Virtual Fitness - ออกกำลังกายในโลกเสมือน??

Virtual Fitness - ออกกำลังกายในโลกเสมือน??

ได้เห็นคำว่า ‘Virtual Fitness’ ครั้งแรกผ่านบทความในหนังสือพิมพ์ Wall Street Journal ก็ต้องรีบเข้าไปอ่าน

เนื่องจากเกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นรูปแบบการออกกำลังกายแบบใหม่ ที่ไม่ต้องออกกำลังกายจริง (หรือที่พอเรียกว่าเป็น Physical Fitness) แต่เป็นการออกกำลังกายบนโลกเสมือนจริง (Virtual) แต่ได้ผลลัพธ์เหมือนกับการออกกำลังกายจริง แต่จริงๆ แล้ว Virtual Fitness ไม่ใช่การออกกำลังกายในฝันหรือในโลกเสมือนจริง แต่เป็นแนวโน้มในการออกกำลังกายรูปแบบหนึ่ง ที่เริ่มเข้ามา Disrupt บรรดาสถานออกกำลังกายทั้งหลาย (Fitness Center) ในสหรัฐ

ถ้าท่านผู้อ่านลองนึกถึงคนทั่วๆ ไปที่ออกกำลังกายนั้นก็จะมีอยู่ 2 ทางเลือกคือ ออกกำลังกายเองที่บ้าน เช่น เปิดทีวีหรือ YouTube แล้วทำตาม กับอีกทางเลือกหนึ่งคือไปออกกำลังกายตามยิมหรือ Fitness ต่างๆ ซึ่งข้อดีประการหนึ่งที่สำคัญของการต้องเสียเงินไปออกกำลังกายตามยิม คือทำให้มีวินัยที่จะต้องไปออกกำลังกายเป็นประจำ ส่วนพวกที่ออกกำลังกายเองที่บ้านนั้น ก็มักจะมีความตั้งใจที่ดี แต่ความต่อเนื่องและสม่ำเสมอในการออกกำลังกายนั้นจะสู้พวกที่ไปออกกำลังกายที่ยิมไม่ได้

สาเหตุสำคัญของการมีวินัยเมื่อไปออกกำลังกายที่ยิมนั้น เนื่องจากการออกกำลังกายที่บ้านจะออกกำลังกายคนเดียว ทำให้เป็นการยากที่จะท้าทายและจูงใจตนเองให้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่การไปออกกำลังกายที่ยิม โดยเฉพาะการเข้าคลาสต่างๆ นั้น จะได้รับการกระตุ้นและจูงใจจากการเข้ากลุ่ม ทำให้มีวินัยในการออกกำลังกายมากขึ้น (นอกเหนือจากการได้รับการจูงใจจากการไปให้คุ้มค่าสมาชิกของยิมที่เสียไปแล้ว)

สำหรับ Virtual Fitness นั้นก็เป็นการออกกำลังกายที่บ้าน แต่แทนที่จะออกกำลังกายอย่างโดดเดี่ยว ก็เป็นการใช้ประโยชน์จากดิจิทัลเทคโนโลยี ในการทำให้สามารถออกกำลังกายร่วมกับคนอื่นๆ โดยที่เราจะมีความรู้สึกเสมือนได้ออกกำลังกายในคลาสร่วมกับคนอื่นจริงๆ เนื่องจากเราก็จะเห็นการออกกำลังกายของคนอื่น รวมทั้งคนอื่นก็จะเห็นการออกกำลังกายของเราเช่นเดียวกัน

ประเด็นสำคัญคือแทนที่จะต้องออกกำลังกายคนเดียวและจะต้องกระตุ้นตัวเองให้ออกกำลังกาย Virtual Fitness นั้นจะใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีในการทำให้เกิดการแข่งขันร่วมกับเพื่อนร่วมคลาส เกิดชุมชนออนไลน์ขึ้นมา และมีระบบคอยแจ้งเตือนให้ออกกำลังกายอยู่เป็นประจำ

ปัจจุบันในสหรัฐ เริ่มมีแนวโน้มที่คนออกกำลังกายเป็นประจำนั้น จะยกเลิกสมาชิกยิมที่ตนเองเป็นอยู่และหันมาเป็นสมาชิกต่อบรรดา Virtual Fitness มากขึ้น ขณะเดียวกันยิมหรือสถานออกกำลังกายหลายแห่งก็เริ่มที่จะออกบริการ Virtual Fitness มากขึ้น

ตัวอย่างเช่น Peloton ซึ่งเป็นผู้บริการจักรยานออกกำลังกายพร้อมจอทัชสกรีน ที่ผู้เล่นสามารถเข้าร่วมคลาสออกกำลังกายแบบ Live และ On-Demand ได้ตลอดเวลา โดยจักรยานออกกำลังกายขายในราคา $2,000 และยังต้องเสียค่าสมาชิกรายเดือนอีก $40 ต่อเดือน ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 500,000 ราย และเพิ่งยื่นขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แล้ว

เจ้าของสถานออกกำลังกายแห่งหนึ่ง ที่คิดค้นวิธีออกกำลังกายชื่อ Refine Method และมีสาขาอยู่ 3 แห่งใน New York ก็ได้พัฒนาอุปกรณ์ชื่อ Mirror ซึ่งเป็นจอ LCD แบบแนวตั้ง โดยในช่วงเวลาปกติก็จะทำหน้าที่เป็นกระจกบานใหญ่ แต่เมื่อเปิดออกมา ก็จะกลายเป็น Virtual Fitness Center ที่มีคลาสการออกกำลังกายต่างๆ ที่มีครูฝึกคอยนำ ที่ทั้ง Live และ On-Demand นอกจากนี้ผู้ที่เข้าร่วมคลาสยังจะเห็นเพื่อนร่วมคลาสผ่านทาง Mirror เช่นเดียวกัน สำหรับการสร้างชุมชนนั้นก็จะติดต่อคนอื่นๆ ผ่านทาง Facebook และ Instagram ซึ่งในปัจจุบันเจ้า Mirror ขายอยู่ที่ราคา $1,500 ค่าสมาชิกอีกเดือนละ $40 โดยตัวเลขล่าสุดบริษัทสามารถขาย Mirror ได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ $1 million ต่อเดือน

ตัวอย่างของ Virtual Fitness ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ดิจิทัลเทคโนโลยีผสมผสานกับไลฟ์สไตล์ของคนที่เปลี่ยนไป (ความนิยมในการออกกำลังกายและความต้องการออกกำลังกายในเวลาและสถานที่ ที่ตนเองสะดวก) จะส่งผลกระทบต่อบรรดายิมหรือสถานออกกำลังกายต่างๆ หลักสำคัญคือการออกกำลังกายยังคงต้องมีอยู่ แต่กระบวนการและสิ่งแวดล้อมในการออกกำลังกายกลับมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา