คกก.แข่งขันการค้าฯ ยักษ์ที่เริ่มมีและใช้กระบองแล้ว

คกก.แข่งขันการค้าฯ ยักษ์ที่เริ่มมีและใช้กระบองแล้ว

การประกอบธุรกิจ ถ้ามีการผูกขาดหรือลดการแข่งขันจะก่อผลเสียหายต่อผู้บริโภค ผู้ประกอบการ และผู้ผลิตรายอื่น

คือ หากมีการผูกขาด ผู้ประกอบการที่ผูกขาดจะสามารถกำหนดราคาได้ในราคาสูงฯได้ตามที่ต้องการ และอาจไม่รักษาคุณภาพมาตรฐานของสินค้าและบริการ ทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบไม่มีทางเลือก ขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็จะสามารถกดราคารับซื้อสินค้า วัตถุดิบ หรือค่าบริการที่ต้องใช้บริการจากผู้ประกอบการอื่น ซึ่งจะเกิดผลเสียหายต่อผู้ผลิตวัตถุดิบหรือสินค้าซึ่งรวมถึงเกษตรกรด้วย และเสียหายต่อผู้ให้บริการอื่นด้วย

ประเทศในโลกนี้ร้อยกว่าประเทศ มีการตรากฎหมายป้องกันการผูกขาดและลดการแข่งขันออกใช้บังคับ เพื่อให้การประกอบธุรกิจมีการแข่งขันกันอย่างเสรี ชื่อกฎหมายอาจเรียกต่างกัน เช่น สหรัฐ ตรากฎหมายที่เรียกว่า Antitrust law ทั้งเป็นกฎหมายของมลรัฐ และกฎหมายของรัฐบาลกลาง ส่วนสหภาพยุโรป(อียู)ตรากฎหมายที่เรียกว่า Competition law

คดีต่อต้านการผูกขาดในสหรัฐที่โด่งดังคือ คดีระหว่างรัฐบาลสหรัฐกับบริษัทไมโครซอฟท์ จำกัด กรณีที่ไมโครซอฟท์ ซึ่งครองตลาดระบบปฏิบัติการวินโดวส์ สำหรับคอมพิวเตอร์ PCแล้วพ่วง Web browser Internet Explorer เข้าไปกับวินโดวส์ด้วย เท่ากับผู้ซื้อและใช้วินโดวส์ถูกบังคับโดยปริยายต้องใช้ internet Explorer ตัดโอกาสผู้ประกอบการ Web browser รายอื่น

ในปี 2543 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ไมโครซอฟท์ แยกกิจการเป็น 2 บริษัท คือบริษัทที่ผลิตระบบปฏิบัติการ และบริษัทที่ผลิตซอฟแวร์ ทางไมโครซอฟท์ยื่นอุทธรณ์ ต่อมามีการทำความตกลงระงับข้อพิพาท โดยไมโครซอฟท์ตกลงจะแบ่งปันโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของตนให้กับบริษัทที่เป็นบุคคลที่ 3

สำหรับคดีในอียูที่โด่งดัง คือ กรณีคณะกรรมาธิการอียู ออกคำสั่งเมื่อ18 ก.ค.2562 ปรับกูเกิล 4,342,865,000 ยูโร หรือประมาณ 168,000 ล้านบาท จากการที่กูเกิลกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ จ่ายเงินก้อนโตให้ผู้ผลิตโทรศัพท์และผู้ประกอบการให้บริการเครือข่ายต้องลงแอพ กูเกิลเสิร์ซ และบราวเซอร์ Chrome เป็นพื้นฐาน ซึ่งเป็นการทำลายการแข่งขันในตลาดโทรศัพท์มือถือ

ในปี 2542 ประเทศไทย ได้ตรากฎหมายต่อต้านการผูกขาดออกใช้บังคับ โดยเป็นส่วนหนึ่งของพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)กำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด พ.ศ.2522 ต่อมาได้มีการยกเลิกแล้ว ตรากฎหมายป้องกันการผูกขาดออกมาใช้บังคับเป็นการเฉพาะ คือ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 มีผลใช้บังคับตังแต่วันที่ 1 พ.ค. 2542 แต่ในช่วงเวลาที่ พ.ร.บ.นี้มีผลใช้บังคับ มีการแต่งตั้งอนุกรรมการขึ้นไต่สวนผู้ประกอบธุรกิจที่กระทำการเข้าข่ายฝ่าฝืนพ.ร.บ. ดังกล่าวรวม 16 กรณี แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีผู้ประกอบการรายใดถูกลงโทษ แม้แต่รายเดียว

ต่อมาในปี2560 มีการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า โดยยกเลิก พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 และตรา พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 ออกใช้บังคับแทนมีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 5 ต.ค.2560 เป็นต้นไป สาระสำคัญคือ

ปรับปรุงคำนิยามให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และเพิ่มเติมคำนิยามขึ้นใหม่ เช่นความหมายของคำว่า ตลาด

ปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการการแข่งขัน ประกอบด้วยประธานกรรมการ รองประธานกรรมการหนึ่งคน และกรรมการอื่น 5 คนที่นายกฯ แต่งตั้งจากบุคคลที่ผ่านการคัดเลือก ซึ่งปลอดจากการเมืองในระดับที่ดีกว่ากฎหมายเดิม เพราะกฎหมายเดิมกำหนดให้รมว. พาณิชย์ เป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง

กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการให้ชัดเจนและมีอำนาจเพื่อการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจให้เป็นไปอย่างเสรีเป็นธรรมมากขึ้น

กำหนดข้อห้ามในการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการที่มีอำนาจเหนือตลาด เช่น กำหนดราคาซื้อขายและคงระดับราคานั้นอย่างไม่เป็นธรรม กำหนดเงื่อนไขที่เป็นการเอาเปรียบผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นคู่แข่ง ระงับ ลดหรือจำกัดการบริการการผลิต การซื้อขาย

กำหนดให้การรวมธุรกิจ ที่อาจก่อให้เกิดการลดการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญ ในตลาดใดตลาดหนึ่ง ต้องแจ้งผลการรวมธุรกิจต่อคณะกรรมการภายใน 7 วัน นับแต่วันรวมธุรกิจ ส่วนการรวมธุรกิจอันอาจก่อให้เกิดการผูกขาดหรือการเป็นผู้ประกอบการที่มีอำนาจเหนือตลาด ต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ

ให้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า เป็นหน่วยงานของรัฐ ที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ มีฐานะเป็นนิติบุคคล เป็นหน่วยงานอิสระ มีเลขาธิการเป็นผู้รับผิดชอบการปฏิบัติงาน ขึ้นตรงต่อประธานกรรมกา ซึ่งน่ามีความคล่องตัวกว่าเดิมที่เป็นเพียงกองกองหนึ่งในกรมการค้าภายใน

นอกเหนือจากอำนาจในการสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ฝ่าฝืนหรือจะฝ่าฝืนบทบัญญัติต่างฯที่เป็นข้อห้ามเพื่อป้องกันการผูกขาดและลดการแข่งขัน ให้ ระงับ หยุด หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงการกระทำ แล้วคณะกรรมการยังมีอำนาจ ออกคำสั่งกำหนดค่าปรับทางปกครอง สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติที่เป็นการป้องกันการผูกขาดและลดการแข่งขัน ในอัตราสูง และมีผลบังคับได้โดยไม่ต้องฟ้องต่อศาล ซึ่งเป็นอำนาจที่บัญญัติขึ้นใหม่ นอกจากนี้กฎหมายใหม่ ยังเปิดช่องให้บุคคลที่ได้รับความเสียหาย จากการที่ผู้ประกอบธุรกิจฝ่าฝืนกฎหมายการแข่งขันทางการค้า มีสิทธิฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายจากผู้ประกอบธุรกิจที่ฝ่าฝืนได้

จากบทบัญญัติของกฎหมายการแข่งขันทางการฉบับใหม่ดังกล่าวข้างต้น น่าจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายป้องกันการผูกขาดและลดการแข่งขัน เห็นผล ได้ดีกว่ากฎหมายเดิม ล่าสุดมีการแถลงข่าวว่า เมื่อต้นเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการได้มีมติให้ปรับบริษัทผู้ประกอบธุรกิจผลิตเครื่องดื่มชูกำลังและกรรมการบริษัท ที่กระทำความผิดฝ่าฝืนกฎหมายแข่งขันทางการค้าเป็นจำนวนเงินรายละ 6 ล้านบาท และปรับผู้รับซื้อผลิตผลทางเกษตรที่มีพฤติกรรมทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม เป็นเงิน 25.000 บาท และเชื่อว่า คณะกรรมการการแข่งขันท่งการค้าคงจะดำเนินการบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้า เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและผู้ประกอบการที่ถูกเอาเรียบ ตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายแข่งขันฉบับใหม่ให้อำนาจไว้อย่างแข็งขันต่อไป