มองโอกาสในอาเซียน ผ่านบทเรียนสงครามการค้า

มองโอกาสในอาเซียน ผ่านบทเรียนสงครามการค้า

ความตึงเครียดจากสงครามการค้าระหว่าง 2 มหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก นั่นก็คือ สหรัฐและจีน ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้ว

และมีทีท่าว่าจะยืดเยื้อต่อไปอีก ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก รวมถึงประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน ในฐานะผู้มีส่วนร่วมในห่วงโช่การค้าห่วงใหญ่ของโลกนี้

เราเห็นได้ว่าตั้งแต่ปี 2561 ที่ผ่านมา ยอดการส่งออกของกลุ่มประเทศอาเซียนหดตัวลง โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีการสื่อสาร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือเครื่องจักร และวัตถุดิบ ซึ่งก็สอดคล้องกับกำแพงภาษีที่สูงขึ้นที่ทางสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) เรียกเก็บกับสินค้าจากจีน

ในขณะเดียวกัน ก็มีหลายประเทศในอาเซียนที่พึ่งพาการส่งออกน้อย และมีการบริโภคภายในประเทศสูง สามารถรับมือกับแรงต้านทางการค้าได้ดีกว่าในระยะสั้น รวมถึงมีอุตสาหกรรมบางประเภทที่ไม่ได้รับผลพวงจากนโยบายกีดกันทางการค้า

การที่สหรัฐขึ้นภาษีนำเข้า ทำให้สินค้าที่ส่งออกจากจีนมีราคาสูงขึ้น ด้วยเหตุนี้เองทำให้ผู้ผลิตจากจีนย้ายฐานการผลิตมาในประเทศในอาเซียน โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกฉียงใต้ ที่มีต้นทุนในการผลิตที่ค่อนข้างต่ำ เช่น เวียดนาม ไทย และมาเลเซีย

พื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังคงแข็งแกร่ง แม้ว่ายอดการส่งออกปีนี้จะมีแนวโน้มลดลงจากปีก่อน แต่ถ้าพิจารณาตัวเลขการลงทุนจากต่างประเทศแล้ว ประเทศไทยรับเม็ดเงินลงทุนจากจีนสูงขึ้นมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมาจากการเปลี่ยนเส้นทางของห่วงโซ่การผลิต และการขยายการลงทุนของจีนเองในภูมิภาคอาเซียน

ธุรกิจในประเทศไทยควรปรับกลยุทธ์ในระยะกลางถึงระยะยาว โดยมองหาโอกาสจากจุดแข็งของประเทศ และโอกาสจากการค้าระหว่างประเทศอาเซียนด้วยกัน

จากข้อมูลของฝ่ายวิจัยของธนาคารยูโอบี พบว่ากลุ่มอุตสาหกรรมส่งออกที่ได้รับผลกระทบน้อยจากสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ได้แก่ สินค้าประเภทอาหารดิบ ผลิตภัณฑ์ยา อาหารแปรรูปและยาสูบ เสื้อผ้าและสิ่งทอ ยางพารา และพลาสติก

กลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้ ยังคงเติบโตได้ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการค้าที่ตึงเครียดนี้ ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบของเศรษฐกิจที่มีพื้นฐานจากการเกษตร หรือสินค้าขั้นปฐมเป็นหลัก เช่น ประเทศไทยเราเองที่เป็น ผู้ส่งออกข้าว ยางพารา นํ้าตาลอ้อย และยาสูบ เป็นอันดับต้นๆ ของโลก

หากเราติดตามความเคลื่อนไหวของจีนแล้ว จะเห็นว่าสงครามการค้าผลักดันให้จีนเข้ามาลงทุนในอาเซียน มากขึ้น เพราะด้วยปัจจัยหลัก 3 ประการ ได้แก่ บริษัทจีนต้องการหลีกเลี่ยงกำแพงภาษีที่เรียกกับกับสินค้าที่มาจากจีน โครงการ Belt and Road ทำให้จีนมาลงทุนในภูมิภาคนี้มากขึ้น และโอกาสในการทำธุรกิจอันมหาศาลในภูมิภาคอาเซียนที่กำลังเติบโตเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก ในอีก 10 ปีข้างหน้า

เป็นที่น่าจับตาว่า จีนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด หากดูจากตัวเลข FDI จะเห็นว่าเพิ่มขึ้น 4 เท่าตัวในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2562 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยคิดเป็นมูลค่าการค้าการลงทุน 7.3 พันล้านบาท จาก 1.75 พันล้านบาท

นอกจากเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศสามารถก่อให้เกิดการจ้างงานภายในประเทศแล้ว อัตราการบริโภคภายในประเทศที่สูง จะช่วยลดแรงปะทะจากคลื่นสงครามการค้าได้ จากข้อมูลพบว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนของอัตราการบริโภคในประเทศเมื่อเทียบกับ GDP แล้ว สูงถึง 50.8% หรือติดอันดับ 1 ใน 5 ของภูมิภาคอาเซียน รองจากประเทศฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสูงกว่าสิงคโปร์

ที่สำคัญไปกว่านั้น ความร่วมมือของประชาคมอาเซียน ตามวาระ AEC Blueprint 2025 ที่มีวิสัยทัศน์เรื่องการสร้างประชาคมเศรษฐกิจที่มีความเชื่อมโยงกัน เพื่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มั่นคง ยั่งยืน ช่วยสร้างความมั่นใจและบรรยากาศที่เป็นบวกให้กับการค้าระหว่างประเทศอาเซียนด้วยกัน