“สังคมไร้เงินสด”มีจริงหรือ

“สังคมไร้เงินสด”มีจริงหรือ

มนุษย์มักทึกทักบางสิ่งว่าทั้งหมดเป็นความจริง ทั้งๆที่เพียงส่วนเดียวเท่านั้นที่เป็น ความจริง

 บางครั้งก็รู้สึกว่าเป็นความจริงเพราะเพียงเห็นหลักฐานสนับสนุนเล็กน้อยลองมาดูกันในเรื่อง“สังคมไร้เงินสด” (cashless society)ว่ามีความจริงเพียงใด

นิตยสารThe Economistฉบับเมื่อเร็วๆนี้ให้ข้อมูลว่าทั้งโลกเรามีความเป็น“สังคมไร้ เงินสด”มากน้อยเพียงใด เมื่อเห็นตัวเลขแล้วรู้สึกตกใจว่าเราเข้าใจผิดถึงเพียงนี้เชียวหรือ จีนที่เราได้ยินเรื่องการใช้QR codeชำระแทนเงินสดกันมากมายนั้นแท้จริงแล้วเพียง8%ของธุรกรรมทั้งหมดในปี2016ที่ไม่ใช้เงินสด ที่เหลือ98%ของธุรกรรมยังคงเป็นเงินสด สิงคโปร์ยังใช้เงินสด58%ของธุรกรรมทั้งหมด สหรัฐอเมริกา40% ที่ใช้เงินสดน้อยสุดคือนอร์เวย์5%

ถึงแม้จะเป็นสถิติของปี2016 แต่ตัวเลขไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงได้มากนักบางประเทศเช่นจีนอาจเป็น“สังคมไร้เงินสด”มากขึ้นแต่ก็ไม่ลดการใช้เงินสดลงไปจนถึง30-40%แน่นอน ทางโน้มสู่“สังคม ไร้เงินสด”นั้นเป็นความจริงแต่ไม่สูงดังที่เข้าใจกัน

กลุ่มประเทศที่เป็น“สังคมไร้เงินสด”มากที่สุดก็คือสแกนดิเนเวียอันได้แก่นอร์เวย์(15%ของธุรกรรมใช้เงินสด) เดนมาร์ค(22%) สวีเดน(25%) ฟินแลนด์(40%) ส่วนอังกฤษนั้น30% คานาดา(40%) ออสเตรเลีย(42%) ฝรั่งเศส(45%) เยอรมันนี(60%) เกาหลีใต้(50%)

กลุ่มอื่นๆในโลกเช่นยุโรปตะวันออก รัสเซีย ไต้หวัน สเปน อเมริกาใต้ เอเชีย ล้วนใช้เงินสดในระดับ60%ขึ้นไปด้วยกันทั้งนั้น ที่โดดเด่นในการเป็น“สังคมเงินสด”อย่างแท้จริงก็คืออินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ (3ประเทศนี้เกือบ98%) มาเลเซีย(85%) ไทย(ประมาณร้อยละ95) ที่น่าแปลกใจคือญี่ปุ่นใช้เงินสดถึงเกือบ70% อิตาลี(90%) กรีก(95%)

ใน“สังคมไร้เงินสด” ผู้คนใช้การจ่ายเงินหลากหลายรูปแบบ พื้นฐานที่สุดก็คือการรูดเครดิตการ์ด เดบิตการ์ด(ใช้เงินได้ไม่เกินที่ตนเองฝากไว้) ในปัจจุบันที่นิยมก็คือใช้เดบิตการ์ดแตะเพื่อจ่ายเงิน(เหมือนใช้ผ่านประตูจ่ายเงินBTSและMRT)ในกลุ่มสแกนดิเนเวียใช้วิธีนี้มากที่สุด

ปัจจุบันในออสเตรเลียและยุโรปหลายประเทศใช้การสัมผัสเพื่อจ่ายเงินดังกล่าวโดย ใช้แหวน กำไล ตุ้มหู(เท่าที่ทราบยังไม่มีเข็มขัดซึ่งน่าหวาดหวั่นมาก)แทนบัตร(ฝังชิบไว้ในสิ่งเหล่านี้แทนที่จะฝังไว้ในบัตรเดบิต) เมื่อต้องการจ่ายเงินก็เพียงเอาเครื่องประดับเหล่านี้สัมผัสหรือผ่านใกล้ๆจุดที่จ่ายเงิน

อีกวิธีหนึ่งที่นิยมกันคือการใช้บัตรเดบิตเสียบเข้าไปในเครื่องที่วางไว้ณจุดจ่ายเงินและกดรหัสลับของตนเองเพื่อหักเงิน(บัตรเครดิตและเดบิตเสียบเข้าเครื่องและมีสลิปให้ลงนามนั้นเป็นวิธีเก่าแก่ที่ยังใช้กันกว้างขวางแต่กินเวลามากกว่าและสะดวกน้อยกว่า) อย่างไรก็ดีการจ่ายโดยใช้การสัมผัสเป็นที่นิยมกว่าแต่ก็สุ่มเสี่ยงต่อการถูกโกงหรือคนอื่นเอาไปใช้เฉพาะในประเทศที่ประชาชนมีค่านิยมของความซื่อสัตย์สูงจึงจะเป็นที่นิยม

การเป็น“สังคมไร้เงินสด”โดยการโอนเงินผ่านQR code (ใช้มือถืออ่านQR codeของฝ่ายผู้รับโอนและโอนเงินผ่านมือถือ) เป็นที่นิยมโดยเฉพาะในเซี่ยงไฮ้จนแม้แต่ขอทานก็เปิดQR codeบนมือถือไว้ข้างตัวเพื่อให้คนผ่านไปมาบริจาคหากไม่ใช้QR codeก็โอนเงินกันโดยตรงผ่านมือถือโดยใช้เลขบัญชีของธนาคาร กล่าวคือไม่อาศัยข้อมูลจากQR codeแต่ใช้เลขบัญชีโดยตรง

การโอนเงินระหว่างบุคคลนั้นมีวิธีการมากมายในโลกไซเบอร์ บ้างก็โอนถึงกันโดยใช้เบอร์โทรศัพท์ บ้างก็ใช้ทั้งเลขหมายประชาชนและเบอร์โทรศัพท์ฯลฯนอกจากนี้ก็โอนกันในเงินสกุลต่างๆที่ไม่ใช่สกุลจริงของประเทศต่างๆดังที่เรียกว่าcrypto currency (crypto =เกือบจะ)

ดีกรีของการเป็น“สังคมไร้เงินสด”นั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยเช่นความสามารถในการปรับตัวของประชาชนเข้ากับเทคโนโลยีใหม่ การเข้าถึงอินเตอร์เน็ต การเป็น“เศรษฐกิจใต้ดิน” (ไม่ต้องการให้มีหลักฐานการรับจ่ายเงินจึงนิยมเงินสดดังเช่นกรีกและอิตาลี) กฎหมายที่กีดกันการใช้บัตรเครดิต(ญี่ปุ่นคุ้มกันต่างชาติจนมีการใช้น้อยกว่าที่ควร) การไม่ไว้วางใจธนบัตร(เกรงว่าจะเป็นธนบัตรปลอม) รสนิยมการซื้อขายออนไลน์ โครงสร้างอินเตอร์เน็ต การสนับสนุนของภาครัฐ วัฒนธรรมประเพณีความเชื่อ ความเป็นสมัยใหม่ของการค้าการเลียนแบบเศรษฐกิจอื่นฯลฯ

นิตยสารThe Economistแสดงกราฟให้ดูว่ายิ่งมีอัตราการใช้อินเตอร์เน็ตสูงและยิ่งมีรายได้ต่อหัวสูงก็มีทางโน้มสูงที่จะเป็น“สังคมไร้เงินสด” (กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียมีอัตราการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตกว่าร้อยละ90 และมีรายได้ต่อหัวสูงถึง75,000-100,000เหรียญต่อปี) ยกเว้นประเทศที่มีเงื่อนไขพิเศษ เช่น กรีก อิตาลี ญี่ปุ่นฯลฯ

เกาหลีใต้มุ่งมั่นที่จะเป็น“สังคมไร้เงินสด”อย่างสมบูรณ์ก่อนปี2020 (ยังดูห่างไกลความจริง) การใช้เงินสดลดลงเป็นลำดับ ในปี2006เฉลี่ยมี500จำนวนธุรกรรมปลีกที่ใช้เงินสด ต่อคน ลดลงเหลือ380ในปี2017 ส่วนสวีเดนและเดนมาร์คนั้นเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก คือลดจากประมาณ370เหลือ125ในปี2017

การเป็น“สังคมไร้เงินสด”นั้นช่วยสนับสนุนการค้าขายและบริการทั้งปกติและออนไลน์เป็นอย่างมากเนื่องจากลดต้นทุนในการจัดเก็บตรวจสอบรักษาเงินสด สร้างความสะดวกให้แก่ผู้บริโภค ลดค่าโสหุ้ยในการผลิตและการจัดการธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ภาครัฐมีฐานภาษีเพิ่มขึ้นเนื่องจากการซื้อขายผ่านระบบการบันทึกมากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นหลักฐานในการตรวจจับการทุจริตคอรัปชั่นปราบปรามอาชญากรรม ยาเสพติด ฯลฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีหลักฐานจากงานวิจัยว่าการใช้เงินสดก่อให้เกิดโสหุ้ยต่อสังคมรวมทั้งหมดประมาณ0.5%ของGDPต่อปี

ถึงแม้ในระดับโลกผู้คนยังคงใช้เงินสดกันมากถึง89%ของจำนวนธุรกรรมในปี2013แต่ลดลงเป็นลำดับจนถึง77%ในปัจจุบัน การลดลงของการใช้เงินสดในแต่ละประเทศมิได้ขึ้นอยู่กับอัตราการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตแต่เพียงอย่างเดียว หากขึ้นอยู่กับอีกหลากหลายปัจจัย แต่ทางโน้มก็คือการเป็น“สังคมไร้ เงินสด”ของโลกในอนาคต

ไม่มีสังคมใดที่จะเป็น“สังคมไร้เงินสด”อย่างสมบูรณ์ มนุษย์ส่วนหนึ่งยังคงต้องการใช้ เงินสดต้องการมีความเป็นส่วนตัวสามารถใช้เงินตามใจชอบโดยไม่มีใครมา“แอบดู”ผ่านหลักฐานทาง ดิจิทอลที่“สังคมไร้เงินสด”มีร่องรอยทุกธุรกรรม

ตราบใดที่ยังมีมนุษย์บางส่วนต้องการความเป็นเสรีชน การเป็น“สังคมไร้เงินสด”อย่างสมบูรณ์ไม่มีวันที่จะเกิดขึ้นได้