ลงทุนอย่างไร?...ในยุคดอกเบี้ยต่ำ

ลงทุนอย่างไร?...ในยุคดอกเบี้ยต่ำ

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่านทุกท่าน ประเด็นเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้าหลักต่างๆ โดยเฉพาะกับจีน

ได้ส่งผลต่อการลงทุนทั่วโลกมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยเริ่มตั้งแต่ปลายไตรมาส 1/2018 จนถึงปัจจุบัน และความกังวลประเด็นดังกล่าวได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น เห็นได้จากการปรับขึ้นภาษีนำเข้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ในอัตราภาษีและมูลค่าที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกให้มีแนวโน้มชะลอลง เห็นได้จากการที่หน่วยงานต่างๆ ได้แก่ IMF และ World Bank ต่างปรับประมาณการ GDP ของโลกในปีนี้และปีหน้าลดลง มูลค่าการค้าโลกขยายตัวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในรอบเกือบ 40 ปี และ เครื่องชี้การลงทุนต่างๆ เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว เช่น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI) ของหลายประเทศต่างปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ธนาคารกลางหลักๆ ของโลก เช่น ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีแนวโน้มดำเนินนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) โดยล่าสุดความน่าจะเป็นในการเกิด Recession ปรับเพิ่มขึ้น อยู่ที่ 31%

ผลกระทบจากประเด็นสงครามการค้า ทำให้นักลงทุนมีความกังวลต่อประเด็นเศรษฐกิจถดถอยมากขึ้น จึงมีความต้องการถือครองพันธบัตรระยะยาวเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว อยู่ต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น (Inverted Yield Curve) ในหลายๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐฯ เยอรมัน และอังกฤษ เป็นต้น สอดคล้องกับจำนวนประเทศที่มีอัตราผลตอบแทนติดลบ (Bond Yield Negative) เพิ่มมากขึ้น และมูลค่าพันธบัตรรัฐบาลทั่วโลกที่มีอัตราผลตอบแทนติดลบ (Global Negative Government Yield) เพิ่มสูงขึ้น อยู่ที่ 17 ล้านล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ ขณะที่ การลงทุนในตลาดหุ้น ก็ได้รับผลกระทบจากประเด็นสงครามการค้าเช่นเดียวกัน แม้ว่าในปีนี้ ตลาดหุ้นทั่วโลกจะปรับเพิ่มขึ้นจากปีก่อน แต่ก็เคลื่อนไหวผันผวนอย่างมาก ตามพัฒนาการของสงครามการค้าที่มีทั้งบวกและลบ 

 การลงทุนในช่วงที่เศรษฐกิจโลกขยายตัวชะลอลง อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ และความผันผวนจากประเด็นสงครามการค้าที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก ดังนั้น การลงทุนในหุ้นจึงควรเลือกหุ้นกลุ่ม Defensive ที่มีความผันผวนต่ำกว่าความผันผวนของตลาด หุ้นกลุ่มที่มีปัจจัยพื้นฐานดี และ มีการจ่ายเงินปันผล (Dividend) อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ไม่มาก ควรเลือกลงทุนในตราสารหนี้ ซึ่งมีความผันผวนต่ำกว่าการลงทุนในหุ้น โดยหลายท่านอาจมีคำถามว่า การลงทุนในตราสารหนี้ยังมีความน่าสนใจอยู่หรือไม่? ดิฉันมีมุมมองว่า แนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลาย ผ่านการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางหลักๆ ทั่วโลก น่าจะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำต่อไปในระยะข้างหน้า ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล แต่อย่างไรก็ตาม การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลมีความน่าสนใจน้อยกว่าการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชน เนื่องจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทั่วโลกปรับลดลงมามากแล้ว ขณะที่โอกาสที่จะเกิด Recession ในปีนี้ค่อนข้างต่ำ

ดังนั้น การลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนจึงมีความน่าสนใจ เนื่องจากนักลงทุนยังสามารถได้รับผลตอบแทนจากส่วนชดเชยความเสี่ยง (Credit Spread) เพิ่มเติมจากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ทั้งนี้ การลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชน มีความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ (Default Risk) และ Credit Spread ที่มักปรับเพิ่มขึ้น เมื่อสงครามการค้าทวีความรุนแรงขึ้น บ่งชี้จาก ในช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ ประธานาธิบดี ทรัมป์ประกาศเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีน วงเงิน 3 แสนล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ ได้ส่งผลให้ Credit Spread ของบริษัทที่มีอันดับความน่าเชื่อถือที่ลงทุนได้ (Investment Grade: IG) และ บริษัทที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าระดับที่ลงทุนได้ (High Yield: HY) ของสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (EM) ปรับเพิ่มขึ้น โดย Credit Spread ของ HY มีการปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าของ IG

 ดังนั้น ในยามที่เศรษฐกิจยังมีแนวโน้มชะลอตัว อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ และมีความเสี่ยงจากสงครามทางการค้า นักลงทุนจึงควรลงทุนในหุ้นกลุ่ม Defensive ที่มีความผันผวนต่ำกว่าความผันผวนของตลาด หุ้นกลุ่มที่มีปัจจัยพื้นฐานดี และ มีการจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ สำหรับตราสารหนี้ ควรลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชน แบบ Selective โดยเลือกลงทุนในตราสารหนี้ของบริษัทที่มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับ Investment Grade และหลีกเลี่ยงการลงทุนในตราสารหนี้ของบริษัทที่มีสถานะการเงินอ่อนแอ หรือตราสารหนี้ประเภท High Yield ที่มีความเสี่ยงจากโอกาสผิดนัดชำระหนี้ (Default Risk) สูงขึ้น