ถกเรื่องธรรมภิบาลกับนักธุรกิจสตาร์ทอัพอาเซียน

ถกเรื่องธรรมภิบาลกับนักธุรกิจสตาร์ทอัพอาเซียน

วันพุธที่แล้ว ผมได้รับเชิญเป็นแขกพิเศษ พูดให้ความรู้ในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ

เรื่อง Business Integrity and  Reponsible Business Practices in the Startup Ecosystem in ASEAN เป็นงานที่พูดถึงความสำคัญของธรรมาภิบาลและการทำธุรกิจอย่างรับผิดชอบในบริบทของธุรกิจยุคใหม่ หรือ Startup ของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งน่าสนใจมากเพราะเป็นการรวมตัวของนักธุรกิจรุ่นหนุ่มสาวของอาเซียน ที่เป็นเจ้าของกิจการ เป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ใช้ประโยชน์ของดิจิทัล เทคโนโลยีในการทำธุรกิจ ที่มาร่วมกันแสวงหาคำตอบว่า จะทำธุรกิจอย่างไรภายใต้ระบบนิเวศน์ใหม่ของธุรกิจโลกที่ให้ความสำคัญกับเรื่องธรรมภิบาล ความเป็นธรรม และความยั่งยืนของธุรกิจ

งานสัมมนาจัดโดยองค์กรยูเอ็นดีพี(UNDP) ร่วมกับ Youth.co.Lab หรือ ห้องปฏิบัติการหนุ่มสาวอาเซียน มีนักธุรกิจรุ่นใหม่เข้าร่วม 31 คน จาก เก้า ประเทศ รวมนักธุรกิจจากไทย การสัมมนาเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ข้อที่ 16 ว่าด้วยการสร้างสังคมที่มีความสงบ กระบวนการยุติธรรมและสถาบันที่เข้มแข็ง ที่บทบาทของภาคเอกชนต้องช่วยทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยการทำธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล โปร่งใส ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น มีความรับผิดชอบต่อสังคม และให้ความสำคัญต่อผู้อื่นในการตัดสินใจ (Inclusive)

บทบาทเหล่านี้ สำหรับคนหนุ่มสาวที่เป็นนักธุรกิจ เมื่อฟังครั้งแรกมักจะงงๆ เพราะจับประเด็นไม่ได้ว่า บทบาทเหล่านี้เกี่ยวข้องกับธุรกิจของพวกเขาอย่างไร และประโยชน์ที่ธุรกิจเขาและประเทศจะได้จากบทบาทเหล่านี้คืออะไร ดูเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องของผู้ใหญ่ เป็นเรื่องของบริษัทใหญ่ ผมจึงถูกขอให้มาพูดเรื่องนี้ อาศัยความเชี่ยวชาญในเรื่องธรรมาภิบาลภาคเอกชนที่มี เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักธุรกิจรุ่นหนุ่มสาวของอาเซียนให้ตระหนักถึงความสำคัญของธรรมาภิบาล ซึ่งผมตอบรับด้วยความยินดี และได้ฝากข้อคิดไว้สามข้อกับนักธุรกิจกลุ่มนี้ วันนี้เลยอยากนำข้อคิดดังกล่าวมาแชร์ให้แฟนคอลัมน์ “เศรษฐศาสตร์บัณฑิต” ทราบ

ประเด็นแรก ทุกธุรกิจต้องการทำกำไร แต่ทำอย่างไร ธุรกิจจะสามารถทำกำไรได้เรื่อยๆ ทำได้ต่อเนื่อง นี่คือความท้าทาย ซึ่งจุดแรกที่ต้องตระหนักคือ ในทุกธุรกิจ เราจะมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการทำธุรกิจของบริษัท ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเหล่านี้ได้แก่ พนักงาน เจ้าหนี้ บริษัทคู่ค้า ลูกค้า รัฐบาล หน่วยงานกำกับดูแล ชุมชนหรือสิ่งแวดล้อม นักลงทุน กรรมการบริษัท และเจ้าของธุรกิจ นี่คือ สิบกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ได้รับผลกระทบจากการทำธุรกิจและการตัดสินใจของบริษัท

คำถามคือ อะไรจะเกิดขึ้น ถ้าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเหล่านี้ชอบและสนับสนุนกิจการของบริษัท คำตอบ คือ ถ้าเป็นเช่นนั้น ธุรกิจของบริษัทน่าจะไปได้เรื่อยๆ เพราะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มสนับสนุน นี่คือความหมายที่แท้จริงของความยั่งยืนทางธุรกิจ ธุรกิจจะเติบโตอย่างยั่งยืนได้ง่ายขึ้น ถ้าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสนับสนุนธุรกิจของบริษัท ปัญหาคือ ทำอย่างไรให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสนับสนุนบริษัท

คำตอบเรื่องนี้ อยู่ที่คำๆ เดียว คือ ความไว้วางใจหรือ Trust ที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีต่อการทำธุรกิจของบริษัท และความไว้วางใจนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อการบริหารจัดการธุรกิจของบริษัทเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล คือ มีธรรมาภิบาลในการทำธุรกิจ หมายถึง การทำธุรกิจโดยมีความรับผิดชอบ มีความโปร่งใส และเป็นธรรม(fairness) นี่คือหัวใจของธรรมาภิบาล และจากที่กล่าวมา เราคงเห็นการเชื่อมโยงชัดเจนว่าการทำธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาลนำไปสู่ความยั่งยืนทางธุรกิจ ผ่านความไว้วางใจหรือ Trust ที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีต่อบริษัท

ประเด็นที่สองที่ฝากไว้คือ ธุรกิจสตาร์ทอัพ จะสามารถนำหลักคิดด้านธรรมาภิบาลนี้มาปรับใช้กับธุรกิจได้อย่างไร เพราะยังเป็นธุรกิจขนาดเล็ก มีคนมาร่วมธุรกิจไม่มาก และยังมีเรื่องต่างๆ ที่ต้องทำอีกมาก ในเรื่องนี้ผมได้ให้ข้อคิดว่า ถ้าเราดูสถิติ ความสำเร็จของธุรกิจสตาร์ทอัพมักจะมาจากสามปัจจัย คือ มีโมเดลธุรกิจที่ไปได้ มีทีมงานที่มีความสามารถ และได้รับการสนับสนุนด้านการเงินอย่างเพียงพอ แต่ถ้าจะถามนักลงทุนที่จะมาวางเงินสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพว่า เขาดูปัจจัยอะไรเป็นหลักในการตัดสินใจ ผมว่าคำตอบจะทั้งเหมือนและแตกต่างกับสามปัจจัยที่ได้พูดถึง คือ

หนึ่ง ดูโมเดลธุรกิจว่าไปได้หรือไม่ในระยะยาว เพราะปริมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของธุรกิจสตารท์อัพจะล่มในปีแรก 20 เปอร์เซ็นต์อยู่ได้ไม่เกินสามปี และครึ่งหนึ่งอยู่ได้ไม่เกินห้าปี ดังนั้น โมเดลธุรกิจที่มีความยืดหยุ่นและสามารถยืนระยะได้จึงสำคัญต่อนักลงทุน

สอง มีทีมงานที่มีความสามารถ ประเด็นนี้ไม่ใช่เฉพาะทักษะความรู้ แต่หมายถึงต้องมีความเชื่อในสิ่งที่ทำ มีความตั้งใจและความชอบอย่างจริงใจที่จะทำให้สิ่งที่ต้องการทำประสบความสำเร็จ พร้อมจะต่อสู้กับทุกอุปสรรคเพื่อให้ความตั้งใจและความเชื่อที่มีอยู่เกิดขึ้นจริงและประสบความสำเร็จ นี่คือ ความแตกต่างระหว่าง 50 เปอร์เซ็นต์ของสตาร์ทอัพที่ล่มในช่วงห้าปีแรก และอีก 50 เปอร์เซ็นต์ที่ยืนระยะได้และประสบความสำเร็จ

สาม มีธรรมาภิบาลในการทำธุรกิจ ที่แสดงให้เห็นถึงการมองยาว การให้ความสำคัญต่อผลที่มีต่อสังคมและส่วนรวม และการได้รับความไว้วางใจจากผู้ที่เกี่ยวข้องที่จะช่วยอุ้มชูธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ เพราะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก็อยากเห็นบริษัทที่มีความตั้งใจมีธรรมาภิบาลในการทำธุรกิจเติบโตเป็นส่วนหนึ่งของสังคม

นี่คือ คุณภาพสามข้อที่นักลงทุนมองหา และธุรกิจสตาร์ทอัพก็สามารถเริ่มปรับการทำธุรกิจในแนวทางนี้ได้เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของนักลงทุน โดยการมีนโยบายและแนวปฏิบัติที่ชัดเจนที่แสดงให้เห็นถึงความต้องการของบริษัทที่จะทำธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล มีจริยธรรมและให้ความสำคัญต่อผู้อื่น จากนั้นก็มีโครงสร้างด้านธรรมาภิบาลสนับสนุน เช่น มีคณะกรรมการบริษัท มีกรรมการอิสระในจำนวนที่มากพอ มีประธานเป็นกรรมการอิสระ มีการแยกตำแหน่งประธานกับซีอีโอ สิ่งเหล่านี้จะสื่อให้เห็นถึงการให้ความสำคัญในเรื่องธรรมาภิบาลในการทำธุรกิจ และท้ายสุด คือ การให้ความสำคัญในเรื่องวัฒนธรรมองค์กร ที่เริ่มด้วยการสร้างค่านิยมที่จะเป็นจิตวิญญาณของบริษัท ที่บริษัทให้ความสำคัญและทุกคนในบริษัทหายใจเข้าออกเป็นเรื่องนี้ เช่น การทำธุรกิจอย่างซื่อตรง ถ่ายทอดให้เกิดการปฏิบัติทั้งองค์กร นำไปสู่วัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็ง เหล่านี้คือทางเดินที่บริษัทสตาร์ทอัพสามารถเริ่มต้นได้ และสามารถขยายรายละเอียดไปเรื่อยๆ ตามการเติบโตของบริษัท

ประเด็นที่สามที่ได้พูดถึง คือ ประโยชน์ที่บริษัทจะได้จากการทำธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล เช่น ความไว้วางใจของทุกฝ่ายที่มีต่อธุรกิจของบริษัท ชื่อเสียงและการยอมรับของสังคม พนักงานที่มีคุณภาพที่ต้องการทำงานกับบริษัท และความสามารถในการแข่งขัน เพราะทุกคนไม่ว่าจะเป็นบริษัทคู่ค้า ลูกค้า เจ้าหนี้ นักลงทุน ต่างต้องการสนับสนุนธูรกิจที่มีธรรมาภิบาล สำหรับระดับประเทศ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ ภาคธุรกิจของประเทศจะเป็นภาคธุรกิจที่น่าเชื่อถือ ที่ทุกคนอยากทำธุรกิจด้วย มีความโปร่งใส มีการแข่งขันที่เป็นธรรม ไม่มีการทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นพลังที่ต่อยอดไปสู่ความเข้มแข็งด้านนวัตกรรมและความสามารถของนักธุรกิจและภาคธุรกิจของประเทศ ทำให้ตลาดและสถาบันในประเทศเข้มแข็ง ตรงกับเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลักข้อที่ 16 ขององค์การสหประชาชาติ

นี่คือข้อคิดที่ผมได้ฝากไว้กับนักธุรกิจรุ่นใหม่ของอาเซ๊ยน 31 คน ซึ่งพิจารณาจากคำถามและการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่เกิดขึ้นหลังการพูดของผม ผมมีความหวังกับคนรุ่นใหม่ของอาเซียนที่พร้อมเป็นนักธุรกิจที่มีคุณภาพ ที่จะนำการเปลี่ยนแปลงมาสู่การเติบโตที่ต่อเนื่องและยั่งยืนของภูมิภาค