“พล.ร.11” พยัคฆ์บูรพาแห่ง EEC

“พล.ร.11”  พยัคฆ์บูรพาแห่ง EEC

ต้นเดือน ก.ย.นี้ กองทัพบกไทยจะมีการรับมอบยานเกราะลำเลียงพลทหารราบ M1126 Stryker จำนวน 60 คัน

โดยจะนำมาลงในกองพลทหารราบที่ 11 (พล.ร.11) จ.ฉะเชิงเทรา และหน่วยอื่นๆ ตามนโยบายสภากลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก

กลางปี 2560 สภากลาโหม ได้เห็นชอบแผนเสริมสร้างความสมบูรณ์ของกองพลทหารราบที่ 11 (พล.ร.11) จ.ฉะเชิงเทรา เป็น กองพลทหารราบเบา เพื่อให้กองทัพบก มีหน่วยกำลังรบที่เหมาะสม เพียงพอต่อการปฏิบัติภารกิจตามที่ได้รับมอบหมาย

เดิมที กองพลทหารราบที่ 11 จัดตั้งหน่วยขึ้นเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.2524 เพื่อใช้เป็นกำลังทางบก เป็นหน่วยในบังคับบัญชาของกองทัพภาคที่ 1 จนถึงปี 2545 กองพลทหารราบที่ 11 ได้ ไปเป็นหน่วยขึ้นตรงกับหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน ก่อนแยกเป็นกองพลใหม่

ที่ตั้งของกองพลทหารราบที่ 11 ค่ายสมเด็จพระนั่งเกล้า คือ ต.บางตีนเป็ด อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา มี 2 กรมได้แก่กรมทหารราบที่ 111 และกรมทหารราบที่ 112

พล.ร.11 เป็นกองพลทหารราบมาตรฐานที่บรรจุแค่อัตราโครงสร้าง แต่การจัดกำลังพล และยุทโธปกรณ์ยังไม่ครบ ซึ่งต้องใช้เวลาตามแผนดำเนินการสิบปี จึงจะบรรจุอัตรากำลังครบ

ก่อนหน้านี้ พล.ร.11 เปรียบเสมือนหน่วยกำลังสำรอง จึงไม่ค่อยมีบทบาทอะไรมากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ ค่ายพรหมโยธี ปราจีนบุรี

ปี 2555 สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.สมัยโน้น จึงส่ง บิ๊กแดงพล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ไปหลบพักร้อนที่แปดริ้ว เป็น ผบ.พล.ร.11 อยู่ปีเศษ

ยุค คสช. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สมัยเป็น รมว.กลาโหม จึงเสนอแผนยกระดับ พล.ร.11 เป็นกองพลทหารราบเบา บังเอิญว่า รัฐบาลประยุทธ์ 1 ได้มีนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี และระยอง แต่ก็เสียงคัดค้านจากภาคประชาชน

เวลานี้ กลุ่ม EEC Watch ได้เคลื่อนไหวหยุดผังเมือง EEC ในพื้นที่ ต.โยธกา อ.บางน้ำเปรี้ยว และ ต.เขาดิน อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา อย่างต่อเนื่อง โดยมีกลุ่ม ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ สนับสนุน

ที่ผ่านมา มีนายทหารจาก พล.ร.11 ได้เข้าไปรับฟังชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากผังเมือง EEC และเป็นภารกิจหนึ่งของกองทัพ เพื่อช่วยเหลือประชาชน

การเกิดขึ้นของ EEC กับการเสริมสร้าง พล.ร.11 ให้กองพลทหารราบเบานั้น เป็นคนละเรื่องเดียวกัน