ลงทุนในโลกที่ไม่แตก ไม่ตาย แต่ไม่โต

ลงทุนในโลกที่ไม่แตก ไม่ตาย แต่ไม่โต

สิงหาคมเป็นเดือนที่มีแต่ข่าวร้าย เริ่มจากสงครามการค้าที่รุนแรงขึ้นหลังทรัมพ์ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนก้อน 3 แสนล้านดอลลาร์สุดท้าย

ในอัตรา 10% ไม่กี่วันต่อมา จีนก็ตอบโต้ด้วยการปล่อยให้ค่าเงินหยวนลดต่ำลงกว่าระดับจิตวิทยาที่ 7  หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ ทำให้สหรัฐประกาศว่าจีน "บิดเบือนค่าเงิน" และพร้อมที่จะใช้มาตรการตอบโต้ในทุกช่องทาง

ความเสี่ยงสงครามการค้าและสงครามค่าเงินที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปี ตกไปอยู่ที่ 1.62% ต่ำกว่าผลตอบแทนพันธบัตร 2 ปีที่อยู่ที่ 1.63% เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2008 นั่นแปลว่าได้เกิดปรากฎการณ์ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ "กลับหัว"  (Inverted Yield Curve) อย่างเป็นทางการ

นักลงทุนทราบดีว่า นั่นเป็นสัญญาณเตือนของ "ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ" (Recession) เพราะจากสถิติในรอบครึ่งศตวรรษเป็นต้นมา เมื่อใดที่เกิด Inverted Yield Curve ขึ้น เศรษฐกิจก็จะเข้าสู่ภาวะ Recession ภายใน 12-24 เดือนหลังจากนั้น

ความวิตกกังวลที่มากขึ้นถูกสะท้อนในราคาของสินทรัพย์เสี่ยง ดอลลาร์ที่ถูกมองว่าเป็นหลุมหลบภัยแห่งความเสี่ยง (Safe-haven) แข็งค่าขึ้น ราคาทองคำพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 6 ปี สวนทางกับราคาทองแดงที่ถูกมองว่าเป็นเครื่องชี้วัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจนั้นลดลงอย่างรวดเร็ว ขณะที่ราคาน้ำมันกลับมาตกต่ำในระดับ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลอีกครั้ง แม้ว่าจะมีเหตุการณ์ไม่สงบในช่องแคบเฮอร์มุซก็ตาม

สำหรับประเด็น Inverted Yield Curve นั้น SCBS มองว่า ณ ปัจจุบันอาจไม่ใช่เครื่องชี้วัดภาวะ Recession ที่ดีนัก เนื่องจากสาเหตุสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงมากนั้น เป็นผลจากความไม่แน่นอนซึ่งเป็นผลจากความเสี่ยงสงครามการค้าเป็นสำคัญ แต่หากพิจารณาที่ปัจจัยพื้นฐานแล้ว เศรษฐกิจโลกยังคงขยายตัวอยู่ แม้ว่าจะชะลอจากปีก่อนหน้าก็ตาม

ไม่ว่าจะเป็นอัตราว่างงานที่ยังต่ำ ค่าจ้างที่ยังปรับเพิ่มขึ้น และสภาพคล่องที่ยังมีอยู่สูงทั่วโลก จะเห็นว่าเศรษฐกิจไม่ได้แย่มากนัก เพียงแต่ว่าสิ่งที่ทำให้ผู้บริหารระดับสูง ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ รวมถึงนักลงทุนทั่วโลกวิตกกังวลคือแนวโน้มธุรกิจในอนาคตที่ไม่แน่นอนมากขึ้น อันเป็นผลจากความไม่ชัดเจนในประเด็นสงครามการค้า ทำให้ธุรกิจชะลอคำสั่งซื้อ ชะลอการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรใหม่ ๆ รวมถึงชะลอการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่าง ๆ ซึ่งหากความไม่แน่นอนนี้ยกระดับขึ้นต่อเนื่อง ความเสี่ยงก็จะมีมากขึ้น

ดังเช่นในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ทรัมพ์ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนอีกครั้ง โดยในก้อน 2.5 แสนล้านดอลลาร์แรก ปรับขึ้นเป็น 30% จาก 25% ขณะที่ก้อน 3 แสนล้านดอลลาร์ จะปรับขึ้นจาก 10% เป็น 15% หลังจากที่จีนประกาศขึ้นภาษี 25% ในสินค้านำเข้าจากสหรัฐมูลค่ารวม 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์ รวมถึงจะกลับมาขึ้นภาษียานยนต์นำเข้าจากสหรัฐในอัตรา 25% อีกครั้ง หลังจากที่ยกเลิกไปในปีก่อน

แต่แม้ว่าความเสี่ยงจะสูงขึ้น เรายังมีความหวังว่าภาวะ Recession จะไม่เกิดขึ้น เนื่องจากความเสี่ยงครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากภาวะ "ฟองสบู่" ในสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งเป็นพิเศษ แต่เป็นความเสี่ยงที่เกิดจาก "มนุษย์" เป็นผู้ทำขึ้น

มนุษย์ผู้นั้นคือประธานาธิบดีทรัมพ์ของสหรัฐ ซึ่งกำลังจะเข้าสู่โหมดเลือกตั้งสมัยที่สองในปีหน้า ดังนั้น หากเศรษฐกิจสหรัฐตกต่ำลงมากจากความเสี่ยงสงครามการค้า ก็เป็นไปได้ที่เขาจะลดระดับความรุนแรงใน “สงครามเย็นเศรษฐกิจ” ลง ตัวอย่างที่เห็นได้คือการที่ทรัมพ์ยกเว้นภาษีนำเข้าที่จะเก็บกับจีนลงบางส่วนในช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงที่ “อุบัติเหตุ” หรือความเสี่ยงที่เศรษฐกิจตกต่ำอาจเกิดขึ้นได้ หากทรัมพ์ต้องการแสดงว่ายังแข็งกร้าวกับจีนและยกระดับความรุนแรงขึ้นเพื่อหวังคะแนนเสียง

อีกสาเหตุหนึ่งที่เรายังไม่กังวลมากนักกับภาวะ Inverted Yield Curve ก็เพราะว่า ในครั้งนี้เกิดจากผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปี ปรับลดลงมาก ต่างจากครั้งก่อน ๆ ที่ผลตอบแทนระยะสั้นปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ทำมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) โดยเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวเพื่อกดดอกเบี้ยระยะยาวให้อยู่ในระดับต่ำ

เราเชื่อว่า ในระยะต่อไป Fed อาจจำเป็นต้องทำนโยบาย “ควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตร” (Yield-curve Control) เช่นเดียวกับที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นทำในช่วงที่ผ่านมา โดยกดผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นลงด้วยการลดดอกเบี้ย เพื่อควบคุมความชันของเส้นผลตอบแทนพันธบัตรไม่ให้ติดลบ ทำให้เป็นไปได้ที่ Fed อาจจะต้องลดดอกเบี้ย 2-4 ครั้งในปีนี้และปีหน้า

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าดอกเบี้ยนโยบายในระยะต่อไปจะเป็นขาลง แต่เราเชื่อว่านักลงทุนไม่ควรที่จะหวังว่าผลตอบแทนการลงทุนจะดีขึ้นมากจากการลดดอกเบี้ย เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจโลกจะยังเปราะบางมากขึ้นจากความเสี่ยงต่าง ๆ โดยเฉพาะประเด็นสงครามเย็นด้านเศรษฐกิจและความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้อาจกล่าวได้ว่า ในระยะต่อไป ภูมิลักษณ์เศรษฐกิจโลกใน 1-2 ปีข้างหน้าจะเป็นภาวะที่ “ดอกเบี้ยต่ำ แต่ก็เติบโตต่ำ” ด้วย

ฉะนั้น ในช่วงนี้ เราแนะนำนักลงทุนให้ลดระดับการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงโดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่ และเพิ่มระดับการลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนคงที่ เช่น พันธบัตรรัฐบาล สินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนคงที่ที่มีพื้นฐานดี เช่น กองทุนโครงสร้างพื้นฐานและอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

โลกจะไม่แตก ไม่ตาย แต่ไม่โต นักลงทุนเตรียมพร้อมรับมือแล้วหรือยัง