การทำตามนโยบายสาธารณสุข ตามที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภา(2)

การทำตามนโยบายสาธารณสุข ตามที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภา(2)

ค.นโยบาย “พัฒนาการบริการทางการแพทย์ให้มีคุณภาพทัดเทียมกันทั่วทุกพื้นที่” ปัจจุบันจำนวนแพทย์พยาบาล

ที่เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการบริการทางการแพทย์ ในแต่ละภาคต่างๆ มีไม่เท่ากัน (เทียบกับจำนวนประชาชนที่รับผิดชอบ)กรุงเทพฯมีมากที่สุด ขณะที่ภาคอีสานมีน้อยที่สุด นอกจากนั้น อาคารสถานที่ เตียง เครื่องมือ เทคโนโลยีก็มีไม่เท่าเทียมกันในแต่ละภาค (รัฐมนตรีสามารถไปขอข้อมูลจากสำนักนโยบายและแผนได้) การกระจายทรัพยากร คน เงิน ของก็ไม่เท่าเทียมกัน จึงต้องแก้ไขการจัดสรรทรัพยากรให้เหมาะสมต่อจำนวนประชาชนด้วย (และจำนวนผู้ป่วย)

ง.นโยบาย “การจะยกระดับการประกันสุขภาพไปสู่แรงงานนอกระบบ คนเขียนนโยบายข้อนี้ ไม่รู้หรือว่า แรงงานต่างๆ นั้น ได้รับการประกันสุขภาพโดยระบบการประกันสังคม รวมทั้งแรงงานต่างด้าว หรือต้องซื้อประกันสุขภาพจากกระทรวงสาธารณสุข ส่วนแรงงานนอกระบบที่เป็นคนไทย ก็ได้รับการประกันสุขภาพจากระบบ 30 บาท ส่วนคนต่างด้าวนั้น ควรต้องซื้อประกันสุขภาพเอง เพราะว่าประเทศอื่นๆ ที่ร่ำรวยก็ไม่ได้ให้ประกันสุขภาพแก่คนที่ไม่ใช่พลเมืองของประเทศของเขา แต่สิ่งสำคัญที่สุดก็คือระบบหลักประกันสุขภาพ (30 บาท) ซื้อบริการจากรพ.ในราคาต่ำกว่าต้นทุน ทำให้โรงพยาบาลขาดสภาพคล่องทางการเงิน ขาดงบประมาณในการพัฒนา และรัฐมนตรีในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่รัฐมนตรีต้องทำตามมติคณะกรรมการ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการที่จะทำตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภาได้(ถ้าคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพไม่ลงมติเห็นชอบด้วย) จึงควรแก้ไขพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2545 ตามที่หัวหน้าคสช. (นายกฯ คนปัจจุบัน) เคยสั่งให้ รมว.สาธารณสุขคนก่อนแก้ไขแล้ว แต่ทำไม่สำเร็จ รัฐมนตรีคนปัจจุบันควรศึกษาเพื่อทำความเข้าใจ จึงจะแก้ปัญหาในข้อข. และข้อ ง.ได้

จ.นโยบาย “ส่งเสริมให้มีมาตรการสร้างเสริมสุขภาพและอนามัยให้คนไทยทุกช่วงวัยมีสุขภาพแข็งแรง และลดอัตราการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง เป็นเรื่องที่ต้องทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง โดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ต้องทำบทบาทนี้ให้เข้มแข็งโดยการให้ความรู้แก่ประชาชนในการสร้างสุขภาพและป้องกันโรค และยังมีสำนักงานสนับสนุนและสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) มีเงินสนับสนุนการดำเนินตามมาตรการนี้ปีละหลายพันล้านบาท รัฐมนตรีในฐานะรองประธานบอร์ด สสส.คนที่ 1 ควรไปกวดขันให้ สสส.นำเงินงบประมาณของสสส.มาทำงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนให้มีประสิทธฺภาพ และมีประสิทธิผล(ตรงประเด็น) ยิ่งขึ้น

ฉ. นโยบาย การจัดให้มีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพของประชาชน” นโยบายข้อนี้กระทรวงสาธารณสุขต้องกระตุ้นกระทรวงเกษตร ให้ยกเลิกการใช้สารเคมีพิษ (พาราควอต คลอไพรีฟอสและไกลโฟเสต ) ที่เกือบทุกประเทศทั่วโลกเขาเลิกใช้กันแล้ว เพราะ รมว.สาธารณสุขเอง(3) และนักวิชาการทางการแพทย์ก็ออกมาตอกย้ำแล้วว่า สารเคมีเหล่านี้ สะสมในสิ่งแวดล้อม ถูกดูดซึมเข้าไปอยู่ในผัก ผลไม้ สัตว์น้ำ สัตว์บกที่ประชาชนต้องกินเข้าไป ทำให้คนไทยมีอัตราการเกิดมะเร็งสูงที่สุดในโลก และเป็นพิษโดยตรงแก่เกษตรกรผู้สัมผัสด้วย ทำให้เกษตรกรได้รับอันตรายจากสารพิษโยตรงและต่อเนื่อง จนเป็นสาเหตุของการเป็นมะเร็งของคนไทยที่มีอัตราสูงที่สุดในโลกเช่นกัน

ช. นโยบาย การลดอัตราการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง กระทรวงสาธารณสุขต้องเร่งให้ความรู้แก่ประชาชน ในการสร้างพฤติกรรมในชีวิตประจำวันให้มีสุขภาพดี จะลดได้ทั้งการเจ็บป่วยทั่วไปและลดโรคเรื้อรัง ยกตัวอย่าง การกินอาหาร การออกกำลังกาย การรักษาอนามัยส่วนบุคคลและบ้านเรือน(ความสะอาด ถูกสุขลักษณะ) การนอนหลับ การขับถ่าย การมีอารมณ์ดี ผ่อนคลาย ไม่เครียด (ที่รู้ๆกันว่า 5 อ. คืออาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์ อุจจาระ อนามัย(สะอาด))

แม้ว่ารัฐมนตรีสาธารณสุข อนุทิน ชาญวีรกุล จะได้มารับตำแหน่งได้ไม่นาน แต่ก็เห็นได้ว่า เขาได้เริ่มพัฒนาการแพทย์แผนไทย ส่งเสริมการใช้กัญชาทางการแพทย์แล้ว ประกาศสนับสนุนการยกเลิกสารเคมีอันตรายแล้ว แต่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังไม่ยอมยกเลิกการใช้สารเคมีพิษเหล่านั้น แต่ในฐานะที่นายอนุทิน ยังดำรงตำแหน่งรองนายกฯ ที่แม้ไม่ได้รับผิดชอบกระทรวงเกษตรฯ หรือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ก็สามารถที่จะประสานงานกับรองนายกฯ คนอื่นที่ดูแลกระทรวงเหล่านั้นเพื่อแก้ไขปัญหาการยกเลิกการใช้สารพิษในทางเกษตรดังกล่าวแล้วให้เกิดขึ้นจริงโดยเร็ว เพื่อที่จะได้ควบคุมสารพิษในสิ่งแวดล้อมที่ก่ออันตรายต่อสุขภาพประชาชนทั้งประเทศ อันเป็นการป้องกันอันตรายต่อสุขภาพประชาชน

โดย... พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา