เล่าเรื่องเศรษฐกิจการเมืองโลก

เล่าเรื่องเศรษฐกิจการเมืองโลก

อาทิตย์ที่แล้ว ผมได้รับเชิญเป็นวิทยากรพิเศษให้กับสมาคมศูนย์วิชาการไทย-ออสเตรเลีย ในโอกาสการประชุมใหญ่สามัญประจำปี พ.ศ.2562

ในหัวข้อ ถอดรหัสเศรษฐกิจและการเงินโลก” สมาชิกสมาคมส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการที่เป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยในประเทศออสเตรเลีย ตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก ซึ่งนอกเหนือจากงานประจำ สมาชิกสมาคมก็จะร่วมกันทำงานวิชาการและกิจกรรมด้านสังคมเพื่อส่วนรวม ซึ่งน่ายินดีมาก ผมไปพูดอาทิตย์ที่แล้วก็ในฐานะศิษย์เก่าออสเตรเลียเช่นกัน ไปด้วยความยินดี ได้พบเพื่อนเก่าๆ และสนุกสนานไปด้วยกับงานประชุม

ตอนนี้เศรษฐกิจโลกมีข่าวตลอดในหลายเรื่อง ทั้งเศรษฐกิจการเมืองและการเมืองระหว่างประเทศจนดูยุ่งและวุ่นวายไปหมด ทำให้การติดตามข่าวและการวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นอาจจับต้นชนปลายไม่ถูกถ้าเราไม่มีกรอบหรือหลักในการวิเคราะห์ ในวันนั้นผมจึงได้พูดถึงกรอบที่เราสามารถนำมาใช้วิเคราะห์สิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง และการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งจริงๆ แล้วก็สัมพันธ์กันหมด เพื่อให้ได้บริบทหรือ context ที่จะช่วยให้เราเข้าใจสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นได้ดีขึ้น ซึ่งผมได้ถอดรหัสเรื่องนี้โดยโยงกับพัฒนาการในสามเรื่อง คือ Peace (สันติสุข) Democracy (ประชาธิปไตย) และCapitalism(ระบบทุนนิยม) ที่เป็นค่านิยมสำคัญ (Values)ที่อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจการเมืองโลกตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองถึงปัจจุบัน

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศผู้ชนะภายใต้การนำของสหรัฐและกลุ่มประเทศตะวันตกได้จัดระเบียบโลกใหม่เพื่อสนับสนุนสันติสุข ประชาธิปไตย และระบบทุนนิยม หัวใจของการเมืองระหว่างประเทศในช่วงแรก คือ ป้องกันไม่ให้สงครามเกิดขึ้นอีก โดยสร้างกลไกระหว่างประเทศคือจัดตั้งองค์กรสหประชาชาติเพื่อแก้ไขข้อพิพาทระหว่างประเทศ พร้อมหยุดยั้งการแผ่อิทธิพลของกลุ่มประเทศสังคมนิยม ซึ่งด้านการทหารก็คือ จัดตั้งกลุ่มประเทศนาโต้ ทางการเมือง เป้าหมายคือการขยายอิทธิพลของระบอบประชาธิปไตยและหยุดยั้งการเติบโตของลัทธิสังคมนิยมทั้งในรูปสงครามตัวแทนและการแทรกแซงการเมืองภายในประเทศ เช่นกรณีสงครามเวียดนามและการปฏิวัติรัฐประหารในกลุ่มประเทศอเมริกาใต้

ด้านเศรษฐกิจ เป้าหมายคือ การวางระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่เพื่อสนับสนุนการเติบโตของระบบเสรีนิยม โดยเน้นการอยู่ร่วมกันอย่างมีกฎเกณฑ์ (Rules based) ความร่วมมือระหว่างประเทศ และการพัฒนาประเทศเกิดใหม่ นำไปสู่การจัดตั้งองค์กรระหว่างประเทศ เช่นไอเอ็มเอฟ ธนาคารโลก และองค์การการค้าโลกเพื่อดูแลกฎเกณฑ์เหล่านี้ พร้อมสนับสนุนบทบาทของบริษัทข้ามชาติของกลุ่มประเทศตะวันตกเพื่อหาประโยชน์และขยายเครือข่ายระบบทุนนิยม

นี่คือยุคสงครามเย็นระหว่างสหรัฐกับสหภาพโซเวียตหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ต่อสู้กันทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ การเมืองระหว่างประเทศ เทคโนโลยี และการทหารต่อเนื่องมากว่า 45 ปี ชิงความเหนือกว่าระหว่างลัทธิเสรีนิยมและสังคมนิยมจนปี 1991 ที่สหภาพโซเวียตล่มสลาย ถือเป็นชัยชนะของระบบเสรีนิยมในด้านการเมือง ตามด้วยปี 2001 ที่จีนเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก ถือเป็นชัยชนะเด็ดขาดของระบบทุนนิยม

จากนั้นโลกก็เข้าสู่ยุคที่อิทธิพลสูงสุดอยู่ที่สหรัฐ ระบอบประชาธิปไตย และระบบทุนนิยม เมื่อไม่มีสหภาพโซเวียต สหรัฐก็ใช้พลังที่มีเข้าแก้ไข“ปัญหาที่เหลืออยู่” ซึ่งก็คือประเทศที่ไม่ไปด้วยกับสหรัฐทั้งในตะวันออกกลางและส่วนอื่นๆ ของโลก ผ่านการทำสงครามอ่าวเปอร์เซีย และตัวอย่างเช่นกรณีอาหรับสปริง แต่จากที่นโยบายต่างประเทศของสหรัฐช่วงนั้นเอาแน่เอานอนไม่ได้ สร้างทั้งมิตรและศัตรู บทบาทของสหรัฐจึงถูกตอบโต้ด้วยการก่อการร้ายและสงครามเฉพาะจุดที่สร้างปัญหาใหม่ต่อเศรษฐกิจโลก นั่นก็คือ ปัญหาผู้อพยพที่เป็นผลจากความไม่สงบที่เกิดขึ้น

ด้านเศรษฐกิจ หลังปี 1990 เป็นยุคที่ระบอบประชาธิปไตยเฟื่องฟูสุด นำมาสู่บทบาทที่สูงขึ้นของนักการเมืองและภาคธุรกิจที่ใกล้ชิดการเมือง เกิด “ฉันทามติแห่งวอชิงตัน” หรือ Washington Consensus ที่รัฐบาลสหรัฐผลักดันนโยบายเปิดเสรีระบบเศรษฐกิจ ด้านการค้า การลงทุน การเคลื่อนย้ายทุนระหว่างประเทศ การกำกับดูแลสถาบันการเงิน และการแปรรูปหรือโอนถ่ายการผลิตภาครัฐไปสู่ภาคเอกชนเพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจ กดดันให้ประเทศต่างๆ นำนโยบายไปปฏิบัติผ่านกลไกขององค์กรอย่าง ไอเอ็มเอฟ และธนาคารโลก นโยบายเหล่านี้ทำให้เศรษฐกิจโลกเติบโต แต่ก็บนความเปราะบางของภาคธุรกิจที่เน้นการทำกำไรระยะสั้น สร้างความเหลื่อมล้ำให้มีมากขึ้น และนำไปสู่การเกิดขึ้นของวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2008 ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดของระบบโลกาภิวัตน์

ด้านการเมือง ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากระบบโลกาภิวัตน์ ทำให้การเมืองสหรัฐแตกแยกอย่างไม่เคยมีมาก่อน ระหว่างพรรครีพับลิกันที่ถูกมองว่าเป็นพรรคเจ้าของทุนและพรรคเดโมแครตที่เป็นพรรคชนชั้นกลาง ต่างฝ่ายต่างจ้องที่จะรื้อนโยบายของอีกฝ่าย ไม่ยอมรับการทำหน้าที่ตรวจสอบของอีกฝ่าย และไม่เคารพในจริยธรรมและมารยาททางการเมือง จนทั้งสภาสูงและสภาล่างสหรัฐทำงานไม่ได้ รัฐบาลกลายเป็นรัฐบาลที่ไม่สามารถทำอะไรได้ (cannot get things done) สิ่งเหล่านี้ทำให้ความขลังและความชอบธรรมของระบอบประชาธิปไตยเริ่มเสื่อม ประชาชนผิดหวังในรัฐบาล ผิดหวังในระบบเสรีนิยมและโลกาภิวัฒน์ที่ความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ไม่ดีขึ้น เรียกหาผู้นำที่เข็มแข็งที่จะดูแลผลประโยชน์ของประชาชน นำไปสู่การปรากฎตัวของผู้นำแบบประชานิยม การกีดกันทางการค้า และนโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยม เป็นกระแสที่กระจายไปทั่วโลก

แต่ระหว่างที่โลกทุนนิยมยุ่งเหยิงและความน่าเชื่อถือของระบบประชาธิปไตยถดถอย โดยเฉพาะหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2008 เราก็เห็นการเติบโตของการเมืองและระบบเศรษฐกิจทางเลือก ที่มีจีนเป็นตัวอย่าง ที่การเมืองในประเทศมีเสถียรภาพ รัฐบาลสามารถตัดสินใจและทำอะไรได้ มีการวางแผนระยะยาว ให้ความสำคัญเรื่องการศึกษาและความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจนเศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่อง ประชาชนมีความกินดีอยู่ดี ประเทศมีความเข้มแข็งสามารถขยายบทบาททางเศรษฐกิจและการเมืองไปสู่ประเทศอื่น ผ่านการให้ความช่วยเหลือและการลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโลกด้วยเส้นทางสายไหม สิ่งเหล่านี้ ทำให้จีนเป็นโมเดลทางเลือกใหม่ทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง เป็นตัวอย่างของประเทศที่ประสบความสำเร็จ สร้างความกลัวให้กับหมู่ชนชั้นนำสหรัฐว่า จีนจะเป็นคู่แข่งและอาจเป็นภัยคุกคามต่ออิทธิพลที่มีอยู่เดิมของสหรัฐและกลุ่มประเทศตะวันตก ทำให้ท่าทีของสหรัฐต่อจีนแข็งกร้าวขึ้น สร้างแรงกระทบหรือ Tensions ระหว่างจีนกับสหรัฐในหลายเรื่อง จนเป็นที่มาของหลายปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น

นี่คือบริบทของสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเศรษฐกิจและการเมืองโลกขณะนี้ มีการวิเคราะห์ว่า ผลดังกล่าวทำให้โลกกำลังเข้าสู่สงครามเย็นรอบใหม่ เป็นสงครามระหว่างสหรัฐกับจีนที่เกิดจากการแข่งขันระหว่างอำนาจเก่ากับอำนาจใหม่ และสนามแข่งขันมีให้เห็นในหลายเวที ไม่ว่าจะเป็น ด้านการค้า หรือสงครามการค้าที่ได้เกิดขึ้น เทคโนโลยี โดยเฉพาะ 5G การวิจัยค้นคว้า การทหาร การศึกษา และการเมืองระหว่างประเทศ และจากบริบทนี้ เราก็ได้คำตอบว่า ที่สงครามการค้ายึดเยื้อและหาข้อยุติไม่ได้ ก็เพราะข้อยุติไม่ได้อยู่ที่ข้อพิพาททางการค้า แต่อยู่ที่การยอมหรือไม่ยอมกันทางการเมืองระหว่างสองประเทศใหญ่ คือ อำนาจเก่าและอำนาจใหม่

มีคนเปรียบประเทศจีนตอนนี้ว่า เหมือนสหรัฐเมื่อ 74 ปีก่อนหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่สหรัฐขณะนั้นเป็นอำนาจเดียวที่ทรงพลังเพราะทุกคนอ่อนแอ ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงเศรษฐกิจและการเมืองโลกก็อาจกำลังเข้าสู่ยุคใหม่ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของผู้นำหรืออำนาจใหม่ในเศรษฐกิจและการเมืองโลก คำถามคือ แล้วสหรัฐและกลุ่มประเทศตะวันตกที่เป็นกลุ่มอำนาจเดิมจะอยู่อย่างไรและจะยอมรับการเปลี่ยนแปลงนี้หรือไม่ นี่คือบริบทของเศรษฐกิจการเมืองโลกที่ต้องติดตามที่จะอธิบายหลายสิ่งหลายอย่างที่จะเกิดขึ้นในอนาคต