วิกฤติบุคลากรไอซีทีไทย ปัญหาเดิมที่ยังแก้ไม่ได้ (ตอน1)

วิกฤติบุคลากรไอซีทีไทย ปัญหาเดิมที่ยังแก้ไม่ได้ (ตอน1)

สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกเรื่องหนึ่งคือ จำนวนนักศึกษาเข้าใหม่ในสาขาไอซีทีมีน้อยลงเรื่อยๆ

ช่วงเดือนที่ผ่านมามีโอกาสประชุมกับผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมไอทีหลายหน่วยงาน สิ่งหนึ่งที่พบ คือ ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถ และอัตราการเปลี่ยนแปลงพนักงานอยู่ในขั้นวิกฤติ

ทำให้หลายบริษัทไม่สามารถจะขยายตัวได้ บางบริษัทมีการอบรมพนักงานที่เข้ามาใหม่ แต่สุดท้ายพนักงานบางคนก็ย้ายออกไปเมื่อเริ่มเป็นงาน แต่ที่น่าแปลกใจคิอ เนื้อหาการอบรมส่วนใหญ่เป็นการเขียนโปรแกรมหรือการทำงานด้านไอทีเบื้องต้นให้กับบัณฑิตใหม่ทั้งๆ ที่จบการศึกษาทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศหรือคอมพิวเตอร์โดยตรง

ปัญหาด้านบุคลากรไอทีที่เป็นวิกฤตินอกจากในอุตสาหกรรมไอทีแล้วยังมีผลทำให้อุตสาหกรรมต่างๆ ที่จำเป็นต้องพัฒนาด้านดิจิทัล เพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน ซึ่งอาจสรุปปัญหาพอสังเขปได้ ดังนี้

บริษัทต่างๆ ไม่สามารถหาบุคลากรไอทีที่มีความสามารถเข้าทำงานได้ จำนวนบุคลากรไอทีที่มีคุณภาพมีจำกัด หน่วยงานต่างๆ ต้องแย่งตัวกัน ทำให้เงินเดือนของบุคลากรบางกลุ่มค่อนข้างสูง เด็กรุ่นใหม่ที่สามารถทำงานด้านนี้ได้มีจำนวนจำกัด มักจะมีทัศนคติที่เปลี่ยนไป เปลี่ยนงานบ่อยและขาดความอดทน

ค่านิยมของคนรุ่นใหม่นิยมที่จะประกอบอาชีพอิสระ และบางส่วนอยากจะเป็นสตาร์ทอัพ บริษัทด้านไอทีขนาดใหญ่มีจำนวนน้อยมาก เพราะเป็นเรื่องยากที่จะหาบุคลากรจำนวนมากมาทำงาน ดังนั้นความเป็นไปได้ในการขยายหรือสร้างบริษัทขนาดใหญ่ที่มีพนักงานด้านไอทีจำนวนเป็นหลายพันคนในประเทศ ย่อมเป็นไปได้ยากมาก หรือแทบเป็นไปไม่ได้เลย

นักศึกษารุ่นใหม่ไม่นิยมเรียนด้าน Computer Science หรือ Computer Engineer เพราะเป็นสาขาที่ยาก บัณฑิตด้านไอทีจำนวนมาก ไม่สามารถหางานตรงกับสาขาที่เรียนมาเนื่องจากจบมาไม่ตรงความต้องการ มหาวิทยาลัยจำนวนมากเปิดสอนสาขาไอทีตามสมัยนิยม แต่ขาดคุณภาพเน้นที่ปริมาณ โดยปรับลดวิชาที่ยากและจำเป็นต่อการเรียนออกไป

ความก้าวหน้าด้านวิชาชีพของคนไอทีสำหรับงานในประเทศยังไม่ดีพอ คนที่ทำงานทางเทคนิคจึงเปลี่ยนงานค่อนข้างเร็วเพื่อไปทำด้านอื่น เราจึงไม่ค่อยเห็นบุคลากรทางด้านนี้ที่มีความชำนาญจากการทำทางด้านเทคนิคมาอย่างต่อเนื่องมากนัก

ผมมีโอกาสได้ทำวิจัยศึกษาข้อมูล แนวโน้มการผลิตบัณฑิตและความต้องการบุคลากรด้านไอทีของผู้ประกอบการมาต่อเนื่องจึงได้พบว่า บัณฑิตด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศส่วนใหญ่จะมาจากสาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ และเทคโนโลยีสารสนเทศ ขณะที่บัณฑิตด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่สามารถจะพัฒนาซอฟต์แวร์และเข้าสู่อุตสาหกรรมไอทีได้มีจำนวนน้อยกว่ามาก

และที่น่าสนใจคือ หากพิจารณาดูจากเนื้อหาหลักสูตรแล้วคงมีเพียงมหาวิทยาลัยชั้นนำเพียงไม่กี่แห่งที่มีหลักสูตรที่สามารถพัฒนาซอฟต์แวร์หรือทำงานในอุตสาหกรรมได้โดยตรง ทำให้ทุกปีมีบุคลากรใหม่ที่มีความสามารถเข้าสู่อุตสาหกรรมเพิ่มเพียงไม่กี่พันคน ขณะเดียวกันก็มีบุคลากรเดิมจำนวนมากที่ออกจากอุตสาหกรรม ทำให้ตัวเลขจำนวนบุคลากรแทบไม่เพิ่มขึ้นมากนักในระยะเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมา

สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกเรื่องหนึ่งคือ จำนวนนักศึกษาเข้าใหม่ในสาขาไอซีทีมีน้อยลงเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งก็เพราะการเกิดของประชากรน้อยลง แต่ขณะเดียวกันค่านิยมของเด็กรุ่นใหม่ก็สนใจงานทางนี้น้อยลงเพราะรู้ว่าเป็นเรื่องยากและได้รายได้ไม่สูงมากในระยะแรกเมื่อเทียบกับบางอาชีพ ข้อสำคัญเด็กไทยมักจะอ่อนด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการเรียนด้านไอซีที

ปัญหาทั้งหมดคือเรื่องเดิมๆ เราเห็นปัญหานี้มาสิบกว่าปีแล้ว และรัฐบาลเองก็พยายามออกโครงการและมาตรการในการพัฒนากำลังคนออกมาหลายๆโครงการ แต่สุดท้ายปัญหาก็ยังคงอยู่ แถมซ้ำร้ายอาจจะดูหนักกว่าเดิมด้วยซ้ำ เนื่องด้วยทุกรัฐบาลมีมาตรการเร่งรัดระยะสั้นใหม่ๆ ออกมา ทั้งๆ ที่การพัฒนาบุคลากรเป็นเรื่องที่ต้องวางรากฐานที่ดี ซึ่งหากเราต้องการสร้างบุคลากรทางด้านนี้ต้องวางแผนในระยะยาว ส่งเสริมการเรียนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การเขียนโปรแกรม ตั้งแต่เด็ก ต้องใช้เวลา 10-15 ปีเป็นอย่างน้อยในการสร้างคนรุ่นใหม่ออกมา จงอย่าหวังอะไรที่เป็นการเร่งรัดเราจึงจะแข่งขันกับต่างประเทศได้ในอนาคตข้างหน้า