การให้บริการโทรคมนาคมพื้นฐานอย่างทั่วถึง

การให้บริการโทรคมนาคมพื้นฐานอย่างทั่วถึง

โลกในปัจจุบันนี้ได้ก้าวเข้าสู่ยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลไม่ได้เป็นแค่เครื่องมือสนับสนุนการทำงานดังเช่นที่ผ่านมาอีกต่อไป

 แต่กำลังจะเป็นสังคมดิจิทัลที่หลอมรวมเข้ากับระบบเศรษฐกิจและวิถีชีวิตอย่างแท้จริง ซึ่งจะส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและรูปแบบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ กระบวนการผลิต การค้า การบริการ และกระบวนการทางสังคมอื่นๆ รวมถึงการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลไปอย่างสิ้นเชิง

จากกระแสความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จึงอาจกล่าวว่าเทคโนโลยีดิจิทัลถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในปัจจุบันก็ย่อมได้

แต่ในอีกด้านหนึ่ง เทคโนโลยีดิจิทัลและการสื่อสารก็สามารถเป็นตัวเร่งให้เกิดการแบ่งแยกในรูปแบบใหม่อันส่งผลให้ช่องว่างทางเศรษฐกิจและสังคมระหว่างสังคมเมืองและสังคมชนบทกว้างมากขึ้น จนอาจนำไปสู่ความขัดแย้งที่สร้างผลเสียหายให้กับประเทศชาติได้เช่นกัน โดยเป็นผลมาจากความเหลื่อมล้ำในโอกาสและความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ที่เรียกกันว่า “ช่องว่างทางดิจิทัล” (Digital Divide)

ด้วยเหตุนี้ หนึ่งในนโยบายสำคัญในการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมเพื่อลดช่องว่างดังกล่าวคือการให้บริการโทรคมนาคมพื้นฐานอย่างทั่วถึง (Universal Service)

แนวนโยบายในเรื่องนี้ได้ถูกกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ซึ่งถือเป็นการรองรับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมาจนกระทั่งถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่ได้บัญญัติเรื่องหน้าที่ของรัฐไว้ในหมวด 5 เพื่อกำหนดให้รัฐมีหน้าที่ต้องดำเนินการดูแลและจัดสวัสดิการด้านต่างๆ ให้กับประชาชน โดยหลักการสำคัญก็คือการทำให้บริการโทรคมนาคมพื้นฐานกระจายอย่างทั่วถึงไปสู่กลุ่มที่ขาดแคลนและห่างไกล ในลักษณะที่เป็นบริการสาธารณูปโภค อันจะเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมและเพิ่มความแข็งแกร่งของชุมชนตั้งแต่ระดับรากหญ้าและรวมถึงการลดช่องว่างทางสังคมของกลุ่มที่ด้อยโอกาสอีกด้วย

แนวคิดการให้บริการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึงเกิดขึ้นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาประมาณปี ค.ศ. 1907 โดยถูกให้ความหมายว่าเป็นการให้บริการโทรศัพท์ภายใต้ระบบที่เป็นหนึ่งเดียว หลังจากนั้นหลักการบริการโดยทั่วถึงก็ได้ถูกนำมาใช้เป็นหลักการสำคัญในการให้บริการโทรคมนาคม ตลอดจนได้รับการขยายความและพัฒนามาอย่างต่อเนื่องตามความเปลี่ยนแปลงของสังคมเรื่อยมา

ปัจจุบันการให้บริการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึงถูกกำหนดเป็นพันธกรณีหนึ่งในกฎหมายระหว่างประเทศ โดยองค์กรระหว่างประเทศด้านโทรคมนาคม หรือที่รู้จักกันในชื่อสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunications Union :ITU)ให้คำจำกัดความว่า “การให้บริการโดยทั่วถึง หมายถึง การจัดหาบริการโทรคมนาคมพื้นฐานเพื่อให้ผู้ใช้บริการทุกคนสามารถเข้าถึงการให้บริการได้ โดยการให้บริการโทรคมนาคมพื้นฐานดังกล่าวนี้ต้องครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศและมีอัตราที่สมเหตุสมผล”

ดังนั้น ประเทศสมาชิกที่ยอมรับข้อผูกพันต้องกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมจัดให้มีการบริการโทรคมนาคมโดยทั่วถึง ประกอบด้วยหลักการ 4 ประการ คือ

1.โปร่งใส (Transparency)คือ การวางกฎเกณฑ์หรือกระบวนการกำกับดูแลองค์กรหรือกองทุนเพื่อการให้บริการโดยทั่วถึง โดยต้องเปิดเผยต่อสาธารณะและให้ประชาชนมีส่วนร่วม

2.เท่าเทียมไม่เลือกปฏิบัติ (Non Discrimination)คือการกำหนดกฎเกณฑ์หรือเงื่อนไขใดให้ผู้ประกอบการปฏิบัติจะต้องใช้บังคับกับผู้ประกอบการทุกรายโดยไม่มีข้อแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นบริการใด ใช้อุปกรณ์หรือเทคโนโลยีใด

3.เป็นกลางในเชิงการแข่งขัน (Competitive Neutrality)คือ ระหว่างผู้ประกอบการทุกรายจะต้องไม่มีการปฏิบัติให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างกันโดยไม่เลือกว่าจะใช้เทคโนโลยีใด และ

4.ไม่เป็นภาระเกินสมควร (Non-Burdensome Application)คือการกำหนดหลักเกณฑ์ใดเพื่อให้ผู้ประกอบการจัดให้มีบริการโดยทั่วถึงจะต้องไม่เป็นการสร้างภาระแก่ผู้ประกอบการมากจนเกินไป

สำหรับประเทศไทย การจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงถูกกำหนดขึ้นภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 มาตรา 27 (12) และมาตรา 50 ประกอบพระราชบัญญัติโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 17 และมาตรา 18 โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อให้ผู้ด้อยโอกาสในสังคมและประชาชนในชนบทห่างไกลได้รับการบริการโทรคมนาคมโดยทั่วถึงและเท่าเทียมกับประชาชนทั่วไปในเขตเมือง

โดยกำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีหน้าที่ในการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงครอบคลุมทั้งในมิติเชิงพื้นที่และมิติเชิงสังคม โดยมีคำนิยามคำว่า “บริการโทรคมนาคมพื้นฐาน” ให้หมายถึงการให้บริการโทรศัพท์สาธารณะ โทรศัพท์ประจำที่และอินเทอร์เน็ต โดยไม่จำกัดเทคโนโลยี ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2552 ได้มีการออกประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม พ.ศ. 2552 (ฉบับที่ 2) ขึ้น โดยได้มีการแก้ไขเรื่องคำนิยามของคำว่าบริการโทรคมนาคมพื้นฐาน โดยให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน “บริการโทรคมนาคมพื้นฐาน” หมายถึง บริการโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต โดยไม่จำกัด

จากที่กล่าวมาข้างต้นเห็นได้ว่าแม้ว่าจะมีการเปิดเสรีทางการค้าบริการโทรคมนาคมให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการให้บริการมากขึ้น แต่รัฐก็ยังจำเป็นต้องทำหน้าที่กำกับดูแลการให้บริการโทรคมนาคม เนื่องจากโทรคมนาคมเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของทุกๆ ประเทศที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในการสื่อสารและเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชน อีกทั้งการให้บริการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึงถูกกำหนดเป็นพันธกรณีหนึ่งในกฎหมายระหว่างประเทศอีกด้วย ฉะนั้น รัฐจึงมีหน้าที่ต้องจัดบริการโทรคมนาคมให้ประชาชนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ

โดย... 

ดร.อรัชมน พิเชฐวรกุล

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์