‘โรงเรียนประจำ’ โรงบ่มเพาะผู้นำ

‘โรงเรียนประจำ’ โรงบ่มเพาะผู้นำ

มีคนไม่น้อยทราบว่านายบอริส จอห์นสัน นายกฯอังกฤษคนใหม่ รู้จักมักคุ้นกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯไทยเป็นอย่างดี

หากจะลงลึกรายละเอียดเข้าไปอีก จะทราบว่าทั้งสองต่างมีประวัติการศึกษาที่คล้ายกัน คือ จบจากโรงเรียนประจำ ชื่ออีตัน และมหาวิทยาลัยเดียวกัน คือ ออกซ์ฟอร์ด ซึ่งทั้ง 2 สถาบันถูกกล่าวขานว่าเป็นสถานศึกษาระดับมัธยมและมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก ผลิตผู้นำทั้งทางการเมือง และธุรกิจเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก

วันนี้ผมจะมาเล่าท่านผู้อ่านฟัง และให้คิดถึงโรงเรียนประจำในฐานะทางเลือกหนึ่งของการศึกษาของเยาวชน และค้นหาว่าปัจจัยใดกันที่ทำให้โรงเรียนประจำเหล่านี้ผลิตคนที่มีความสามารถจนถึงระดับผู้นำประเทศ

โรงเรียนประจำได้รับความนิยมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพราะเป็นที่ที่ผู้ปกครองมีความเชื่อว่านอกจากการศึกษาวิชาการจะดีแล้ว ยังปลูกฝังให้เยาวชนมีความเป็นผู้นำ ปรับตัวเข้ากับสังคมได้ ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่ปลอดภัย และที่สำคัญที่สุดคือ ชื่อเสียงเกียรติภูมิ และเครือข่ายที่จะสนับสนุนส่งเสริมกันในอนาคต

อย่างในประเทศอังกฤษ วิทยาลัยอีตัน ถือเป็นโรงเรียนประจำชั้นนำแต่ยุคโบราณ ที่มีอายุเกือบ 600 ปี มุ่งเน้นพัฒนาการศึกษาพัฒนาเด็กเพื่อเป็นเป็นผู้นำของสังคม ด้วยค่าเทอมกว่า 1.6 ล้านบาทต่อปีและจำนวนการรับนักเรียนที่ไม่มาก คือแค่ประมาณ 1,300 คน ทำให้โรงเรียนประจำแห่งนี้เป็นที่หมายตาของผู้ปกครองกลุ่มพิเศษที่มีทั้งกำลังเงินและความตั้งใจจริง

นักเรียนเก่าที่มีชื่อเสียงก็มากมาย อาทิ เชื้อพระวงศ์อังกฤษ นายกฯคนปัจจุบันและอดีตนายกฯอังกฤษ คาร์ล มาร์กซ์ บิดาแห่งแนวคิดสังคมนิยม เอียน เฟลมมิ่ง ผู้แต่งหนังสือเจมส์ บอนด์ 007 แบร์ กริลส์ นักผจญภัยและจัดรายการชื่อดัง หรือหากจะมองกลับมาที่ไทย ก็มีตั้งแต่นักการเมืองอย่างคุณไอติม พริษฐ์ และอดีตนายกฯอภิสิทธิ์ จนกระทั่งถึงพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 7 ของเรา เป็นต้น

ในประเทศไทยโรงเรียนประจำที่ได้ชื่อว่าเก่าแก่และมีเกียรติภูมินั้นก็มีจำนวนไม่มาก อาทิ วชิราวุธวิทยาลัย และ ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัยฯ ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำชายล้วนแห่งแรกของประเทศ หรือโรงเรียนประจำหญิงอย่างวัฒนาวิทยาลัย เป็นต้น โรงเรียนประจำทั้ง 3 แห่งนี้ล้วนมีอายุเกิน 100 ปีทั้งสิ้น ผลิตบุคลากรชั้นแนวหน้าของไทยในวงการต่าง ๆ มากมาย

ความเป็นอยู่ในโรงเรียนประจำนั้นถือเป็นอีกโลกหนึ่งสำหรับคนไม่คุ้นเคย ดังนั้นจึงควรศึกษาถึงปรัชญา ขนบธรรมเนียมประเพณี และจุดมุ่งหมายของแต่ละโรงเรียนก่อนส่งบุตรหลานเข้าไปศึกษา โรงเรียนประจำโบราณนอกจากจะสอนวิชาการเหมือนโรงเรียนปกติแล้ว มักจะสอดแทรกปลูกฝังระเบียบวินัยและสร้างภาวะผู้นำ ผ่านการเรียนรู้ในการอยู่ร่วมกันในระบบคณะหรือบ้านหรือหอนอน 

หากท่านจินตนาการไม่ออก ให้คิดถึงภาพยนตร์เรื่องแฮร์รี่ พอตเตอร์ ที่เด็กจะถูกแบ่งเป็นบ้าน กินนอนด้วยกัน มีการแข่งขันกีฬาระหว่างคณะหรือบ้านเพื่อเสริมสร้างความสามัคคีและนำ้ใจนักกีฬาเป็นต้น

มีงานวิจัยในประเทศอังกฤษชี้ว่าโรงเรียนประจำนั้นสามารถสร้างความเป็นผู้นำและความสามารถในการพึ่งพาตัวเองได้จริง แต่ก็แลกมาด้วยราคาค่างวดหากส่งเด็กเข้าเรียนประจำในวัยที่เด็กเกินไป เช่น ความว้าเหว่ทางอารมณ์ตั้งแต่วัยเยาว์ อันเนื่องมาจากการต้องจากครอบครัวที่คุ้นเคย และปรับตัวสู่สภาพแวดล้อมใหม่ ซึ่งอาจส่งผลเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่เก็บกดทางอารมณ์ สื่อสารไม่เก่ง และไม่ชอบขอความช่วยเหลือเห็นใจ ซึ่งขมวดรวมกันแล้วเรียกว่า Boarding school syndrome

ดังนั้น ก่อนที่จะส่งลูกหลานเข้าเรียนประจำจึงควรศึกษาปรัชญา จุดมุ่งหมาย ขนบธรรมเนียมประเพณีของโรงเรียนนั้น ๆ นอกเหนือจากดูหลักสูตรวิชาการและชื่อเสียงของโรงเรียน เพื่อสร้างโอกาสที่ดีแก่ลูกหลานอย่างแท้จริง