พลังจิตอาสา พลังความดี พลังขับเคลื่อนสังคมไทย

พลังจิตอาสา พลังความดี พลังขับเคลื่อนสังคมไทย

ในระยะหลังเราจะเห็นจิตอาสาเป็นพลังในงานพิธีสำคัญต่างๆ จำนวนมาก สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน

แต่เป็นการสั่งสมพลังความดีที่มีมาเนิ่นนาน และจะขยายข้ามพรมแดนต่อไป

หากย้อนความ พลังของจิตอาสาเริ่มมีมาตั้งแต่ยังเป็นองค์กรสาธารณะประโยชน์ ตั้งแต่ก่อนปี 2500 พลังแห่งความร่วมใจจะไปอยู่ที่วัดและการรวมตัวทางศาสนาต่างๆ องค์กรมนุษยธรรมอย่างเช่น สภาอุณาโลมแดง ที่ปัจจุบันคือ สภากาชาด รวมทั้งกลุ่มที่ช่วยเหลือกันภายใน เช่น สมาคมตระกูลแซ่ต่างๆ เป็นต้น

เมื่อกาลเวลาหมุนเปลี่ยน พลังจิตอาสารูปแบบอื่นก็เริ่มได้งอกเงยขึ้น ปี 2502 เกิดค่ายอาสาสมัคร ที่จุฬาฯ จนถึงปี 2509 นั้น การทำค่ายเน้นที่การพัฒนาตนเอง แต่เมื่อครั้นเข้าสู่ช่วงปี 2510 เป็นต้นไป ก็เกิดความจำเป็นที่ต้องเร่งพัฒนาชนบท กอปรกับพลังนักศึกษาเริ่มเข้มแข็งขึ้น ค่ายอาสาจึงมีมากขึ้นและเน้นไปที่การสร้างถาวรวัตถุ ช่วงเดียวกันนั้นเอง ปี 2510 อาจารย์ป๋วย ก็ได้ตั้งมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ขึ้นมา ต่อมา ปี 2512 ก็ได้ริเริ่มโครงการบัณฑิตอาสาสมัคร ให้อาสาสมัครได้เรียนรู้ชีวิตจากการทำงานในชนบทที่ห่างไกล อย่างไรก็ดี ต่อมาในช่วงปี 2516-19 พลังนักศึกษาที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมก็เข้มข้นยิ่ง จนเกิดกระแสต้านในด้านกลับอันนำไปสู่เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ที่ทำให้เกิดการระงับค่ายอาสาต่อมา พร้อมกับพลังนักศึกษาที่เหือดหายลง

อาสาที่ขึ้นชื่อในยุคนั้นคือ โกมล คีมทอง ผู้บ่มเพาะจากค่ายอาสาพัฒนาชนบท และต่อมาก็ถูกยิงตายในขณะอุทิศตนสอนหนังสือในท้องที่ทุรกันดาร และยุคนั้นเองก็เป็นยุคที่ผู้นำอาสาทำความดีในปัจจุบันอย่าง ครูแดง เตือนใจ ดีเทศน์ และพระไพศาล วิสาโล เริ่มกิจกรรมอาสาสมัครและกิจกรรมเพื่อสังคม

ถัดมา ปี 2523 เมื่อการเมืองเริ่มผ่อนคลายขึ้น ก็เป็นยุคแห่งองค์กรพัฒนาเอกชน นับเป็นจุดเริ่มของงานภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง โครงการอาสาสมัครเพื่อสังคม (คอส.) ก็เกิดขึ้นในช่วงนี้ ที่ต้อมาได้จดทะเบียนเป็น มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ที่ยังคงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอาสาสมัครรุ่นใหม่ที่ทำงานในประเด็นที่ลึกซึ้งและข้ามพรมแดนในปัจจุบัน นอกจากนี้ งานอื่นของภาคประชาสังคมก็คือการรับมือกับผลกระทบจากการเร่งรัดพัฒนาสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ และการสร้างฐานของประชาธิปไตย

ครั้นมาถึงช่วงปี 2540 เป็นต้นไป จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง คนที่เติบโตในยุคนี้หลายคนหันหาคุณค่าที่มากกว่าแค่ตัวเงิน เกิดแนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ (CSR) ขึ้นมาที่ทำให้เกิดอาสาสมัครในองค์กรธุรกิจ กรณีธรรมกายก็ทำให้ชาวพุทธหลายคนตั้งคำถามต่อเรื่องการทำบุญและนำมาสู่การจัดตั้งเครือข่ายพุทธิกา ที่เริ่มต้นจากเรื่องฉลาดทำบุญด้วยจิตอาสาและนำศาสนาเชื่อมโยงกับการพัฒนาสังคม ล่วงถึงปี 2546 แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ ภายใต้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก็ได้ริเริ่มคำว่า “จิตอาสา ขึ้นมาเป็นครั้งแรก เพื่อปรับโฉม หรือ re-brand งานอาสาสมัครให้ทันสมัยขึ้น (ไม่ใช่แค่ภาพค่ายแบบแต่ก่อน) และเน้นย้ำว่าการทำงานอาสาย่อมพาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ระดับจิตใจ

จากนั้นไม่นาน เมื่อปี 2547 เกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิ นี่เองเป็นคราที่พลังจิตอาสาเป็นส่วนสำคัญในการกอบกู้วิกฤต จิตอาสาเป็นส่วนสำคัญในการระดมทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นคน เงิน และสิ่งของ ตลอดจนเป็นที่ตระหนักว่าจิตอาสาต้องมีการจัดการที่ดี และสามารถพัฒนาให้เป็นระดับมืออาชีพได้ ขีดความสามารถเหล่านี้ถูกทดสอบอีกครั้งเมื่อคราวเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี2554 และแสดงให้เห็นว่ายังเป็นพลังที่สำคัญของสังคมไทยอยู่

มาจนถึงปัจจุบัน จิตอาสาก้าวสู่ยุคใหม่ เราเห็นงานหลายงานที่ใช้สื่อสังคมระดมทุน แล้วประสบความสำเร็จ เช่น กรณีของครูต้นกล้วย ที่อาศัยการระดมทุนออนไลน์เพื่อช่วยวงอิมมานูเอลออเคสตรา วงดนตรีคลาสสิกเยาวชนที่เขาจัดตั้งขึ้นในชุมชนแออัดคลองเตย เราเห็นการเกิดขึ้นของกระแสการเที่ยวไปถึงไหนก็ไปทำอาสาถึงนั่น (voluntourism) รวมถึงการอาสาเก็บขยะในที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ เหล่านี้เป็นจิตอาสาแบบใหม่ ที่เชื่อมตัวงานอาสาเข้ากับไลฟ์สไตล์ใหม่ที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ดี งานอาสาแบบที่มีมาเนิ่นนานแล้วก็ยังดำรงอยู่ เรามี มอส. ยังคงผลิตอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชนอย่างเข้มแข็ง มีโครงการอาสาสมัครข้ามพรมแดนในอาเซียน งานของเครือข่ายจิตอาสาได้ถูกยกระดับไปเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ในส่วนที่มาจากภาคศาสนา ก็มีบุคคลตัวอย่างอย่างพระมหาพงศ์นรินทร์ และพระวินย์ฯ ที่นำแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเชื่อมโยงกับปัญหาสังคมสิ่งแวดล้อมและการทำความดีของเยาวชน มีกลุ่มไทยซิกข์ที่ออกจากพื้นที่ปลอดภัยของตนเอง ออกมาเกื้อกูลสังคมคนชายขอบในวงกว้าง

หากโดยภาพรวมทั้งหมด จะเห็นได้ว่า มี 3 ประการด้วยที่เพาะบ่มจิตอาสา 1.บทบาทที่ต้องหนุนเสริมกันของหลายภาคส่วน ภาครัฐ ภาคประชาสังคม องค์กรศาสนา สถาบันการศึกษา ให้จิตอาสามีเนื้อดินที่เหมาะสม 2.การเรียนรู้จากปัญหาจริง และการส่งต่อแรงบันดาลใจจากรุ่นสู่รุ่น 3.การจัดการขบวนจิตอาสาและการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้าใช้

เหล่านี้สนับสนุนการพัฒนาจิตอาสา ซึ่งสามารถต่อยอดไปได้ก็อย่างน้อยใน 3 ทิศทาง  1.จิตอาสาที่ไร้พรมแดน ไม่ว่าจะเราจะออกไปอาสาข้างนอก ร่วมเรียนรู้กับเขา หรือให้คนจากภายนอกเข้ามาอาสากับเรา และนี่เป็นสิ่งสำคัญในการสร้างประชาคมอาเซียน 2.พลังของจิตอาสาต่อการรับมือภัยพิบัติ ที่ต้องต่อยอดต่อไป และ 3.ให้เป็นพลังแห่งการร่วมทุกข์ร่วมสุข ไปแก้ปัญหาด้วยวิธีการและความเชี่ยวชาญใหม่ ๆ หรืออาจแตกยอดไปเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม

เช่นนี้ จิตอาสาจึงจะไม่ใช่คำที่คุ้นหูเท่านั้น แต่เป็นกระบวนการที่วิวัฒน์ในสังคมไทยเนิ่นนาน และจะอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป

โดย... 

ปกรณ์ เลิศเสถียรชัย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ

นรชิต จิรสัทธรรม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น