สงครามการค้า: แนวโน้มกับการรับมือ

สงครามการค้า: แนวโน้มกับการรับมือ

อาทิตย์ที่แล้วผมไปร่วมงานสัมนาวิชาการของสถาบันสร้างไทย

และร่วมให้ความเห็นในหัวข้อ “ผลกระทบของสงครามทางการค้าจีน – สหรัฐ: สถานะทางยุทธศาสตร์และการรับมือของไทย” งานสัมนาได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ ดร.เซียงปิง(Xiang Bing) คณบดีผู้ก่อตั้งสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ Cheung Kong แห่งกรุงปักกิ่ง มากล่าวปาฐกถาพิเศษเปิดงานในหัวข้อ พัฒนาการของจีนที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมระหว่างประเทศ ซึ่งได้ประโยชน์มาก เพราะเป็นโอกาสดีที่ได้ฟังความเห็นนักวิชาการรุ่นใหม่ของจีนว่า มองเศรษฐกิจและสถานะของจีนในเศรษฐกิจโลกขณะนี้อย่างไร โดยเฉพาะในบริบทของสงครามทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐที่กำลังเกิดขึ้น

ดร.เซียงปิง พูดถึงเศรษฐกิจและบทบาทของจีนในโลกปัจจุบันหลายด้าน ซึ่งประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสงครามการค้าคงสรุปได้สามประเด็น

หนึ่ง เศรษฐกิจจีนเติบโตได้อย่างดีและการพัฒนาประเทศช่วง 40 ปีที่ผ่านมาประสบความสำเร็จ ปัจจุบันสถานะของจีนสามารถเทียบเคียงได้กับสหรัฐในหลายด้าน ทั้งขนาดของรายได้ประชาชาติ ความสำเร็จของภาคธุรกิจพิจารณาจากจำนวนบริษัทจีนที่ติดอันดับท็อป 100 บริษัทใหญ่ที่สุดในโลก ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี่ การลดลงของความยากจน เสถียรภาพของเศรษฐกิจวัดจากปริมาณทุนสำรองทางการที่สูง และความเป็นหนี้ของภาครัฐที่ตํ่า สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของจีนในหลายมิติ รวมถึงในมิติที่เป็นเรื่องใหม่ๆ เช่น จำนวนบริษัทเกิดใหม่(Start up) ที่มียอดขายมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ UniCorns ที่จีนมี125 บริษัท ทิ้งห่างสหรัฐที่มี 113 บริษัท นี่คือความสำเร็จในการพัฒนาประเทศของจีนที่นักวิชาการจีนภูมิใจ

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าความสำเร็จดังกล่าวยังมีจุดอ่อน ทำให้จีนจะต้องพัฒนาต่อไปโดยเฉพาะในเรื่องเทคโนโลยี โดยจีนมีเป้าหมายที่จะยกระดับคุณภาพการผลิตของจีนให้สูงขึ้น เพื่อให้บริษัทจีนเป็นส่วนบนสุดของห่วงโซ่การผลิตโลกที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากสุด พร้อมพัฒนาภาคบริการให้เติบโตเพื่อสนับสนุนภาคการผลิต ให้จีนเป็นประเทศผู้นำด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี แนวคิดดังกล่าวทำให้ชัดเจนว่าการเติบโตของจีนจะมีต่อไปไม่หยุดนิ่ง

สอง ปัจจัยที่ขับเคลื่อนการเติบโตและความสำเร็จของจีน คือ การมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจ ภายใต้การบริหารจัดการเศรษฐกิจในระบบตลาดโดยภาครัฐ ในเรื่องนี้ ดร.เซียงปิง มองว่าความหวังหรือHope เป็นสิ่งสำคัญที่สังคมต้องมีเพื่อให้ความสมานฉันท์ หรือ Social harmony เกิดขึ้นในสังคม และความหวังก็จะเป็นกลไกขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจเติบโตได้ด้วยตัวเองจากพลังและความหวังที่ภาคธุรกิจและประชาชนมีและต้องการทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของตนดีขึ้น ขณะเดียวกัน ภาครัฐก็ต้องเป็นภาครัฐที่ประชาชนเชื่อถือและไว้วางใจ ซึ่งในกรณีจีน การบริหารจัดการภาครัฐได้ประโยชน์จากแนวคิดของลัทธิขงจื้อมาตลอด คือ เน้นการได้คนดีมีความรู้ความสามารถเข้ามาทำหน้าที่บริหารบ้านเมือง เน้นเรื่องการศึกษาและการมองประโยชน์ของส่วนรวม สิ่งเหล่านี้ได้ผสมผสานเป็นพลังที่สนับสนุนการเติบโตของประเทศจีน

สาม เรื่องสงครามการค้า ดร.เซียงปีง มองว่าคงเป็นเรื่องยาวเพราะเกิดจากการเติบโตของจีนและบทบาทที่สูงขึ้นของจีนในเศรษฐกิจโลก ดังนั้นไม่ว่าการเมืองในสหรัฐหรือในประเทศอื่นๆ จะเป็นอย่างไร จีนก็ยังจะเติบโตต่อไป ทำให้ประเด็นอย่างสงครามการค้าอาจมีอยู่ต่อไป เพราะสะท้อนการเติบโตของจีน

แนวคิดของนักวิชาการจีนข้างต้น ไม่แตกต่างจากที่ผมมอง ซึ่งในงานสัมนาผมได้ให้ความเห็นว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนจนสามารถเทียบเคียงได้กับสหรัฐได้ ทำให้แรงกระทบกระทั่งระหว่างจีนกับสหรัฐในแง่การแข่งขันมีมากขึ้นในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการค้า เทคโนโลยี การวิจัยค้นคว้า การศึกษา และการทหาร สงครามการค้าที่เราเห็นจึงเป็นเพียงมิติหนึ่งของการแข่งขันระหว่างจีนกับสหรัฐที่กำลังเกิดขึ้น ทำให้การเจรจาการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐไม่สามารถหาข้อยุติได้และจะสามารถยืดเยื้อและบานปลายต่อไปได้ เพราะมิติของการแข่งขันไม่ได้อยู่ที่เรื่องการค้าอย่างเดียว ด้วยเหตุนี้จึงยากที่จะบอกได้ว่าข้อขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐจะลงเอยอย่างไร จะยุติได้เมื่อไร เป็นความไม่แน่นอนที่กระทบเศรษฐกิจโลกมากขณะนี้ ทำให้ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยจากความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไมได้

ต่อคำถามว่า ในการตั้งรับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเราควรทำอย่างไร ในเรื่องนี้ผมได้ให้ความเห็นว่า นอกจากมาตรการภายในประเทศที่ต้องพยายามช่วยประชาชนในประเทศให้สามารถมีรายได้และรักษาการมีงานทำให้มีอยู่ต่อไปแล้ว มาตรการภาครัฐจำเป็นต้องช่วยภาคธุรกิจให้สามารถปรับตัวได้ในภาวะที่สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศจะยากขึ้นโดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก นอกจากนี้ ก็ต้องเน้นการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผลกระทบที่จะมาจากการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศที่จะกระทบสภาพคล่องในประเทศ กระทบความสามารถในการชำรหนี้ของภาคธุรกิจและครัวเรือน เพื่อไม่ให้ประเทศเกิดปัญหาด้านเสถียรภาพ

ที่สำคัญ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยจะกระทบเศรษฐกิจของเอเชียทั้งภูมิภาค จึงจำเป็นที่ประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียนจะต้องร่วมมือกันลดทอนผลกระทบดังกล่าว โดยผลักดันการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศในภูมิภาคให้ขยายตัวมากขึ้น ด้วยการเปิดเสรีและลดข้อจำกัดด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน เพื่อให้การค้าระหว่างประเทศในอาเซียน ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 25 ของการค้าของอาเซียนทั้งหมด สามารถเป็นฐานพยุงเศรษฐกิจอาเซียนให้ขยายตัวต่อไปแม้เศรษฐกิจโลกจะชะลอ ซึ่งอาเซียนเคยทำสำเร็จมาแล้วหลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลก ปี 2008 ที่สหรัฐและประเทศอุตสาหกรรมหลักชะลอตัว แต่อาเซียนและประเทศในเอเชียก็สามารถขยายตัวได้ดีเพราะประโยชน์ที่ได้จากการเติบโตของการค้าในภูมิภาค

ทั้งหมดคือความเห็นที่ได้ให้ไปในการสัมนา