การทำตามนโยบายสาธารณสุข ตามที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภา(3)

การทำตามนโยบายสาธารณสุข ตามที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภา(3)

นโยบายข้อ 9.2 (1) ส่งเสริมการป้องกันและควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ

 โดยการพัฒนาองค์ความรู้ด้านสุขภาวะของคนทุกกลุ่มวัย ส่งเสริมการเล่นกีฬาและออกกำลังกายเพื่อสร้างสุขภาพ สร้างระบบรับมือต่อโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำ ทั้งระบบติดตาม เฝ้าระวัง และการจัดการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขอย่างครบวงจรและบูรณาการ จัดระบบการแพทย์ปฐมภูมิที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว รวมทั้งการเฝ้าระวังดูแลอย่างทั่วถึง และส่งเสริมให้ชุมชนเป็นฐานในการสร้างสุขภาพดีทุกพื้นที่

ก.นโยบาย “ส่งเสริมการป้องกันและควบคุมปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ” นโยบายข้อนี้ถือได้ว่าต่อเนื่องจากข้อ 9.1 ข้อ จ.คือสร้างสุขภาพ และป้องกันโรค และลดปัจจัยเสี่ยงจากการทำให้เกิดโรค โดยการให้ความรู้แก่ประชาชนในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาเป็นพฤติกรรมที่ทำให้มีสุขภาพดี (ดังที่ปรากฏในข้อ 9.1 จ.ที่ได้เขียนไว้ในบทความตอนที่ 1 และลดพฤติกรรมที่ทำลายสุขภาพ เช่น สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ฯลฯ ซึ่งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาเป็นพฤติกรรมที่ช่วยสร้างเสริมสุขภาพ นอกจากทำให้ร่างกายแข็งแรงแล้ว ยังเป็นการป้องกันโรคและอุบัติเหตุได้ด้วย และการป้องกันโรคหลายอย่างที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน รัฐบาลควรเพิ่มวัคซีนสำหรับประชาชนในโรคที่มีวัคซีนป้องกันได้แล้ว เหมือนในประเทศอื่นๆ ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนในวัยเด็ก ผู้ใหญ่ หรือวัยสูงอายุ 

ข.นโยบาย สร้างระบบรับมือต่อโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำ ระบบรับมือต่อโรคเหล่านี้ กรมควบคุมโรค และกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งหน่วยงานทางด้านสาธารณสุขของมหาวิทยาลัย ต่างก็ร่วมมือในการเฝ้าระวัง รายงานโรค สอบสวนโรค และควบคุมโรคในทุกขั้นตอนอยู่แล้ว ทั้งระบบติดตามเฝ้าระวังและการจัดการภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์

ค.นโยบาย การจัดระบบการแพทย์ปฐมภูมิที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแลอย่างทั่วถึง” ปัจจุบันนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดบริการทางการแพทย์ปฐมภูมิอยู่ในโรงพยาบาลทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงพยาบาลชุมชน แต่จำนวนแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวยังขาดอีกมากมายมหาศาล ปัจจุบันจึงมีแพทย์ทั่วไปหรือแพทย์ใช้ทุนเป็นผู้ทำงานในระบบการแพทย์ปฐมภูมิ และเริ่มจัดแพทยศาสตร์ครอบครัว 1 คนต่อการดูแลประชาชน 1 หมื่นคน แต่แพทย์ 1 คนคงไม่สามารถดูแลประชาชน 1 หมื่นคนได้ทุกวันเวลา 

ข้อสำคัญก็คือประชาชนยังไม่เข้าใจระบบ จึงมีการไปรักษาความเจ็บป่วยเบื้องต้น (ที่ต้องการการรักษาแบบปฐมภูมิ) ทั้งในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลจังหวัด และโรงพยาบาลศูนย์ อย่างซ้ำซ้อน ซ้ำซาก ทำให้สูญเสียเวลาในการทำงานของบุคลากร (ที่มีน้อยอยู่แล้ว) ต้องตรวจผู้ป่วยซ้ำซากและต้องใช้เวชภัณฑ์ซ้ำซ้อนเกินความจำเป็น (สิ้นเปลืองงบประมาณซ้ำซ้อนกันและไม่ได้ใช้ยาอย่างคุ้มค่า)

รัฐมนตรีจึงควรออกประกาศขอความร่วมมือจากประชาชนว่า เมื่อเจ็บป่วยเล็กน้อยควรให้ความรู้แก่ประชาชน ให้สามารถดูแลรักษาเบื้องต้นได้เอง ถ้าเป็นมากขึ้นให้มาพบแพทย์ใน รพ.ระดับปฐมภูมิ (ระดับต้น หรือระดับหนึ่ง) และถ้าอาการไม่ดีขึ้น ต้องให้หมอครอบครัวหรือหมอปฐมภูมิเขียนใบส่งตัวไปรักษาต่อในโรงพยาบาลระดับสูงขึ้น ได้แก่ รพ.ระดับทุติยภูมิ (ระดับกลางหรือระดับสอง) ในโรงพยาบาลจังหวัด ถ้ามาโรงพยาบาลจังหวัดแล้วไม่ดีขึ้น แพทย์ต้องเขียนใบส่งตัวไปรักษาต่อในโรงพยาบาลตติยภูมิ (ระดับสูง) ได้แก่ โรงพยาบาลศูนย์ หรือโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยต่อไป 

หมายเหตุ ระดับต่างๆ ของโรงพยาบาล แสดงถึงขีดความสามารถในการรักษาอาการเจ็บป่วยจากน้อยไปมาก ซึ่งต้องมีความพร้อมในการรักษา โดยการมีบุคลากร เครื่องมือ ยา และเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่เหมาะสมกับความยากง่ายหรือซับซ้อนของระดับความเจ็บป่วยของประชาชน และควรพัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วยให้รวดเร็วและปลอดภัยด้วย

ง.นโยบาย ส่งเสริมให้ชุมชนเป็นฐานในการสร้างสุขภาพทุกพื้นที่” รมว.สาธารณสุขควรขอความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ให้จัดสร้างสวนสาธารณะ สนามกีฬา และอุปกรณ์ในการออกกำลังกายทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และพัฒนาศักยภาพของ อสม.ให้เป็นผู้นำในการออกกำลังกาย และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่ง อสม.สามารถให้ความรู้แก่ประชาชนในการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค และป้องกันอุบัติเหตุได้ดี และจะดียิ่งขึ้นเมื่อมีโครงการให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขร่วมเป็นวิทยากรให้การอบรมแก่ อสม.เพิ่มเติมในเรื่องนี้ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้ อสม.ทำหน้าที่ให้ความรู้แก่ประชาชนในการสร้างสุขภาพ ป้องกันโรค และป้องกันอุบัติเหตุ ได้ดีขึ้นกว่าปัจจุบัน

โดย... พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา