อนาคตศาสตร์ กับการปรับตัวทางธุรกิจ

อนาคตศาสตร์ กับการปรับตัวทางธุรกิจ

ในทางธุรกิจปัจจุบันอาจจะต้องเสริมคำกล่าวว่า “ผู้ใดเข้าถึงข้อมูล วิเคราะห์ และจัดการมันได้ ผู้นั้นครองใจลูกค้า”

เพิ่มจากคำกล่าว “ผู้ใดครองเทคโนโลยี ผู้นั้นครองโลก” ในอดีต  ปัจจุบันการคาดการณ์อนาคตเพื่อกำหนดกลยุทธ์และวิธีการทำธุรกิจ (Strategic Foresight) เริ่มทวีความสำคัญ หลายประเทศในโลก หรือแม้แต่หลายองค์กรในไทยจึงจัดตั้งกลุ่มงานจนถึงตั้งเป็นองค์กรขึ้นมาเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว การจำลองสถานการณ์ที่หลากหลายเพื่อพิจารณาทางเลือกทางรอดและโอกาสใหม่ๆ (Foresight framework and scenario) กำลังเป็นอีกหนึ่งศาสตร์ที่น่าสนใจและท้าทายความสามารถมาก

BCG Research and Analysis ที่จัดทำโดย Boston Consulting Group เป็นหนึ่งตัวอย่าง ซึ่งผมได้เคยมีโอกาสเขียนถึงครั้งหนึ่งแล้วแบบย่อๆ ครั้งนี้ถือโอกาสนำมาขยายความมากขึ้น เพราะเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการ ผู้บริหาร และคนทำงานทุกคนในปัจจุบัน ควรตระหนักและให้ความสำคัญกับมันมากขึ้น ความชะล่าใจในผลประกอบการหรือผลงานที่ทำได้ดีในอดีต ไม่ใช่สิ่งที่จะรับประกันความสำเร็จในอนาคตอีกต่อไป ยิ่งองค์กรของท่านอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว กำลังอยู่ในจุดสูงสุดของยอดคลื่นหรือ S-Curve ของเทคโนโลยีแบบเก่า การที่จะต้องเร่งรับมือกับการเปลี่ยนแปลงก่อนที่มันจะมาเยือน (Proactive to transformation) น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่าจะปล่อยให้ตัวเองและองค์กรไปอยู่ในจุดที่เป็นขาลงแล้วถึงค่อยมาคิดรับมือ (Reacting to transformation) ซึ่งอาจจะสายไปเสียแล้ว

รายงานดังกล่าวได้คาดการณ์ถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงโลกที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จากการวิเคราะห์ข้อมูลและการสัมภาษณ์ผู้บริหารองค์กรชั้นนำมากมายทั่วโลก ออกมาเป็นข้อสรุปถึงแรงขับสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการปฏิวัติรูปแบบและวิธีการทำงานภายในองค์กรธุรกิจในอนาคต 12 หัวข้อ แบ่งออกเป็น 2 ด้านคือ (1) ด้านการเปลี่ยนแปลงในอุปสงค์หรือความต้องการความรู้ความสามารถใหม่ขององค์กร และ (2) ด้านการเปลี่ยนแปลงในอุปทานหรือการจัดหาให้มีความรู้ความสามารถใหม่ที่องค์กรต้องการ

ด้านการเปลี่ยนแปลงในอุปสงค์หรือความต้องการความรู้ความสามารถใหม่ในองค์กร (Changes in the demand for talent) ประกอบด้วย

1.ระบบอัตโนมัติ (Automation) ในบทสรุปบอกว่าเกือบครึ่งหนึ่งของตำแหน่งงานในสหรัฐอเมริกาจะถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติในปี ค.ศ. 2050 ซึ่งถ้าการคาดการณ์นี้ถูกต้อง สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้วก็น่าจะมีเวลาที่ไล่เลี่ยกันหรือหลังจากนั้นเล็กน้อย แต่ในประเทศกำลังพัฒนาคงล่าช้าไปกว่านั้นพอสมควร มองในแง่ดีสำหรับไทยก็ยังมีเวลาปรับตัวและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงด้านแรงงานอยู่บ้าง แต่ในที่สุดก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะปัจจุบันเห็นสัญญาณเตือนแล้วในบางอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะแขนกลในโรงงาน หุ่นยนต์ที่เป็นรูปร่าง จนถึง AI ที่จับต้องไม่ได้แต่มีการทำงานเลียนแบบสมองคน

2.การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data and advanced analytics) โดยประมาณการว่าข้อมูลจำนวน 5 quintillion bytes (quintillion bytes เท่ากับ ล้านล้านล้านไบท์ หรือ 10 ยกกำลัง 18) เกิดขึ้นทุกวัน เพราะทุกคนในโลกใช้อินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางหลักในการสื่อสารชีวิตประจำวัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และทำธุรกิจ) กล่าวได้ว่าถ้าเราอยากจะรู้ว่าใครหรือกลุ่มคนคิดอะไร สนใจอะไร ต้องการอะไร และกำลังจะทำอะไร สามารถวิเคราะห์ได้จากข้อความ ภาพ และเสียงที่อยู่ในโลกออนไลน์ การตามติดชีวิตลูกค้าจึงเกิดขึ้นได้ง่ายมาก

3.การเข้าถึงข้อมูลและการสร้างสรรค์ให้เกิดไอเดียใหม่ (Access to information and ideas) รายงานดังกล่าวคาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2020 ประชากรโลก 6 พันล้านคนจะใช้อุปกรณ์พกพาขนาดเล็ก (Smart devices) กว่า 11.6 พันล้านเครื่อง ในการเข้าถึงสิ่งต่างๆในโลกนี้ ปัจจุบันการแจ้งเตือน การระบุตำแหน่ง และการตอบรับ สามารถทำได้ผ่านนาฬิกาข้อมือ ในอนาคตปากกาที่เราใช้ กระเป๋าที่เราถือ สิ่งต่างๆที่ติดตัวเราหรือแวดล้อมตัวเราในสถานที่ต่างๆก็สามารถจะสื่อสารและมีปฏิสัมพันธ์กับเราได้อย่างน่าทึ่ง

4.ความเรียบง่ายภายใต้ความซับซ้อนของโลก (Simplicity in complexity) ผลสำรวจพบว่าผู้จัดการหรือผู้บริหารในส่วนต่างๆขององค์กรต่างพูดตรงกันว่าความซับซ้อนของระบบและโครงสร้างขององค์กรกำลังเป็นปัญหา สร้างความเทอะทะ และทำให้สมรรถนะโดยรวมขององค์กรตกต่ำลง การทำอะไรให้ง่ายเหมือนกับที่เด็กเล็กๆสามารถใช้สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต แม้ไม่รู้หนังสือ ไม่ต้องอ่านการใช้งาน การออกแบบ UI/UX (User interface / User experience) ของ App ที่แค่มองเห็นก็รู้และเข้าใจ ทำได้ในทันที เป็นความท้าทายใหม่ในโลกธุรกิจ

5.ความว่องไวและการสร้างสิ่งใหม่ (Agility and Innovation) การที่ต้องตอบสนองให้ทันกับความต้องการของลูกค้า แนวโน้มของตลาด และการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้าอย่างมากในปัจจุบัน ทำให้งานทำซ้ำที่เราคุ้นชินและทำอยู่ทุกวันไม่ใช่เรื่องสำคัญที่พนักงานจะต้องใส่ใจอีกต่อไป แต่การประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่กำลังกลายเป็นงานหลักที่ทุกคนต้องทำมากขึ้น คำว่า “นวัตกรรม” จึงไม่ใช่แค่แฟชั่น แต่เป็นความอยู่รอด

6.กลยุทธ์ใหม่ที่สอดรับกับความต้องการลูกค้า (New customer strategies) ในรายงานระบุว่าผู้บริโภคร้อยละ 66 จาก 60 ประเทศยินดีและเต็มใจที่จะจ่ายให้กับสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้ผมนึกถึงการรณรงค์งดใช้ถุงพลาสติกในบ้านเรา ซึ่งมีความพยายามหลายครั้งแต่ยังไม่เป็นผล แต่ในครั้งนี้ผมค่อนข้างเชื่อมั่นอย่างมาก เพราะหน่วยธุรกิจมากมายขานรับ อีกทั้งผู้บริโภคก็ตระหนัก จะเห็นว่าค้าปลีกสมัยใหม่และห้างสรรพสินค้าชั้นนำต่างออกมาขานรับ บางแห่งถึงขั้นกำหนดเป็นนโยบาย และมีเป้าหมายชัดเจนว่า “งดให้ถุงแบบ 100%” ความยืดหยุ่นในการปรับตัวให้สอดรับกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป การกำหนดแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจแบบยาวๆ ที่มองไกลออกไป 5-10 ปีแบบในอดีต คงไม่เหมาะแล้ว เพราะยิ่งไกลความถูกต้องยิ่งน้อย กลยุทธ์ 1 ปีหรือ 2 ปี จึงมีความเป็นไปได้สูงและแม่นยำกว่า