อปท.ถูกวิ่งราวเงินสะสมฯ

อปท.ถูกวิ่งราวเงินสะสมฯ

ตามที่อุทกภัยเกิดขึ้นในหลายจังหวัด ซึ่งโดยปกติกรณีเกิดภัยพิบัติอย่างฉุกเฉิน องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น(อปทท.)จะสามารถขออนุมัติจากสภาท้องถิ่น

เพื่อจ่ายขาดเงินสะสมที่ อปท.เก็บไว้ใช้จ่ายเมื่อมีเหตุฉุกเฉิน เพื่อนำไปช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยในเขตพื้นที่ตนเองได้ทันทีนั้น

แต่ปรากฏว่าขณะนี้ อปท.เกือบทุกแห่งในพื้นที่เกิดน้ำท่วมดังกล่าวไม่มีเงินสะสม หรือเงินสะสมไม่เพียงพอที่จะนำมาช่วยเหลือประชาชนที่กำลังประสบกับความเดือดร้อน และแม้จะประสบปัญหาเงินสะสมไม่เพียงพอดังกล่าว แต่ขณะนี้รัฐบาลกลับสั่งการผ่านกระทรวงมหาดไทย โดยใช้หนังสือสั่งการ ที่ มท 0808.2/ว 5164 ลว 29 ส.ค.62 ไปยกเว้นระเบียบกระทรวง เพื่อให้อปท.ทั่วประเทศ เร่งรัดการเบิกจ่ายเงินสะสมของ อปท.เพื่อนำมาใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐบาล

ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้กำหนดแนวทางการใช้จ่ายเงินสะสมดังกล่าวให้สอดคล้องกับแนวทางของรัฐบาล 5 ด้าน ประกอบด้วย 1.ด้านโครงสร้างพื้นฐาน 2.ด้านการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน 3.ด้านเศรษฐกิจและสังคม 4.ด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยว และ 5.ด้านการศึกษา โดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ 89/1 ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินของ อปท. ปี 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

ปลัดกระทรวงมหาดไทยโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีมหาดไทยได้อนุมัติยกเว้นให้ อปท.สามารถนำเงินสะสมไปใช้จ่ายในแนวทางดังกล่าวได้ โดยยกเว้นการกันเงินตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินของ อปท. ปี2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 89 และให้ อปท.พิจารณากันเงินสะสมสำรองจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายด้านบุคคลากร ค่าใช้จ่ายในการบริหารงานและกรณีที่มีสาธารณภัยเกิดขึ้นตามความจำเป็น โดยคำนึงถึงสถานะทางการเงินการคลัง และต้องเสนอโครงการเพื่อใช้จ่ายเงินสะสมต่อสภาท้องถิ่นภายในวันที่ 31 ต.ค.2562 เท่านั้น

กรณีจึงมีปัญหาว่า

1.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 250 บัญญัติให้รัฐบาลจะต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุน อปท. ให้เพียงพอ และต้องให้ อปท.มีอิสระในการบริหาร การเงินและการคลัง ตลอดทั้ง การกำกับดูแล อปท. ต้องทำเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น

ปัญหาที่ประชาชนกำลังเดือดร้อนในขณะนี้ นอกจากเกิดจากรัฐบาลจัดสรรเงินให้แก่ อปท.ไม่เพียงพอแล้ว ยังไปเอาเงินสะสมที่ท้องถิ่นเก็บไว้ช่วยเหลือประชาชนในยามมีภัยพิบัติ มาใช้จ่ายในโครงการของรัฐบาล เป็นการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหรือไม่ และจะแก้ปัญหาดังกล่าวเพื่อให้ท้องถิ่นมีเงินเพียงพอที่จะช่วยเหลือประชาชนได้อย่างไร

  1. หลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินสะสมของท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทยได้ทำเป็นระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินของ อปท. ปี 2547 มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ ลงนาม แต่ในเรื่องการใช้จ่ายเงินสะสม กลับให้ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ทำเป็นหนังสือสั่งการยกเว้นระเบียบเพื่อแจ้งไปยัง อปท. ถือปฏิบัติแทนระเบียบ เพื่อให้นำเงินสะสมที่เป็นเงินของท้องถิ่นมาใช้จ่ายในกรณีภารกิจเร่งด่วนของรัฐบาล หรือของกระทรวงมหาดไทยได้ (รายละเอียดตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ตามหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ มท 0808.2/ว 5164 ลงวันที่ 29 ส.ค.2562)

จึงมีปัญหาว่าโดยฐานะของกระทรวงมหาดไทย ที่เป็นเพียงผู้กำกับดูแล อปท. มีอำนาจตามกฎหมายใดในการออกระเบียบหรือทำหนังสือสั่งการดังกล่าว และเป็นการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตลอดทั้ง กรณี อปท. นำเงินสะสมมาใช้จ่ายตามนโยบายรัฐบาลจนหมด หรือเหลือน้อย หากเกิดภัยพิบัติแก่ประชาชนและไม่มีเงินงบประมาณสำหรับช่วยเหลือ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วในเวลานี้ รัฐบาลจะมีมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาอย่างไร

สิ่งต่างๆที่ยกมาข้างต้นนอกจากจะมีปัญหาด้วยความชอบทางรัฐธรรมนูญแล้วยังมีปัญหาความถูกต้องตามหลักของความเป็นอิสระของ อปท.และหลักการของความสัมพันธ์ระหว่างราชการส่วนกลางกับราชการส่วนท้องถิ่นที่จะต้องมีความสัมพันธ์กันในลักษณะของการ “กำกับดูแล” มิใช่ความสัมพันธ์ในลักษณะของการ “บังคับบัญชาสั่งการ”ในลักษณะเจ้านายลูกน้องเช่นนี้

อนึ่ง เงินสะสมที่แต่ละ อปท.เก็บหอมรอมริบมาอย่างเนิ่นนานเพื่อที่จะนำมาใช้ในกรณีเร่งด่วนและตอบสนองตามความจำเป็นที่จะตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของประชาชนในท้องถิ่น เพราะ “ไม่มีใครรู้ปัญหาท้องถิ่นดีกว่าคนท้องถิ่น”อย่างชัดแจ้งตามหลักการของการปกครองท้องถิ่นที่เป็นสากล

แต่น่าอนาถใจที่รัฐบาลที่กำลังถังแตกได้กระทำการประหนึ่ง “การวิ่งราวทรัพย์”เงินสะสมของ อปท.โดยฉกฉวยเอาอย่างซึ่งหน้าเพื่อไปใช้ในโครงการประชานิยมเช่นนี้

รัฐบาลที่นำโดยหน.คสช.ที่ไม่เคยมีความคิดสนับสนุนการปกครองท้องถิ่นหรือการกระจายอำนาจว่าร้ายแรงแล้ว แต่การ “วิ่งราวเงินสะสมฯ”ขององค์กรปกครองเช่นนี้ยิ่งร้ายแรงกว่า เพราะเป็นการทำลาย อปท.ให้ย่อยยับลง

ผมหวังว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายสภาท้องถิ่นต้องมีความกล้าหาญที่จะยืนหยัดต่อสู้ต่อความไม่ถูกต้องในครั้งนี้โดยการไม่เสนอหรือไม่อนุมัติโครงการในลักษณะนี้หรือแม้กระทั่งการนำคดีไปสู่ศาลปกครอง การถอยก้าวนี้คือการยอมที่จะตกลงไปเหวลึกที่ไม่มีทางที่จะกลับมามีพัฒนาการดังเช่นเดิมได้อีกต่อไปน่ะครับ