ชมรมสมาชิกรัฐสภาสตรีไทย สู้ สู้ !

ชมรมสมาชิกรัฐสภาสตรีไทย สู้ สู้ !

ชื่อภาษาอังกฤษว่า Thai Women Parliamentarian หรือ ชมรมสมาชิกรัฐสภาสตรีไทย อยู่ในระหว่างเตรียมการครั้งใหม่

หลังว่างเว้นไป 5-6 ปีในช่วงที่เราไม่มีรัฐสภา ไม่มีการเลือกตั้ง ไม่มีใครจะมาเป็นสมาชิกชมรมสมาชิกรัฐสภาสตรีไทย ซึ่งธรรมนูญกำหนดว่าสมาชิกต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสตรีและสมาชิกวุฒิสภาสตรี

ตั้งแต่เรากลับสู่ระบบรัฐสภาหลังเลือกตั้ง สมาชิกรัฐสภาสตรีที่มีประมาณ 40-50 คน เพิ่งจะได้มาประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 สิงหานี้เอง ทั้งสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งและแต่งตั้ง เพื่อเตรียมงานเสนอตามขั้นตอนเรื่องงานของชมรมฯต่อประธานรัฐสภา นายชวน หลีกภัย โดยมีประธานชมรมฯ คนสุดท้ายก่อนเกิดการว่างเว้น วันเพ็ญ พร้อมพัฒน์ ส.ส. เพชรบูรณ์ ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม

ชมรมสมาชิกรัฐสภาสตรีไทยอยู่ในสังกัดงานกิจการรัฐสภาระหว่างประเทศ (Inter Parliamentary Affairs)ของรัฐสภา ซึ่งในช่วงนี้เราจะได้ยินชื่อและเห็นผลงานระหว่างประเทศของรัฐสภาบ่อยขึ้นจากงานประชุมต่างๆ ตามภาระหน้าที่ของไทยที่รับไม้ต่อการเป็นประธานสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ตามวาระ ขณะที่สมาคมฯ กำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 52 ท่ามกลางความท้าทายมากขึ้นในโลกยุคดิจิทัล

ไม่เพียงเชื่อมั่นส่งเสริมระบบรัฐสภา ชมรมสมาชิกรัฐสภาสตรีมีหน้าที่เสริมสร้างสัมพันธ์กับชมรมหรือองค์กรสมาชิกรัฐสภาสตรีในนานาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสมาชิกรัฐสภาสตรี ในสหภาพรัฐสภา หรือไอพียู  (Inter Parliamentary Union) ซึ่งรัฐสภาไทยเป็นสมาชิกมาตั้งแต่ปี 2493 สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกฯ ปัจจุบันมีสมาชิก 173 ประเทศ

สหภาพรัฐสภา (IPU)จัดตั้งเป็นรูปร่างขึ้นก่อนที่ไทยจะมีระบอบรัฐสภาถึง 44 ปี เป็นองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศมายาวนาน ในปี 2431 สมาชิกแห่งรัฐสภา 95 คน จากประเทศต่างๆ ประกอบด้วย ฝรั่งเศส อังกฤษ เบลเยียม เดนมาร์ก ฮังการี อิตาลี ไลบีเรีย สเปน และสหรัฐอเมริกา รวม 9 ประเทศ ได้เข้าร่วมประชุมที่กรุงปารีส ก่อตั้งสหภาพฯ ด้วยเห็นความสำคัญและเชื่อมั่นระบบรัฐสภา

น่าสนใจทีเดียวที่มติแรกของการประชุมสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 1 นั้น มีว่า "การดำเนินงานของรัฐสภาทั้งหลายนั้น รู้สึกว่าเป็นการกระทำที่ห่างจากความคิดเห็นของประชาชนไปทุกๆ ที ฉะนั้น จึงเป็นหน้าที่ของผู้แทนปวงชนที่ได้รับการเลือกขึ้นมาจะได้ทำหน้าที่ของตนเกี่ยวกับงานของนโยบายในการที่จะนำประเทศของตนไปสู่ความยุติธรรม การนิติบัญญัติและภราดรภาพ"

นอกจากแรกเริ่มที่เชื่อมั่นส่งเสริมระบบรัฐสภาให้ใกล้ชิดประชาชน สหภาพรัฐสภาในฐานะเป็นศูนย์กลางการประชุมรัฐสภานานาชาติมาตั้งแต่ ปี 2442 มีเป้าหมายดำเนินการเพื่อสันติสุขและความร่วมมือระหว่างประชาชน อีกทั้งจัดตั้งสถาบันที่มั่นคงของผู้แทนปวงชน ด้วยการส่งเสริมการติดต่อ ประสานงาน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างรัฐสภาและสมาชิกของรัฐสภาทั่วโลก สนับสนุนการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนภายใต้กรอบกติกาสากล เพราะเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาที่เห็นความสำคัญและมีวาระส่งเสริมสิทธิเสมอภาคและความก้าวหน้าของสตรี โดยเฉพาะในทางการเมือง ตลอดจนส่งเสริมกระบวนการสร้างความเข้มแข็งและการพัฒนาที่มั่นคงของผู้แทนประชาชน โดยร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติและกับองค์การระหว่างประเทศอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีวัตถุประสงค์ร่วมกัน

เนื่องด้วยระบอบรัฐสภาของเราเดินๆ หยุดๆ  จากการรัฐประหาร ยุบสภา ไทยเคยถูกระงับการเป็นภาคีแห่งสหภาพฯ แต่ชมรมฯ ก็กลับมาทำงานเมื่อมีการรับรองไทยเป็นภาคีแห่งสหภาพฯ อีกครั้งจนถึงวันนี้ คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ และ นางสาวกัญจนา ศิลปอาชา เคยได้รับเลือกเป็นคณะกรรมการประสานงานสมาชิกรัฐสภาสตรี ในฐานะตัวแทนของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก

รัฐสภาที่แข็งแกร่งทำงานเกิดผลจะเป็นรากฐานที่มั่นคงของประชาธิปไตยได้ ที่ชมรมสมาชิกรัฐสภาสตรีไทยกำลังจะกลับมาทำงาน จึงควรยึดหลักการตามธรรมนูญให้แม่นยำ มีเป้าหมายให้รวมเป็นหนึ่งเดียวกันในฐานะสมาชิกรัฐสภาเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่ง สมาชิกจะต้องไม่เสียเวลา มัวแต่แบ่งพรรคหรือ(ปล่อยให้)มีพรรคใดครอบครองชมรมฯ ทำเสมือนงานของชมรมฯเป็นงานของพรรคดังที่อาจเคยเกิดมาบ้างแล้ว ต้องพร้อมใจกันทำชมรมฯให้เติบโตเป็นองค์กรสมาชิกรัฐสภาที่เข้มแข็งของไอพียู ใช้ชมรมฯเป็นเวทีเพิ่มบทบาทความน่าเชื่อถือสมาชิกรัฐสภาสตรีไทยทั้งในระดับชาติ ภูมิภาคและในเวทีโลกที่นับวันจะยิ่งท้าทายให้สตรีมีส่วนร่วม

นอกจากการเตรียมการของชมรมสมาชิกรัฐสภาสตรีไทย ในช่วงนี้กิจการรัฐสภาต่างประเทศที่เกี่ยวกับสตรี คือการประชุมใหญ่สมัชชารัฐสภาอาเซียน ครั้งที่ 40 ระหว่าง 25-30 สิงหานี้ ที่รัฐสภาไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ในหัวข้อ “นิติบัญญัติร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล เพื่อประชาคมที่ยั่งยืน” หนึ่งใน 9 ประเด็นหลักเสนอต่อที่ประชุม คือสนับสนุนความเท่าเทียมกันทางเพศและการเสริมสร้างศักยภาพของสตรีในอาเซียนซึ่งวันสุดท้ายการประชุมนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาในฐานะประธานการประชุมสมัชชารัฐสภาอาเซียน จะส่งมอบตำแหน่งประธานสมัชชารัฐสภาอาเซียนให้แก่ประธานสภาแห่งชาติสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามนาง เหงียน ถิ ขิม  ประธานสภาแห่งชาติคนแรกของเวียดนามที่เป็นสตรี(รับตำแหน่งมีนาคม 2559) เธอเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนของเวียดนามในการมาประชุมครั้งนี้

ควรจับตาดูมติน่าสนใจจากการประชุมฯโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับความเท่าเทียมกันทางเพศ(น่าจะครอบคลุมความหลากหลายทางเพศซึ่งร่างพรบ.คู่ชีวิตของไทยที่กำลังรอเข้าสภาฯอยู่จะเป็นการบุกเบิกทางนิติบัญญัติที่สำคัญ)และการเสริมสร้างศักยภาพสตรีในอาเซียน

อีกทั้งในฐานะประมุขฝ่ายรัฐสภา นายชวน หลีกภัย จะนำประเด็นใดมติใดมาร่วมผลักดันเป็นนโยบายด้านนี้ในรัฐสภาไทย.