เรื่องที่ผู้นำสูงวัยพึงระวัง

เรื่องที่ผู้นำสูงวัยพึงระวัง

ค่ำวันหนึ่งที่ดิฉันมีนัดทานอาหารกับคนรู้จักต่างวัยต่างอาชีพ มีสมาชิกผู้อ่อนวัยในกลุ่มตั้งคำถามว่า ทำไมนายของหนูแก่แล้วจึงไม่เลิกทำงานเสียที?

ทั้งนี้ในตอนแรกที่ได้ยินคำถาม บรรดาผู้สูงวัยล้วนนิ่งอึ้งไปชั่วขณะด้วยความสะเทือนใจกับคำว่า “แก่” จนเมื่อตั้งสติได้จึงถามว่า “แก่ของเธอน่ะ อายุเท่าไร?” คำตอบที่ได้รับคือ 60 ปลายๆ ซึ่งตามความรู้สึกของพวกเราที่อายุมากแล้ว (เท่าไรไม่ต้องถามนะคะ) คิดว่าก็ไม่ได้แก่มากมายจนหมดสภาพ ยิ่งในสมัยนี้ที่การแพทย์เจริญก้าวหน้า เราจึงเห็นผู้สูงวัยมากมายยังทำงานทำการได้ดี หลายคนยังดำรงตำแหน่งผู้นำของประเทศด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกของคนอายุ 30-40 ปีมักองว่าคนอายุ 60 กว่าแก่แล้ว และควรอยู่บ้านพักผ่อนมากกว่าอยู่ที่ทำงาน จึงเป็นเรื่องที่เราๆผู้มีอายุใกล้เกษียณและคิดว่าหรือคาดหวังว่าจะยังคงทำงานต่อไปหลังเกษียณควรให้ความสนใจว่าผู้ที่อยู่ในรุ่นวัยที่อ่อนกว่าเราเขามองผู้นำวัยหลังเกษียณในแง่ใด เพื่อที่เราจะได้สังวรณ์ระวังว่าเมื่อเรามีอายุขนาดนั้น เราต้องไม่ทำตัวเป็นแบบที่ลูกน้องที่อ่อนวัยกว่าต้องหนักใจหรือเบื่อหน่ายในตัวเรา มาลองพิจารณากรณีศึกษานี้ด้วยกันเลยค่ะ

สมมุติว่าผู้นำสูงวัยท่านนี้ชื่อคุณบีก็แล้วกัน คุณบีเป็นชายอายุ 60 ปีปลายๆ สุขภาพแข็งแรง ในอดีตหลายสิบปีก่อนเขาคือหนุ่มนักเรียนนอกจบปริญญาโทด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คุณบีไม่ชอบทำงานบริษัท จึงตัดสินใจลุยบุกเบิกสร้างกิจการของตนเองขายสินค้าอิเล็คทรอนิคส์ คือคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ ซึ่งเขามีความสามารถในการบริหารจนธุรกิจเจริญเติบโตมีสาขามากมายทั่วประเทศ จากบริษัทเล็กๆมีคนทำงานไม่ถึงสิบคนกลายเป็นบริษัทขนาดกลางมีพนักงานประมาณเกือบ 500 คน คุณบีจึงต้องจ้างผู้บริหารมืออาชีพจบการศึกษาดีๆมาช่วยบริหาร แต่เขาก็ยังไม่ละทิ้งตำแหน่งกรรมการผู้จัดการซึ่งมีอำนาจสูงสุดในการบริหาร

คุณบีชอบเทคโนโลยีใหม่ๆ สนใจเดินทางไปดูงานเข้าสัมมนา นิทรรศการด้านเทคโนโลยีเป็นประจำ ข่าวเทคโนโลยีใหม่ๆเรียกว่าไม่เคยพลาด เขาเป็นชายสูงอายุที่ทันสมัยมีวิสัยทัศน์กว้างไกล แต่สิ่งที่ทำให้ลูกน้องรู้สึกอึดอัดใจและมองว่าคุณบีน่าจะเกษียณตัวเอง และผันตัวเป็นที่ปรึกษาแล้วปล่อยให้คนรุ่นหลังบริหารงานแทนโดยคุณบีนั่งรับทรัพย์จะดีกว่ามีรายการดังต่อไปนี้ค่ะ

-ยึดติดกับความคิดของตัวเองว่าดีที่สุด ความที่คุณบีประสบความสำเร็จมากมายในอดีตจึงยึดติดกับวิธีการทำงานแบบที่เคยนำความสำเร็จมาให้ แม้ในปัจจุบันที่สถานการณ์ต่างไปก็ยังไม่อยากเปลี่ยนวิธีการ แต่ความที่เป็นคนฉลาดจึงไม่แสดงทีท่าชัดเจนโจ่งแจ้งว่าไม่เชื่อในความคิดของคนอื่น คุณบีจะทำท่าว่ารับฟังความเห็นของคนอื่น แต่ในที่สุดคุณบีก็จะตัดสินใจดำเนินงานตามความคิดของตนเอง ซึ่งหลายครั้งไม่ใช่การตัดสินใจที่ดีที่สุด พลาดโอกาสดีๆไปก็หลายครั้งเพราะไม่ฟังใคร ไม่ชอบให้ลูกน้องโต้แย้งแต่ปากบอกว่าชอบประชาธิปไตย

-อยากเป็นคนเก่ง คนสำคัญเสมอ เพื่อนบอกว่าอาการแบบนี้ยังไม่ค่อยจะเห็นเมื่อตอนหนุ่มๆ แต่เมื่อหลัง60 ปีไปแล้ว ลูกๆของคุณบีเติบโตมีครอบครัวกันไปหมดและไม่ค่อยมีเวลามาเยี่ยมเยียน สังเกตว่าคุณบีดูจะเหงาๆ และเคยเปรยๆว่าตัวเองหมดความสำคัญลงไปในสายตาของลูกหลาน ทั้งมักพูดให้ลูกน้องได้ยินอยู่บ่อยๆว่าตัวเขาไม่ใช่ตาแก่ไร้การศึกษาหลุดโลก ยังเป็นคนทันสมัยอยู่เสมอ การที่พยายามพิสูจน์ว่าตัวเองยังเก่งยังฉลาดมากเกินไปมีผลทำให้คุณบีชอบเล่าเรื่องความสำเร็จในอดีตให้ลูกน้องฟังซ้ำซากจนลูกน้องเบื่อ และพยายามแสดงความสามารถของตนเองจนไม่เปิดโอกาสให้ลูกน้องได้แสดงความเก่งบ้าง แล้วลูกน้องที่ไหนจะชอบ?

-ชอบพูดมากกว่าฟัง ความที่เคยเป็นคนเก่ง มีประสบการณ์และประสบความสำเร็จทำให้มีเรื่องเล่ามากมายจนลืมรับฟังลูกน้อง ชอบเล่าเรื่องของตัวเองมากกว่ารับฟังความหวัง ความฝัน และวิสัยทัศน์ของลูกน้อง ลืมไปว่าภาระกิจของผู้นำที่ยิ่งใหญ่ทั้งในอดีตและปัจจุบันคือผู้ที่ช่วยส่งเสริมและปั้นลูกน้องให้เป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่เช่นเดียวกับตนหรือยิ่งใหญ่กว่าตนเอง ลืมนึกไปว่าคนเราจะรักเคารพชื่นชมผู้นำที่สร้างเขาให้เป็นผู้นำด้วยมากกว่าชื่นชมผู้นำที่เก่งกว่าเขาอย่างเดียว

-ชอบให้คนประจบประแจง (และสอพลอ?) เมื่อเกรงว่าตัวเองอาจจะดูหมดความสำคัญ จึงแสวงหาการยอมรับชื่นชมจากผู้อื่นมากขึ้นจนถึงระดับที่ลืมวิเคราะห์ไปว่าคำพูดเยินยอที่คนรอบข้างป้อนมาให้ฟังนั้นมีความจริงและความจริงใจเจือปนอยู่มากเพียงใด เปิดโอกาสให้ลูกน้องที่มุ่งแสวงหาผลประโยชน์เข้ามาใกล้ชิดประจบประแจง (แปลว่าพูดเอาใจให้เขาชอบเขารัก) ซึ่งก็ไม่เป็นไรนัก แต่ถ้าถึงระดับสอพลอ (แปลว่าให้ร้ายป้ายสีผู้อื่นเพื่อให้ผู้มีอำนาจหรือผู้บังคับบัญชาเกลียดชังผู้นั้น และได้ประโยชน์แก่ตน) ย่อมเป็นเรื่องเสียหาย ทำให้ผู้นำที่หูเบาเสื่อมเสียความยุติธรรม โดยในกรณีของคุณบีมีลูกน้องที่เก่งๆแต่ไม่ชอบประจบประแจง (ซึ่งเป็นนิสัยทั่วไปของคนเก่งที่คิดว่าตัวเองมีผลงานที่ดี ไม่จำเป็นต้องไปประจบผู้บังคับบัญชา) รู้สึกว่าคุณบีไม่ยุติธรรม ไม่พิจารณาคนจากผลงาน แต่ใช้ความพอใจส่วนตัว ทำให้ลูกน้องใหม่ๆหลายคนลาออกไป ที่ยังอยู่คือคนเก่าแก่ที่รู้จักกันมานาน ทิ้งกันไม่ลง และคนที่ไม่ค่อยมีผลงานแต่ประจบเก่ง

-ไม่รู้จักเวล่ำเวลา ความที่คนอายุมากมักจะนอนน้อยลงและตื่นแต่เช้าตรู่  คุณบีจึงชอบส่งข้อความเรื่องงานไปให้ลูกน้องเวลาตีสามตีสี่ ซึ่งถ้าเพียงส่งก็คงไม่เป็นไร แต่ความที่เป็นคนใจร้อนอยากเห็นผลไวๆ จึงอยากได้คำตอบไวๆ ลูกน้องคนไหนบังเอิญตื่นมาเวลานั้นแล้วตอบข้อความเลย คุณบีจะพอใจมาก และมีผลกับการประเมินผลงานด้วย ทำให้ลูกน้องต้องพยายามตอบข้อความคุณบีนอกเวลางาน แล้วเลยทำให้คุณบีติดนิสัยส่งข้อความในเวลาเช้าตรู่และในวันหยุดทั้งๆไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนอื่นๆมากขึ้น มีผลทำให้ลูกน้องคนอื่นๆต้องพยายามทำงานนอกเวลากันไปด้วย 

ทั้งหมดนี้คือรายการหลักที่เพื่อนร่ายมาให้ฟังเกี่ยวกับคุณบี ผู้นำสูงวัย ซึ่งเมื่อพวกเราที่มาร่วมทานข้าวกันทำการวิพากษ์วิจารณ์กันแล้ว (โดยมีหลายคนรวมทั้งดิฉันค้นกูเกิลหาข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมคนชรา) ก็คิดว่าไม่ใช่คนสูงอายุทุกคนจะเป็นเช่นนี้ และผู้นำหลายคนอาจมีนิสัยและพฤติกรรมไม่ดีแบบนี้ตั้งแต่ยังเป็นหนุ่มสาวก็ได้ จึงไม่สามารถสรุปได้ว่าคนสูงวัยจะมีพฤติกรรมเช่นนี้ทุกคนไป

อย่างไรก็ดีก็มีผลการศึกษาทางจิตวิทยาผู้สูงอายุพบว่าเมื่อย่างเข้าสู่วัยชรา คนเราเริ่มมีจิตใจอ่อนไหวง่ายขึ้น เหตุผลลดลง ใช้ความรู้สึกมากขึ้น จึงสามารถมีพฤติกรรมแบบนี้ได้ด้วยเหตุปัจจัยและสิ่งแวดล้อมดังที่กล่าวมาแล้ว กรณีศึกษาของคุณบีจึงเป็นหนึ่งกรณีที่อยากให้ผู้นำที่วัยเริ่มสูงหันมาพิจารณาตนเองว่าเราเริ่มเปลี่ยนไปเป็นแบบคุณบีหรือไม่ ยิ่งผู้ที่เคยประสบความสำเร็จสูงมีตำแหน่งใหญ่โต พออายุมากขึ้น อำนาจลดลง ความสำคัญลดลง ยิ่งต้องระวังอัตตาเข้าครอบงำเหตุผล

ส่วนผู้นำหนุ่มสาวที่มีนิสัยแบบนี้ตั้งแต่ยังอายุน้อยๆ ควรพยายามปรับนิสัยและพฤติกรรมทางลบเหล่านี้เพราะมันไม่เหมาะกับยุคสมัยเศรษฐกิจพลิกผันที่ผู้นำและทีมงานต้องทำงานกันเป็นทีม เคารพในความเก่งของกันและกัน ผลัดกันนำผลัดกันสนับสนุนซึ่งกันและกันจึงจะพาองค์กรให้ก้าวหน้าไปได้ ผู้นำแบบข้ามาคนเดียวมันไม่ใช่แบบฉบับที่ยั่งยืนหรอกค่ะ