การทะเลาะกันจะไม่มีวันจบ

การทะเลาะกันจะไม่มีวันจบ

การประชุมผู้นำรัฐบาลของกลุ่มประเทศที่เรียกสั้นๆ ว่า “G7” ณ นครปารีสเพิ่งยุติเมื่อวันจันทร์

ดังเป็นที่ทราบกันดี กลุ่มนี้นำโดยสหรัฐและประกอบด้วยแคนาดา ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนีและอิตาลี หนึ่งในเป้าหมายของกลุ่มได้แก่การแสวงหาจุดยืนร่วมกันเพื่อครองโลกต่อไป แต่ในการประชุมครั้งนี้ พวกเขาไม่สามารถตกลงกันได้ในหลายประเด็น จึงมิได้ออกแถลงการณ์ด้านข้อตกลงเมื่อจบการประชุมซึ่งเกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งต่างๆ ทั้งภายในกลุ่มและภายนอกกลุ่ม

ภายในกลุ่มมีความขัดแย้งหลายอย่าง เช่น ในประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เข้าบริหารสหรัฐเมื่อต้นปี 2560 สหรัฐปรับเปลี่ยนแนวนโยบายไปในทางตรงข้ามกับของประเทศอื่นซึ่งให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมสูงกว่า นอกจากจะเปลี่ยนนโยบายไปในทางทำลายสิ่งแวดล้อมในประเทศของตนเองแล้ว นายทรัมป์ยังออกมาต่อต้านมาตรการต่างๆ ที่สังคมโลกส่วนใหญ่ได้ตกลงกันไว้อีกด้วย รวมทั้งในการประชุมเรื่องภาวะโลกร้อน ณ นครปารีสเมื่อปี 2559

นอกจากนั้น ความขัดแย้งอันเกิดจากสหราชอาณาจักรประสงค์จะออกจากสหภาพยุโรปมีผลต่อกลุ่มนี้ด้วยเนื่องจากเยอรมนี ฝรั่งเศสและอิตาลีเป็นสมาชิกหลักของสหภาพยุโรป นายทรัมป์สนับสนุนจุดยืนของสหราชอาณาจักรเต็มที่เนื่องจากมีจุดยืนคล้ายกันโดยเฉพาะเรื่องการกีดกันผู้อพยพจากประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่มีผิวขาว

ด้านภายนอกกลุ่ม นายทรัมป์กำลังทำสงครามการค้ากับจีนซึ่งมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกสูง เมื่อเศรษฐกิจโลกตกอยู่ในภาวะซบเซา หรือถดถอย สมาชิกอื่นซึ่งขึ้นอยู่กับการค้าขายสินค้าและบริการกับตลาดภายนอกประเทศมากกว่าสหรัฐได้รับผลกระทบร้ายแรงกว่าสหรัฐ นอกจากนั้น ยังมีความสัมพันธ์กับอิหร่านและรัสเซียซึ่งสมาชิกในยุโรปเห็นต่างอย่างมีนัยสำคัญกับจุดยืนของนายทรัมป์

เป้าหมายในการจะครองโลกต่อไปของ G7 เป็นไปได้ยากเนื่องจากตอนนี้โลกมีมหาอำนาจทางเศรษฐกิจพร้อมอาวุธมหาประลัยทัดเทียมกับสมาชิกในกลุ่มนี้อย่างน้อย 3 ประเทศคือ จีน รัสเซียและอินเดีย ในขณะที่อินเดียดูจะอยู่แบบเงียบๆ จีนและรัสเซียแสดงท่าทีที่จะไม่ก้มหัวให้สหรัฐอีกต่อไป จะเห็นว่าจีนยังพยายามขยายอิทธิพลออกไปรวมทั้งในการถมทะเลในย่านหมู่เกาะสแปรตลีแบบไม่ย่านต่อการต่อต้านของสหรัฐและรัสเซียบุกเข้ายึดแหลมไครเมียแบบท้าทายให้สหรัฐตอบโต้

คงจำกันได้ดีว่า หลังเทคโนโลยีดิจิทัลเอื้อให้การสื่อสารทั่วโลกสามารถทำได้ภายในพริบตา เกิดความหวังกันว่าเมื่อโลกไม่มีพรมแดนอีกต่อไป การติดต่อค้าขายและการทำความเข้าใจกันที่สะดวกขึ้นจะส่งผลให้โลกมีความขัดแย้งน้อยลง แต่ปรากฏว่าผลของมันกลับออกมาตรงกันข้ามจนปราชญ์ทางเศรษฐศาสตร์โจเซฟ สติกลิตซ์ถึงกับเขียนหนังสือออกมาชื่อ “ความไม่พอใจในโลกาภิวัตน์” (Globalization and Its Discontents) เมื่อปี 2545 (อ่านและดาวน์โหลดบทคัดย่อภาษาไทยได้ที่ www.bannareader.com)

ปัจจัยที่ทำให้ความขัดแย้งไม่ลดลงได้แก่ ความคิดพื้นฐานด้านการดำรงชีวิตของมนุษย์โดยทั่วไปไม่ว่าสังคมของเขาจะเป็นประชาธิปไตยหรือเผด็จการที่ใช้ระบบทุนนิยมหรือสังคมนิยมแบบสุดขั้ว นั่นคือ ความสุขกายสบายใจมาจากการได้กินได้ใช้อันเป็นเพียงด้านกายภาพเท่านั้น ความคิดพื้นฐานนี้ส่งผลให้มีการแสวงหาทรัพยากรกันอย่างเข้มข้นเพื่อนำมาสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นแบบไม่มีที่สิ้นสุด เนื่องจากโลกมีทรัพยากรจำกัด การแย่งชิงกันนำไปสู่ความขัดแย้งร้ายแรงซึ่งจะดำเนินต่อไปตราบใดที่ความคิดพื้นฐานยังคงเดิม

ปราชญ์ไทยได้มองเห็นประเด็นความขัดแย้งนี้มานานและได้ชี้ทางออกไว้ให้ เช่น ในแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวง ร. 9 และในเศรษฐศาสตร์แนวพุทธของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์องค์ปัจจุบัน ปราชญ์และนักเศรษฐศาตร์ในประเทศมหาอำนาจบางคนเห็นพ้องกับทางออกนี้ แต่ยังไม่มีรัฐบาลของมหาอำนาจเห็นด้วย โลกจึงจะขัดแย้งร้ายแรงต่อไป ในขณะเดียวกัน คนไทยส่วนใหญ่ก็ใช้ความคิดพื้นฐานในการดำรงชีวิตเช่นเดียวกับพวกเขาทั้งที่เรากว่า 90% บอกว่าเป็นพุทธศาสนิกชน ส่วนรัฐบาลไทยก็ยังไม่เปลี่ยนความพยายามจะวิ่งตามเขาทั้งที่เราไม่จำเป็นต้องทำ

ผู้เห็นด้วยกับข้อสรุปที่ว่าความขัดแย้งจะทำให้การทะเลาะกันดำเนินต่อไปและทางออกที่ปราชญ์ไทยชี้แนะไว้เป็นทางออกที่เหมาะสมควรปรับเปลี่ยนแนวคิดพื้นฐานพร้อมกับเตรียมตัวรับสถาณการณ์เลวร้ายไว้ด้วย