นับถอยหลัง 500 วันสู่สังคมสูงอายุระดับสมบูรณ์

นับถอยหลัง 500 วันสู่สังคมสูงอายุระดับสมบูรณ์

จากข้อมูลของสภาพัฒน์ฯ พบว่าตั้งแต่ปี 2548 ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (aging society)

 และ คาดว่า ปี 2564 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคม สูงอายุระดับสมบูรณ์ (aged society) โดยมีคนอายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นสัดส่วนเท่ากับหรือมากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด (หรืออีกไม่เกิน 500 วันเท่านั้นเอง) และอีก 10 ปีจากนั้น หรือ ปี 2574 จะก้าวเข้าสู่ สังคมสูงอายุระดับสุดยอด (super-aged society) มีคนอายุ 60 ปี เป็นสัดส่วนเท่ากับหรือมากกว่า 28% ของประชากรทั้งประเทศ อ่านมาถึงตรงนี้ หลายท่านอาจจะเริ่มคิดอยากเริ่มวางแผนชีวิตของตัวเองกันแบบจริงจัง  วันนี้ผมมีผู้เชี่ยวชาญในด้านการวางแผนการเงินของบริษัท Wealth Creation International Co., Ltd. คุณปิติพงษ์ รุ่งเรืองวุฒิกุล CFP® จะมาบอกรายละเอียดและวิธีเตรียมตัวให้ทุกท่านได้ลองอ่านดูครับ

“ขณะที่นั่งเขียนบทความนี้ ผมพึ่งจะพาคุณแม่กลับมาจากการเข้าพบแพทย์ ที่โรงพยาบาล รัฐแห่งหนึ่งแถวสีลมด้วย ด้วยความที่เป็นการพบแพทย์นอกนัดหมาย ทำให้ผมต้อง ไปถึงโรงพยาบาลตั้งแต่เช้าเพื่อรับคิวให้คุณแม่ กว่าคุณแม่ผมจะได้รับการตรวจ ไปจนถึงการรับยา ก็เป็นเวลา 15:00 น. เท่ากับว่า วันนี้ผมและคุณแม่ใช้เวลาในโรงพยาบาลมากกว่า 9 ชั่วโมง นี่ขนาดว่า โรงพยาบาลนี้ถือว่าเป็นโรงพยาบาลอันดับต้นๆของประเทศไทยเลยนะครับ เพราะ มีการนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามารันคิว เชื่อมโยงข้อมูลแต่ละหน่วย มีหุ่นยนต์ในการบริหารการเจาะเลือด ทุกอย่าง ราบรื่นมากๆ แต่ปัญหาที่ทำให้ ต้องใช้เวลาการรักษานานนั้น เป็นเพราะ จำนวนผู้ป่วยจำนวนมากนั่นเอง ถึงแม้โรงพยาบาลนี้จะไม่รับผู้ป่วยประกันสังคมและ ประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพิ่มแล้วก็ตาม แต่จำนวนของผู้ป่วยนั้นก็ยังเยอะอยู่มาก

ผมไม่อยากจะคิดเลยว่า นี่ขนาดว่าประเทศเราพึ่งจะแหย่ขาเข้ามาในสังคมผู้สูงวัย เพียงแค่นิดเดียว ยังขนาดนี้ แล้วถ้าหากเราเข้ามาสู่สังคมผู้สูงวัยแบบเต็มตัว จะเป็นอย่างไร โรงพยาบาลตามต่างจังหวัดจะแออัด ขนาดไหน และถ้าเกิดเราลองคิดในแง่ร้ายว่า ถ้าประชากรวัยเกษียณส่วนใหญ่เป็นคนมีรายได้น้อยด้วยแล้วนั้น นอกจากสวัสดิการค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลแล้วนั้น รัฐยังจะต้องเตรียมสวัสดิการเพื่อดูแลผู้ยากจนอีกจำนวนมากอีกด้วย แล้วรัฐจะดูแลไหวหรือไม่

โดยข้อมูลการสำรวจ ประชากรสูงอายุในประเทศไทย ปี 2557  ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า มีผู้สูงวัยเพียงร้อยละ 4 เท่านั้นที่มีรายได้หลักในการดำรงชีพจาก เงินออม/ดอกเบี้ย และ มีผู้สูงอายุมากถึง 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุ ทั้งหมด ที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน สัดส่วน 34.30%  (เส้นความยากจน ปี 2557 เท่ากับ 2,647 บาทต่อคนต่อเดือน) นั่นหมายความว่า รัฐมีภาระที่จะต้องดูแลผู้สูงอายุไม่น้อยกว่า 30 ของผู้สูงอายุทั้งหมด และจำนวนนี้ก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆอีกด้วยในแต่ละปี

ถ้าเทียบกับประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแล้วอย่าง ญี่ปุ่น แคนาดา หรือ ประเทศทางแถบ สแกนดิเนเวีย ที่เข้าสู่สังคมผู้สร้างวัยเรียบร้อยแล้วนั้น ถือว่าค่อนข้างต่างกับประเทศไทยอย่างมาก เพราะว่าประเทศเหล่านี้ล้วนเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว เป็นประเทศที่ประชาชน รวยก่อนแก่ ส่วนประเทศไทยนั้นกลับกัน เป็นประเทศที่กำลังพัฒนา แต่กลับเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ทำให้ผู้สูงวัยส่วนมากนั้นแก่ก่อนรวย

อ่านมาถึงตรงนี้หลายท่านคงมีความคิดที่ว่า ถ้าไม่อยากแก่ก่อนรวย ละจะต้องทำอย่างไร? กระดุมเม็ดแรกก็คือการที่จะต้องเตรียมเงินให้ อย่างน้อยอยู่ในระดับที่ไม่เราจะไม่ลำบากในวันที่จะเกษียณนั่นเอง โดย จากการศึกษาวิเคราะห์ระดับสินทรัพย์การออมขั้นต่ำที่ผู้เกษียณอายุพึงมีสำหรับการประกันคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานของ คณะวิทยาการจัดการ ม.เกษตรศาสตร์ และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2559 พบว่า ระดับเงินออมขั้นต่ำที่ผู้เกษียณพึงมีเฉลี่ยอยู่ที่5.9 – 13.37 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับปัจจัยส่วนบุคคล เช่น เพศ อายุ อาชีพสุขภาพ อายุขัย และค่าครองชีพของแต่ละพื้นที่

กระดุมเม็ดต่อๆมาคือการวางแผนการออม การลงทุน การบริหารจัดการความเสี่ยง เพื่อที่ตัวผู้ลงทุนเองจะสามารถไปถึงเป้าหมายในวันที่จะเกษียณได้อย่างมั่นคง ซึ่งในกระบวนการวางแผนนี้ แต่ละคนล้วนแตกต่างกันทั้งในแง่ของพื้นฐานการใช้ชีวิต ความเสี่ยงที่สามารถรับได้ ภาระต่างๆที่ต้องรับผิดชอบ ทำให้แผนชีวิตของแต่ละคนจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

 แต่ไม่ว่าวันนี้แผนของแต่ละท่านจะเป็นอย่างไร สิ่งแรกที่ผมอยากขออนุญาตแนะนำคือ  วันนี้เราควรเริ่มต้นติดกระดุมเม็ดแรกของการวางแผนการเงินส่วนตัว ยิ่งเริ่มเร็วเท่าไร เป้าหมายชีวิตของเราก็จะยิ่งชัดมากขึ้นเท่านั้นครับ”