รัฐทหาร?

รัฐทหาร?

เห็นข่าวรัฐบาลเคาะชื่อเตรียมตั้งเลขาฯสมช.คนใหม่ ซึ่งเป็นนายทหารยศพลเอก ข้ามห้วยมาจากกองทัพ

ทำให้ย้อนนึกไปถึงยุครัฐบาลทักษิณ ที่ตั้งตำรวจไปคุมหน่วยงานสำคัญต่างๆ นับสิบหน่วยงาน แล้วก็วิจารณ์ก่นด่ากันกระหึ่มเมืองว่ากำลังทำให้ประเทศไทยกลายเป็น “รัฐตำรวจ”

แต่ในยุค คสช.ต่อเนื่องถึงรัฐบาล “เรือเหล็ก” ก็เห็นมีการส่งทหารน้อยใหญ่ไปคุมหน่วยงานต่างๆ คล้ายๆ กัน แต่เสียงวิจารณ์กลับไม่ดังเท่าในอดีตว่านี่กำลังสร้าง “รัฐทหาร” หรืออาจเป็นเพราะความเคยชินก็ไม่ทราบได้

ช่วงต้นๆ ของการยึดอำนาจ การส่งทหารเข้าไปคุมหน่วยงานต่างๆ เป็นเรื่องที่พอยอมรับได้ในแง่ความจำเป็น แต่หลังจากกระชับอำนาจมานานถึง 5 ปี ต่อด้วยการสืบทอดอำนาจผ่าน “รัฐธรรมนูญที่เขียนมาเพื่อพวกเรา” มันก็น่าจะถึงเวลาหยุดได้แล้ว น่าจะปล่อยให้ข้าราชการในหน่วยงานนั้นๆ เขาได้เติบโตบ้าง

เลขาฯสมช.คนใหม่นี้ ถ้าเป็นคนเดียวกับที่เป็นข่าว คือ พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา ก็จะนับเป็นเลขาฯสมช.คนที่ 3 ในรอบ 4 ปีที่ข้ามห้วยมาจากกองทัพ ต่อจาก พล.อ.ทวีป เนตรนิยม และ พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ

บางคนเขานินทาว่าการตั้งนายทหารจากกองทัพมาเป็นเลขาฯสมช. ไม่ใช่เพราะรัฐบาลเน้นหนักงานความมั่นคง แต่เหตุผลที่แท้จริงคือเพื่อระบายคนจากกองทัพ ลดปัญหาการแย่งชิงเก้าอี้สำคัญที่มีอยู่น้อยกว่าจำนวนคนที่อยากเป็น

คิดๆ ไปก็เหมือนตอนที่คุณทักษิณใช้ตำแหน่งเลขาธิการ ป.ป.ส. เป็นที่ผ่องถ่ายนายตำรวจระดับสูง ทั้งเพื่อพาสชั้นขึ้นผบ.ตร. และสกัดไม่ให้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดของตำรวจที่กันไว้ให้พรรคพวกตน

ย้อนกลับไปที่ตำแหน่งเลขาฯสมช. แว่วว่า พล.อ.วัลลภ ที่กำลังจะเกษียณ อาจได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ “หัวหน้าคณะพูดคุยดับไฟใต้” สืบแทน “บิ๊กเมา” พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ อดีตแม่ทัพภาค 4 ที่ขณะนี้นั่งเป็น ส.ว.

ตำแหน่งหัวหน้าคณะพูดคุยดับไฟใต้ ก็เป็นอีกตำแหน่งหนึ่งที่ถูกตั้งคำถามว่า ควรเป็นทหารหรือไม่ เพราะทหารคือ “คู่ขัดแย้งโดยตรง” ของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐที่เราไปพูดคุยด้วย เพื่อหาทางออกเชิงสันติวิธี แต่รัฐบาล คสช.และรัฐบาลเรือเหล็ก ก็ตั้ง “นายพล” ไปทำหน้าที่ถึง 2 คนแล้ว และกำลังจะต่อเนื่องเป็นคนที่ 3 การพูดคุยก็ไม่เห็นจะคืบหน้าอะไร (รัฐบาลอภิสิทธิ์ใช้ ดร.มารค ตามไท)

อีกตำแหน่งหนึ่งที่ใช้ทหารไปนั่งคุม แล้วก็ “เละเทะ” ยิ่งกว่าเก่า คือ ศอ.บต. หรือศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปลี่ยนจากหน่วยงานความหวังของคนชายแดนใต้ กลายเป็นหน่วยงานสิ้นหวัง โครงการพัฒนาต่างๆ ถูกตั้งคำถามเรื่องความไม่โปร่งใส อย่างเสาไฟโซลาร์เซลล์ ติดตั้งไป 15,000 กว่าต้น ชำรุดหมื่นกว่าต้น หรือกว่า 70% ละลายงบพันล้าน นอกจากนั้นยังมีข้อครหาและข้อมูลฉาวๆ ที่ทะลักจาก “คนใน” อีกเป็นจำนวนมาก แม้แต่โครงการพาคนพุทธไปแสวงบุญก็ยังไม่เว้น