนจบแต่ไม่มีงานทำ

ง.นโยบาย คุ้มครองแรงงานทั้งในระบบ และนอกระบบให้ได้รับความปลอดภัยและมีสุขภาพอนามัยที่ดีในที่ทำงาน ได้รับรายได้ สวัสดิการ และสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมในการดำรงชีพ ในส่วนนี้ คงเป็นหน้าที่ของ ก.แรงงาน ในเรื่องรายได้และสวัสดิการผู้ทำงาน และหน้าที่ของ ก.อุตสาหกรรม ที่ต้องตรวจสอบมาตรฐานโรงงานและสภาพแวดล้อมในการทำงาน สำหรับแรงงานในภาคเกษตร ก็ควรได้รับความรู้จาก ก.เกษตร ในการใช้สารเคมีที่ปลอดภัยต่อสุขภาพต่อตนเอง และต่อพืชผลทางการเกษตร เพื่อคุ้มครองสุขภาพของผู้บริโภค และปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมด้วย (ไม่เพิ่มมลภาวะหรือสารเคมีอันตรายต่อดิน น้ำ อาหาร อากาศ) ในส่วนของ ก.สาธารณสุขอาจมีบทบาทเสริม ในการตรวจสุขภาพแรงงาน และความปลอดภัยต่อสุขภาพในสิ่งแวดล้อมของสถานประกอบการเท่านั้น

 โดย... 

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา

กรรมการแพทยสภา