DW อีกหนึ่งช่องทางลงทุนหุ้นโลก

DW อีกหนึ่งช่องทางลงทุนหุ้นโลก

ในปัจจุบัน การลงทุนในต่างประเทศเริ่มเป็นที่สนใจของผู้ลงทุนมากขึ้น ด้วยต้องการที่จะกระจายความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนของการลงทุน

แท้จริงแล้วผู้ลงทุนทั่วไปของไทยลงทุนในต่างประเทศมานานพอควรแล้ว แต่ความนิยมนั้นไม่ได้เป็นรูปแบบของการนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศด้วยตนเองแต่ผ่านการลงทุนด้วยกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) หรือ กองทุน ETF (Exchange Traded Fund) และ DR (Depository Receipt) ที่อ้างอิงกับดัชนีหุ้นต่างประเทศ ซึ่งผู้ลงทุนสามารถซื้อขายผ่านตัวแทนขายกองทุนหรือโบรกเกอร์ในตลาดหุ้นได้ ล่าสุด มีอีกช่องทางใหม่ที่เปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนสามารถลงทุนในสินค้าที่อ้างอิงกับดัชนีหุ้นต่างประเทศได้ นั่นก็คือ DW (Derivatives Warrant) ที่อ้างอิงกับดัชนีหุ้นต่างประเทศ

DW หรือ ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ คือ สิทธิในการจะซื้อหรือขายหุ้นอ้างอิง/ดัชนีอ้างอิง ที่ออกโดยบริษัทหลักทรัพย์ โดยผู้ลงทุนสามารถซื้อขาย DW ทำกำไรได้ทั้งเมื่อหุ้นขึ้น (ด้วยการซื้อ Call DW) หรือหุ้นลง (ด้วยการซื้อ Put DW) และเนื่องจาก DW เป็นอนุพันธ์ประเภทหนึ่ง จึงมีอัตราทด (Leverage) และใช้เงินทุนน้อยกว่าการซื้อหุ้นนั้นโดยตรง ดังจะเห็นได้จาก ราคาหุ้น PTT อยู่ที่ประมาณ 45 บาท ในขณะที่ราคา DW ที่อ้างอิงกับหุ้น PTT อยู่ที่ประมาณ 1 บาท  ดังนั้น ผู้ลงทุนจึงมีโอกาสได้รับอัตราผลตอบแทนสูงแต่ก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน ทั้งนี้ ในการซื้อขาย DW จะมีผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) ซึ่งโดยปกติก็คือผู้ออก DW ที่ทำหน้าที่เสนอซื้อขายให้เป็นไปตามการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นอ้างอิง ทั้งนี้ การปฏิบัติงานของผู้ดูแลสภาพคล่องจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดในข้อกำหนดสิทธิ ทั้งในแง่ของ Spread และเวลาที่ทำหน้าที่ โดยการทำหน้าที่ของผู้ดูแลสภาพคล่องนั้น ถือเป็นปัจจัยหนึ่งในการพิจารณาคุณภาพของ DW

DW นั้นสามารถอ้างอิงอยู่กับหุ้นรายตัว และดัชนีหุ้น ซึ่งที่ผ่านมามักอ้างอิงกับดัชนี SET50 โดยในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ได้เริ่มมีการซื้อขาย DW ที่อ้างอิงอยู่กับดัชนีหุ้นฮ่องกง ที่เรียกว่า HSI (Hang Seng Index)  ซึ่งเป็นดัชนีอ้างอิงผลตอบแทนของ 50 หุ้นบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่และมีสภาพคล่องมากที่สุดในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง  โดย DW ที่อ้างอิงดัชนีหุ้นต่างประเทศนี้ มีทั้งประเภท Call และ Put และผู้ลงทุนสามารถซื้อขาย DW ที่อ้างอิงกับดัชนีหุ้นต่างประเทศนี้เป็นเงินบาทเหมือนการซื้อขาย DW ที่อ้างอิงหุ้นหรือดัชนี SET50 ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่แตกต่างและควรทราบก่อนการซื้อขาย อย่างแรก ราคา DW ที่อ้างอิงกับต่างประเทศที่เสนอซื้อขายกันนั้นเป็นเงินบาท แต่ราคานั้นเป็นราคาที่สะท้อนจากผลของการเคลื่อนไหวของดัชนีอ้างอิงและอัตราแลกเปลี่ยนเอาไว้ ประเด็นต่อมา ในการคิดกำไรขาดทุนของ DW ที่อ้างอิงกับดัชนีเมื่อหมดอายุ จากเดิมจะใช้ตัวคูณดัชนีที่เอาไว้แปลงกำไรที่มีหน่วยเป็นค่าดัชนีมาเป็นเงินกำไร ก็จะใช้ตัวคูณดัชนีต่างประเทศแปลงเป็นกำไรที่มีหน่วยเป็นสกุลต่างประเทศ จากนั้นจึงค่อยปรับด้วยอัตราแลกเปลี่ยนให้เป็น บาท   

นอกจากนี้ ผู้ลงทุนควรคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างเวลาซื้อขายของหุ้นในต่างประเทศกับตลาดไทย และรับทราบว่าการปฏิบัติหน้าที่ดูแลสภาพคล่องของผู้ออกก็จะมีข้อจำกัดมากขึ้น โดยช่วงเวลาที่ผู้ดูแลสภาพคล่องจะทำหน้าที่นั้นจะจำกัดเฉพาะช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นต่างประเทศเปิดซื้อขายตรงกันเท่านั้น ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะถูกระบุไว้ในข้อกำหนดสิทธิ ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติ ในช่วงเวลาที่ตลาดต่างประเทศหยุดทำการ ผู้ดูแลสภาพคล่องบางรายอาจจะมีการเสนอซื้อขายเพื่อให้มีราคาในกระดาน แต่อาจเป็นไปได้ว่าช่วงห่างของราคาอาจแตกต่างไปจากปกติอยู่บ้าง ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้ลงทุนควรศึกษาและสอบถามจากโบรกเกอร์ก่อนเริ่มซื้อขาย และสุดท้าย เช่นเดียวกันกับการลงทุนอื่นๆ ก่อนเริ่มซื้อขาย DW ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจดัชนีต่างประเทศ ปัจจัยพื้นฐานที่มีผลต่อดัชนี โดยผู้ลงทุนสามารถติดตามข้อมูลดัชนีต่างประเทศได้จากเว็บไซต์ของผู้ออก DW

โดยรวม DW ที่อ้างอิงกับดัชนีหุ้นต่างประเทศน่าจะเป็นสินค้าใหม่สำหรับผู้ที่ซื้อขาย DW หรืออนุพันธ์อยู่แล้ว แต่หากเป็นมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มซื้อขาย DW อาจเริ่มจากศึกษาและซื้อขาย DW ที่อ้างอิงกับหุ้นหรือดัชนีหุ้นในประเทศก่อน ซึ่งผู้ลงทุนสามารถศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะและความเสี่ยงของ DW และข้อมูลอื่นๆ ได้จากเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ  (www.set.or.th/dw)