คุณค่าของความเป็นมนุษย์ กตัญญูกตเวทิตา !!

คุณค่าของความเป็นมนุษย์ กตัญญูกตเวทิตา !!

เจริญพร สาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา สืบเนื่องจากได้เห็นภาพต้นไม้ ต้นเดียว ที่ยืนต้นอยู่กลางแดด ลม ฝน

จึงให้ระลึกถึงคุณค่าอันไม่มีประมาณ ต่อหมู่ชน มหาสัตว์ทั้งหลาย

ดังนั้น ผู้มีความกตัญญู รู้คุณ จึงควรช่วยกันปกป้องดูแล เพื่อให้ร่มเงาแห่งต้นไม้ใหญ่นั้นยังคงมีสืบเนื่องต่อไป

ในพระพุทธศาสนาของเรา จึงเน้นย้ำวิสัยบัณฑิต ที่จักต้องรู้คุณและบูชาคุณท่าน แม้ในต้นไม้ ต้นน้ำ ลำธาร และแผ่นดินเกิด จึงไม่ต้องกล่าวถึง การกตัญญูรู้คุณในผู้มีพระคุณต่อเรา ดัง พ่อแม่ ครูอาจารย์ ผู้สั่งสอนยกระดับจิตวิญญาณของเรา

ด้วยบนเส้นทางชีวิตที่เกาะติดอยู่กับกฎแห่งธรรม ในธรรมชาติ ที่ควบคุมจิตด้วยกฎแห่งกรรม มีปรากฏผลให้เห็นความเป็นจริงในบุคคลที่กตัญญู และอกตัญญู ว่าที่สุดเป็นเช่นไร

วันนี้ ได้เห็นศิษย์ศรัทธามาฟังธรรม บูชาธรรม กันพอสมควรที่วัดป่าอารยวังสาราม บางไทร อยุธยา จึงให้ระลึกถึงเรื่องความกตัญญูกตเวที จากพระภาษิตที่ว่า “นิมิตตัง สาธุรูปานัง กตัญญูกตเวทิตา”

ดังปรากฏความในทศชาติ สมัยเสวยพระชาติเป็นพระเตมีย์ ที่ตรัสในตอนหนึ่งว่า “ดูก่อนสารถี เราไม่ใช่เทวดา ไม่ใช่คนธรรพ์ ไม่ใช่ท้าวสักกะผู้ให้ทานในกาลก่อน เราเป็นโอรสของพระเจ้า กาสิกราชผู้ที่ท่านกำลังจะฆ่าเสียในหลุมนั่นแหละ เราเป็นโอรสของพระราชาผู้ที่ท่านอาศัยร่มพระบารมีเลี้ยงชีวีตอยู่ ดูก่อนสารถี ถ้าท่านฆ่าเราเสียในป่า ท่านก็ทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม บุคคลนั่งหรือนอนใต้ร่มเงาของต้นไม้ใด ไม่พึงหักรานกิ่งของต้นไม้นั้น เพราะผู้ประทุษร้ายมิตรเป็นคนเลวทราม พระราชาเป็นเหมือนต้นไม้ เราเป็นเหมือนกิ่งไม้ ตัวท่านเป็นเหมือนคนอาศัยร่มเงา ถ้าท่านฝังเราเสียในป่า ท่านก็ทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม”

เป็นธรรมเนียมที่ถือปฏิบัติกันมาแต่โบราณ เมื่อคนทั้งหลายเข้าไปในป่าเพื่อเลือกหาต้นไม้นำมาปลูกบ้านเรือนไว้เป็นที่อยู่อาศัย ขณะที่พักอยู่ในป่านั้นได้อาศัยนั่งหรือนอนใต้ร่มไม้ต้นใด ก็จะงดเว้นไม่หักราน ไม่ตัดไม้ต้นนั้น เพราะถือว่าเป็นต้นไม้ที่มีคุณต่อตน

ทำนองเดียวกันผู้ที่เป็นชาวนาชาวไร่ เมื่อได้ใช้วัวหรือควายตัวใดเทียมเกวียน หรือใช้ไถนาปลูกข้าว แม้เวลาผ่านไปวัวหรือควายตัวนั้นจะแก่เฒ่าจนใช้งานต่อไปไม่ได้ เขาก็จะไม่ฆ่า ไม่ขาย แต่จะเลี้ยงดูต่อไปจนมันตายไปเอง เพราะถือว่ามันทำงานเลี้ยงเรามา เมื่อมันแก่แล้วก็ควรจะเลี้ยงมันตอบแทนบ้าง ด้วยถือว่าผู้ประทุษร้ายต่อผู้มีพระคุณเป็นคนอกตัญญู เป็นคนที่ไม่น่าคบหา และชีวิตของเขาก็จะไม่เจริญ

พระโพธิสัตว์ได้ทรงนำต้นไม้ที่คนได้อาศัยร่มเงามาตรัสเปรียบเทียบว่า แม้ต้นไม้ที่ให้ร่มเงาคนเขายังไม่หักรานกิ่ง ก็พระองค์เป็นผู้ที่มีพระคุณจึงไม่ควรที่เขาจะฆ่าได้ลงคอ เพื่อให้สารถีได้ทราบถึงคุณธรรมที่เขาควรปฏิบัติตามว่า ถ้าหากเขาฆ่าพระองค์เสียก็เท่ากับว่าฆ่าผู้ที่มีพระคุณ เป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรม

แม้พระโพธิสัตว์จะตรัสถึงเพียงนี้ สารถีก็ยังไม่เชื่ออยู่นั่นเอง พระองค์จึงทรงดำริว่า เราจะทำให้สารถีเชื่อให้ได้ จึงได้ประกาศถึงพระบารมีที่ได้บำเพ็ญมา ทำชัฏแห่งป่านั้นให้บันลือลั่นด้วยเสียงสาธุการของเทวดา จากนั้นจึงได้ตรัสพระคาถาบูชาคุณของมิตรถึง 10 คาถา

คาถาที่ 1 มีใจความว่า “บุคคลใดมิได้ประทุษร้ายเหล่ามิตร ทั้งเป็นที่อาศัยเลี้ยงชีพของชนเป็นอันมาก บุคคลนั้นเมื่อจากบ้านเรือนของตนไปในที่ไหนๆ ย่อมมีอาหารมากมาย” อย่างเช่น พระสีวลีมหาเถระ ซึ่งในชาติก่อนได้เคยชักชวนบุคคลเหล่าอื่นให้ตั้งอยู่ในศีล 5 และได้แจกจ่ายทานให้แก่คนจำนวนมาก มาในชาตินี้ เมื่อพระบรมศาสดาจะทรงนำหมู่ภิกษุไปโปรดหมู่มนุษย์และเทวดาในถิ่นกันดาร ก็จะทรงชวนพระสีวลีไปด้วย สถานที่นั้นแม้จะกันดารก็กลับกลายเป็นอุดมสมบูรณ์ไปได้

คาถาที่ 2 มีใจความว่า บุคคลใดไม่ได้ประทุษร้ายเหล่ามิตร บุคคลผู้นั้นไปสู่ชนบท นิคม หรือราชธานีใด ย่อมได้รับการบูชาจากหมู่ชนในสถานที่เหล่านั้น อย่างเช่น สังกิจจสามเณร ซึ่งออกบวชตั้งแต่อายุ 7 ขวบ ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ในวันที่ 8 จากวันที่บวช แม้ถูกพวกโจรนำตัวไปเพื่อฆ่าบูชายัญ แต่ทำอย่างไรก็ฆ่าท่านไม่สำเร็จ ท้ายที่สุดจึงเกิดความเลื่อมใสได้ทิ้งดาบเลิกความเป็นโจร แล้วก้มลงกราบกล่าวมอบตนเป็นลูกศิษย์ของท่านทั้งหมด

ในคาถาที่3-4-5 ได้กล่าวโดยสรุปว่า บุคคลใดไม่ประทุษร้ายเหล่ามิตร ย่อมไม่ถูกทำร้ายจากใครๆ ย่อมล่วงพ้นภัยจากหมู่อมิตร.. บุคคลผู้นั้นมิได้โกรธเคืองต่อใครๆ เขาย่อมมีไมตรีจิตกลับมาสู่เรือน เข้าสู่ที่ประชุมสภา ย่อมได้รับความยินดีปรีดาในสภานั้น และเมื่อเขาเคารพ สักการะผู้อื่น ก็ย่อมได้รับการเคารพสักการะตอบ นี่คืออานิสงส์แห่งความรู้คุณ บูชาคุณมิตรด้วยจิตใจกตัญญูกตเวทิตา

 

เจริญพร