โอลิมปิก โตเกียว 2020

โอลิมปิก โตเกียว 2020

ท่านอาจจะสงสัยว่า โอลิมปิกที่โตเกียวจะแข่งขันกันในปีหน้า ทำไมดิฉันรีบเขียนถึงตั้งแต่ตอนนี้

คำตอบก็คือ ญี่ปุ่นซึ่งเป็นเจ้าภาพ เพิ่งจะเปิดขายบัตรนอกประเทศได้ประมาณสองสัปดาห์ และสำหรับคนญี่ปุ่นเอง ต้องเข้าชื่อเพื่อจับสลากให้สิทธิ์ซื้อตั๋ว และจะประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์ซื้อตั๋วในวันที่ 11 กันยายนนี้ค่ะ ช่วงนี้จึงเป็นช่วงที่แฟนกีฬาตื่นตัวกันมาก

 ชาวต่างชาติสามารถซื้อผ่านตัวแทนจำหน่ายที่แต่งตั้งในแต่ละประเทศเท่านั้น ตั๋วที่ซื้อห้ามเปลี่ยนมือโดยเด็ดขาด ผู้เข้าชมต้องมีชื่อตรงกับตั๋วเท่านั้น มิฉะนั้น ตั๋วจะเป็นโมฆะค่ะ

 ดิฉันสำรวจมาแล้วว่าตั๋วมีราคาถูกแพงเพียงใด ยกตัวอย่าง ฟุตบอลรอบแรก ชมสองคู่ ราคาบัตรเข้าชม มีตั้งแต่ 3,000 ถึง 9,800 เยน (ประมาณ 870 ถึง 2,820 บาท) วอลเล่ย์บอล  8,000 ถึง 30,500 เยน หรือประมาณ 2,300 ถึง 8,780 บาท

 เทควันโด 3,000-5,500 เยน (870-1,580 บาท) โปโลน้ำ รอบคัดเลือก ราคา 3,000-10,000 เยน (870-2,880 บาท) ว่ายน้ำจะแพงหน่อยค่ะ 5,800-67,500 เยน (2,300-19,440 บาท)

 โอลิมปิกครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 32 และเป็นโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งที่สอง ที่ญี่ปุ่นได้เป็นเจ้าภาพ โดยครั้งแรก คือ ปี 1964 หรือ ปี พ.ศ. 2507 แต่หากนับโอลิมปิกฤดูหนาวด้วย ครั้งนี้ก็เป็นครั้งที่ 4 ที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพค่ะ เพราะเคยเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาวสองครั้ง ในปี 1972 ที่ เมืองซัปโปโร และ ปี 1998 ที่ เมืองนากะโนะ

 การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกจะมีในช่วง 24 กรกฎาคม ถึง 9 สิงหาคม ปี 2563 โดยจัดที่กรุงโตเกียว และเมืองรอบๆ อาจจะมีจัดในเมืองอื่นบ้าง เช่นฟุตบอลบางแมทช์ ก็จัดที่ซัปโปโร เป็นต้น

 มาสคอต ประจำโอลิมปิกครั้งนี้ ชื่อ มิระอิโทวะ (Miraitowa) บางคนอาจจะอ่านว่า “มิไรโทวะ” โดย “มิระอิ" มีความหมายว่า “อนาคต” และ “โทวะ” มีความหมายว่า “อมตะ” รวมกันก็หมายถึง อนาคตที่เต็มไปด้วยความหวัง ที่เป็นอมตะในหัวใจของมวลมนุษยชาติ

 สำหรับเหรียญรางวัลของนักกีฬา ออกแบบโดย จุนนิชิ คะวานิชิ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสมาคมออกแบบตราสัญญลักษณ์ของญี่ปุ่น และของสมาคมนักออกแบบแห่งโอซาก้า จะมีการแจกรวม 5,000 เหรียญ ลวยลายที่ออกแบบแสดงถึงพลังของเหล่านักกีฬา และผู้สนับสนุนเบื้องหลัง

 เหรียญทั้งหมด ทำจากวัสดุรีไซเคิลอิเล็กทรอนิกส์ ที่รับบริจาคจากทั่วประเทศในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทั้งจากสถาบันการศึกษา 1,300 แห่ง และร้านค้าปลีกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กว่า 2,100 ร้านทั่วประเทศ โดยมีกล่องรับบริจาคสีเหลือง วางเอาไว้ทั่วประเทศ เพื่อขอรับบริจาคอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใช้แล้ว โดยได้รับบริจาคโทรศัพท์มือถือเก่ามา 6.21 ล้านเครื่อง กล้องดิจิตัล เกมส์ คอมพิวเตอร์แลปทอป เพื่อนำมาคัดแยก และหลอมใหม่

 เมื่อปิดการรับบริจาคเมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา สามารถระดม วัสดุได้เป็น ทองคำ 30.3 กิโลกรัม เงิน 4,100 กิโลกรัม และทองแดง 2,700 กิโลกรัม  โดยเหรียญทองคำ มีน้ำหนัก 556 กรัม จะผลิตโดยใช้ทองคำ 6 กรัมมาเคลือบบนเหรียญเงินแท้ เหรียญเงินจะผลิตจากเงินแท้ หนัก 550 กรัม และเหรียญทองแดง จะหนัก 450 กรัม ผลิตจาก ทองแดง 95% และสังกะสี 5% (ดิฉันค้นดูพบว่า บ้านเราเรียกว่า “ทองเหลือง” แต่ของเขามีทองแดงเยอะ เลยจะออกสีแดงมากกว่าทองเหลืองที่เราเห็นนำมาผลิตกระทะทำขนมนะคะ) ทุกเหรียญมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 8.5 เซ็นติเมตรค่ะ 

 ดิฉันก็เพิ่งจะทราบว่า นักกีฬาผู้ชนะ ต้องแบกเหรียญหนักประมาณครึ่งกิโลกรัม! 

 สายคล้องเหรียญ ทำจากวัสดุที่ทอจากเยื่อไม้ ออกแบบและใช้เทคนิคแบบญี่ปุ่น ดูสวยงามค่ะ

 ในการแข่งขันโอลิมปิกครั้งที่ 32 นี้ จะมีกีฬาสำหรับชาย 165 รายการ กีฬาของผู้หญิง 156 รายการ และกีฬาผสม/กีฬาที่เปิดให้ทั้งหญิงและชายแข่งขันอีก 18 รายการ สนามแข่งขันสนามใหญ่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ค่ะ กำลังสร้างอยู่ ใกล้จะเสร็จแล้วค่ะ

 คบเพลิงที่ใช้จุดไฟตลอดการแข่งขัน มีรูปทรงเหมือนก้านของต้นซากุระ และเมื่อมองจากด้านบน จะเห็นเป็นรูปของกลีบดอกซากุระ ซึ่งเป็นสัญญลักษณ์ของญี่ปุ่น โดยคบเพลิงนี้มีความหมายเหมือนคติของเกมส์ว่า ความหวังจะส่องทางให้เรา

 ไฟโอลิมปิก จะถูกจุดในวันที่ 12 มีนาคม 2563 ที่ประเทศกรีซ และจะไปถึงจังหวัดมิยาหงิ และจะไปยังเซนได อิวาเตะ และฟุกุชิมะ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สึนามิปี 2011

 หลังจากนั้นจะมีการวิ่งคบเพลิงไปทั่วประเทศญี่ปุ่น จนครบ 47 จังหวัด โดยเริ่มจาก ฟุกุชิมะ ในวันที่ 26 มีนาคม ลงไปภาคกลาง และไปตะวันตกเฉียงใต้ สู่โอกินาวา กลับมาทางเหนือผ่านเกียวโต ในปลายเดือนพฤษภาคม เพื่อไปฮอกไกโด (ถึงกลางมิถุนายน) และลงไปทางใต้ เพื่อไปถึงกรุงโตเกียว ใช้เวลาทั้งหมด 121 วัน ถือเป็นการร่วมแรงร่วมใจของคนทั้งชาติ เพื่อมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ครั้งนี้

 ท่านที่ต้องการจองที่พักในกรุงโตเกียวในช่วงนั้น ไม่ต้องตกใจนะคะ ขณะนี้ทางการญี่ปุ่นไม่อนุญาตให้โรงแรมใดๆในโตเกียวรับจองที่พักในช่วงการแข่งขัน จนกว่าจะสามารถจัดที่พักให้นักกีฬา โค้ช และสต๊าฟ ได้ครบหมด หลังจากนั้นจึงจะเปิดให้จองได้ค่ะ

 หมายเหตุ : ข้อมูลส่วนใหญ่จากเว็ปของโอลิมปิค และเว็ปของ โตเกียว โอลิมปิก 2020