3 สาเหตุหลักที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงล้มเหลว

3 สาเหตุหลักที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงล้มเหลว

ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เราต่างได้ยินเรื่องทั้งบริษัท สื่อ สิ่งพิมพ์ และผลิตภัณฑ์ที่ต้องล้มหายตายจากไปเพราะไม่สามารถฝ่าคลื่นเศรษฐกิจดิจิทัลไปได้

ทั้งนี้เกิดจากปัจจัยภายนอกที่เปลี่ยนไป อาทิ ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป พนักงานที่เปลี่ยนไป ตลอดจนสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป หากเป็นเช่นนี้จริง ทุกองค์กรก็คงล้มหายตายจากไปหมดเพราะเราต่างอยู่ภายใต้สภาวะแวดล้อมเดียวกัน

เมื่อศึกษาย้อนกลับไปถึงบริษัทที่สามารถยืนหยัดประสบความสำเร็จท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนไป จะพบว่ามีหลากหลายบริษัททีเดียวที่ให้ความสำคัญกับปัจจัยภายใน นั่นคือ การสร้างคน สร้างองค์กร และสร้างวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง พร้อมเผชิญ “พร้อมนำพาการเปลี่ยนแปลง” แทนรอจนตัวเองต้อง “ถูกเปลี่ยนแปลง” ผ่านโครงการปฏิรูป หรือที่เรียกว่า Transformation

เมื่อพูดถึงคำว่า Transformation เราตั้งข้อสังเกตว่าหากเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นเรื่องส่วนตัว เช่น การลุกขึ้นมาตั้งเป้าลดน้ำหนัก วิ่งมาราธอน เรียนทำอาหาร เริ่มงานอดิเรกใหม่ ๆ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ดูมีพลังเพราะเป็นสิ่งที่เจ้าตัวลุกขึ้นมาอยากปฏิรูปตนเอง

อย่างไรก็ดี จากการศึกษาพบว่ามีคนถึง 80% ที่ลุกขึ้นมาตั้งเป้าปฏิรูปตนเอง แต่มีเพียง 20% ที่ประสบผลสำเร็จ นี่ขนาดเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงตนเอง หากเป็นการเปลี่ยนแปลงองค์กร ความท้าทายจะยิ่งมากกว่านี้

3 สาเหตุหลักที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงล้มเหลว

3 สาเหตุหลักที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงล้มเหลว

1. เริ่มช้าไป เจ้าตัวหรือผู้นำขาดจิตสำนึกแห่งความเร่งรีบ (sense of urgency) หรือเรียกอาการนี้ง่าย ๆ ว่า “เฉื่อย” กว่าจะมาเริ่มคิดเปลี่ยนแปลงก็พบว่าอาการโคม่าไปซะแล้ว เชื่อไหมคะ ว่าดิฉันเคยไปสวัสดีปีใหม่ผู้นำองค์กรหนึ่ง จึงถือโอกาสถามไถ่ถึงธุรกิจ ท่านอดยิ้มแล้วตอบสั้น ๆ ว่า “ปีนี้ดี” จากนั้นหันไปเช็คกับเลขาอีกรอบว่า “เราขาดทุนแค่ 20 กว่าล้าน ใช่ไหม ปีที่แล้วขาดทุนมากกว่านี้นะ” มารู้ข่าวอีกไม่นานบริษัทก็ปิดกิจการลง ในทางตรงข้ามผู้นำอีกองค์กรหนึ่งซึ่งเป็นองค์กรข้ามชาติ เจอทีไร ท่านบ่นว่าปีนี้แย่ทุกที ต้องเตรียมแผนปฏิรูปให้เร็วที่สุดไม่งั้นไม่รอดแน่นอน จากประสบการณ์ในการเป็นที่ปรึกษาเรื่องการปฏิรูปองค์กร ดิฉันตั้งข้อสังเกตว่าองค์กรที่คิดว่าตัวเองไม่รอด ส่วนใหญ่มักจะรอดค่ะ เพราะความมีจิตสำนึกแห่งความเร่งรีบเข้าไปอยู่ใน DNA

2. เน้นเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงระยะสั้น เช่น นักเรียนที่ถูกสอนเพื่อให้ทำข้อสอบให้ผ่าน ก็จะเรียนรู้วิธีการเทคนิคที่จะทำอย่างไรเพื่อให้สอบผ่าน ซึ่งแท้จริงแล้วรากฐานอันเป็นเป้าหมายระยะยาวของการศึกษาคือการสอนให้เด็กรู้จักใช้ชีวิต ดำเนินชีวิตให้ประสบความสำเร็จ การปฏิรูปหรือการเปลี่ยนแปลงจึงไม่ใช่เป็นเพียงโครงการ หรืออีเวนท์ แต่เป็นกระบวนที่ต้องสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง เสริมทักษะ แน่นอนที่สุดอาศัยเวลา ยิ่งอนาคตที่ฝันไว้ไกลจากปัจจุบันมากเพียงไร การเปลี่ยนแปลงก็จะพบกับความท้าทายและใช้เวลานานขึ้น ส่วนใหญ่ดิฉันมักเจอองค์กรที่เริ่มช้าแต่อยากเห็นผลเร็ว เช่นหลังทำการปฏิรูปต้องเห็นผลภายในสิ้นปีเลย

3. การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องยาก เพราะหัวใจสำคัญของการเปลี่ยนแปลงคือการเปลี่ยนพฤติกรรมที่ฝังรากมาช้านาน เคยได้ยินไหมคะว่าหากยากเปลี่ยนแปลงหรือสร้างนิสัยใหม่บางอย่าง ให้ทำติดกัน 21 วัน หากทำได้ถึงจะกลายเป็นพฤติกรรมใหม่

ดิฉันท้าให้ท่านผู้อ่านลองลุกขึ้นมาตั้งเป้าหมายปฏิรูปตัวเองสักเรื่องหนึ่ง แล้วมาลุ้นกันว่าท่านจะอยู่ในกลุ่ม 20% ที่ประสบความสำเร็จหรืออยู่ในกลุ่ม 80% ที่ประสบความล้มเหลวในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้

#Change #Transformation #องค์กร #Digital #LeadingChange #Leadership