อนาคตมหาวิทยาลัยไทย พลิกตัวสู่ความยั่งยืน

อนาคตมหาวิทยาลัยไทย พลิกตัวสู่ความยั่งยืน

โมเดลมหาวิทยาลัยในยุคใหม่จะต้องตอบโจทย์อนาคตที่สำคัญ ได้แก่ การตอบโจทย์ทักษะและงานในอนาคตของนักศึกษา

การตอบโจทย์ประสบการณ์การเรียนรู้ของนักศึกษารุ่นใหม่ และการตอบโจทย์การสร้างงานวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมแห่งอนาคต

ในบทความนี้จะกล่าวถึงโจทย์ที่สำคัญอีก 2 ประการที่มหาวิทยาลัยไทยในอนาคตจะต้องพิจารณาคือ การตอบโจทย์อนาคตความท้าทายของสังคมและชุมชน (Future of Society) และการตอบโจทย์ด้านโมเดลรายได้และความมั่นคงทางการเงินของมหาวิทยาลัยในระยะยาว นอกเหนือจากการได้รับงบประมาณจากประมาณแผ่นดิน (Future of Revenue Model)

ในส่วนของสังคมและชุมชนนั้น มหาวิทยาลัยมีบทบาทดังกล่าวมาแล้วอย่างยาวนาน ในอนาคตเมื่อสังคมมีพลวัตการเปลี่ยนแปลงสูง บทบาทของมหาวิทยาลัยจะยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากปัญหาสังคมที่มีความสลับซับซ้อนสูงขึ้น มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมาก และมีโจทย์ที่ยังต้องการความรู้อีกมาก จึงจำเป็นเป็นอย่างยิ่งที่มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะพัฒนาตนเองเพื่อเป็นแพลตฟอร์มในการสร้าง “ปัญญา” (Wisdom) ร่วมกับสังคม ทั้งในระดับชุมชนท้องถิ่น จังหวัด ประเทศและประชาคมโลก

ในระดับชุมชนท้องถิ่นและจังหวัด มหาวิทยาลัยที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กับพื้นที่สูงจะมีบทบาทที่สำคัญและข้อได้เปรียบในการร่วมแก้ไขปัญหาในชุมชนพื้นที่ใกล้ตัว ทั้งในด้านการบริหารจัดการพื้นที่ การเพิ่มมูลค่าสินค้าของชาวบ้าน การยกระดับคุณภาพชีวิตคนในชุมชนทั้งเด็กและผู้สูงอายุ การบริหารจัดการความขัดแย้งในการใช้ทรัพยากร การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม การพัฒนาเพิ่มทักษะให้กับชาวบ้าน เป็นต้น โดยมหาวิทยาลัยซึ่งมีทรัพยากรหลักคือคณาจารย์และนักศึกษาสามารถเข้าไปร่วมทำงานกับชุมชนในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ด้วยกัน ซึ่งนอกจากจะมีส่วนช่วยทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านในพื้นที่ดีขึ้นแล้ว ยังจะช่วยให้นักศึกษาและคณาจารย์ได้เรียนรู้โลกจากความเป็นจริง นำศาสตร์ที่เชี่ยวชาญเข้าไปประยุกต์ใช้กับสังคมตามบริบทที่เป็นจริง สร้างผลกระทบต่อชุมชน และนำความรู้ใหม่ที่ได้จากการทำงานร่วมกับชาวบ้านมาต่อยอดพัฒนาเป็นองค์ความรู้ใหม่เป็นวงจรพัฒนาความรู้ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่รู้จบ

ในระดับของสังคม ปัญหาสังคมไทยมีความสลับซับซ้อนมากขึ้นตามลำดับ มหาวิทยาลัยสามารถมีบทบาทในการร่วมแก้ไขปัญหาสังคมที่มีอยู่อย่างมากมายตามจุดแข็งของมหาวิทยาลัย โดยแต่ละมหาวิทยาลัยสามารถจัดตั้งห้องปฏิบัติการทางสังคม (Social Lab) ขึ้น เพื่อระดมทรัพยากรของมหาวิทยาลัยจากคณะต่างๆ บนพื้นฐานของสหสาขาวิชาการหรือสรรพศาสตร์มาร่วมกันแก้ไขปัญหาสังคมให้กับประเทศ โดยเฉพาะปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ปัญหาความขัดแย้งและความปรองดอง ปัญหาความยากจน ปัญหาการแย่งชิงทรัพยากร ความมั่นคงทางอาหาร น้ำและพลังงาน และอื่นๆ

มหาวิทยาลัยสามารถนำ “โจทย์ทางสังคม” ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันหรือที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคตเป็นตัวตั้ง แล้วนำสรรพศาสตร์มาเข้าใน Social Lab ผ่านกระบวนการทางวิชาการ การจัดประชุมเชิงปฎิบัติการที่สร้างสรรค์ (Co-Creation Workshop) การพูดคุยร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในสังคมทั้งภาคนโยบาย ภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนและชุมชน บนพื้นฐานขององค์ความรู้และความเข้าใจร่วมกัน เพื่อหาทางออกของปัญหาประเทศและสร้างความเคลื่อนไหวทางสังคมร่วมกัน เปลี่ยนจากความขัดแย้งที่มีคนได้คนเสียประโยชน์ไปสู่การร่วมกันคิดเพื่อสร้างคำตอบใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์ให้กับสังคมไทย

นอกจากนี้ ชุมชนระดับใหญ่คือประชาคมโลก มหาวิทยาลัยหลายแห่งก็สามารถเข้าร่วมแก้ไขปัญหาระดับโลกได้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะปัญหาที่มนุษยชาติจะต้องเผชิญร่วมกันทั้งความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางพลังงาน การพัฒนาอย่างยั่งยืน มลภาวะทางทะเลและมหาสมุทร ฝุ่นละอองระหว่างประเทศ การเคลื่อนย้ายหรือการอพยพคนระหว่างประเทศ วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ เป็นต้น การเข้าร่วมกับชุมชนทางวิชาการระดับโลกและเวทีความร่วมมือการแก้ไขปัญหาข้ามพรมแดนต่างๆ จะทำให้มหาวิทยาลัยไทยยกระดับขึ้นไปอยู่เวทีโลกและมีบทบาทที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาสังคมให้กับมนุษยชาติ

สำหรับโจทย์สุดท้ายที่แต่ละมหาวิทยาลัยจะต้องนำไปพิจารณาก็คือการพัฒนาโมเดลธุรกิจหรือโมเดลรายได้ให้มีความยั่งยืน โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยรัฐที่ยังพึ่งพางบประมาณแผ่นดินเป็นสำคัญ ทั้งนี้ โดยหลักการแล้ว การศึกษาระดับสูงอย่างระดับมหาวิทยาลัยสร้างผลประโยชน์ทางบวกให้กับสังคมหรือในทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่าเกิดผลกระทบทางบวกภายนอกสูง (Positive Externality) แต่สร้างรายได้ให้กับมหาวิทยาลัยไม่มากนัก ซึ่งเป็นเหตุสำคัญที่ภาครัฐจะต้องอุดหนุนงบประมาณเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการลงทุนในการศึกษาระดับอุดมศึกษาต่ำจนเกินไป

อย่างไรก็ตาม เมื่อมหาวิทยาลัยภาครัฐออกนอกระบบ ก็จำเป็นที่จะต้องมีการคิดถึงโมเดลธุรกิจในรูปแบบใหม่ๆ คู่ขนานไปด้วย เพื่อเสริมเติมงบประมาณ หรือลดต้นทุนการดำเนินงานให้ต่ำลงผ่านการลดค่าใช้จ่าย การใช้เทคโนโลยีเพื่อบริหารจัดการ ไปจนถึงการยุบหรือปรับปรุงบางคณะบางสาขาวิชา ไปจนถึงการควบรวมมหาวิทยาลัยให้เกิดพลังและใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งพัฒนาโมเดลเพื่อสร้างรายได้ใหม่ๆ บนพื้นฐานของจุดแข็งด้านอุดมศึกษาของแต่ละมหาวิทยาลัย โดยไม่ทิ้งจุดยืนของการเป็นแหล่งการเรียนรู้การศึกษาระดับสูง ดังที่หลายมหาวิทยาลัยไทยในปัจจุบันกำลังพัฒนาโมเดลใหม่ๆ ออกมาอย่างน่าสนใจ

โดยสรุปแล้ว มหาวิทยาลัยไทยกำลังอยู่ในห้วงเวลาที่ต้องปรับเปลี่ยนตนเองขนานใหญ่อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายต่อมหาวิทยาลัยที่ถือได้ว่าเป็นสถานที่ที่สะสมภูมิปัญญาและมีบุคลากรและครูบาอาจารย์ที่มีความสามารถระดับสูงของประเทศ ดังนั้น การปรับตัวของมหาวิทยาลัยสู่ยุคใหม่ได้อย่างประสบความสำเร็จก็จะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับภาคส่วนต่างๆ ในสังคมไทยได้เรียนรู้ถึงวิธีการเปลี่ยนตัวเองเพื่อยืนหยัดขึ้นได้อย่างยั่งยืนในศตวรรษที่ 21 ที่แสนท้าทายนี้

โดย... 

ธราธร รัตนนฤมิตศร

ประกาย ธีระวัฒนากุล

สถาบันอนาคตไทยศึกษา

Facebook.com/thailandfuturefoundation