การทำตามนโยบายสาธารณสุข ตามที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภา(1)

การทำตามนโยบายสาธารณสุข ตามที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภา(1)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ถึงนโยบายทางการแพทย์และสาธารณสุขไว้ในข้อ 9

 เรื่องการพัฒนาระบบสาธารณสุขและการประกันสังคมไว้(1) ซึ่งในฐานะที่เป็นประชาชนคนหนึ่ง ควรให้ความสนใจ ซึ่งนโยบายทางการสาธารณสุขที่นายกรัฐมนตรีแถลงต่อรัฐสภา อยู่ในข้อ 9 รวมกับหลักประกันทางสังคมด้วย โดยแบ่งเป็นข้อย่อย 4 ข้อ ซึ่งเราจะมาทบทวนในแต่ละข้อ เพื่อเสนอแนะแนวทางในการทำงานตามนโยบายและคอยติดตามดูว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบ จะสามารถบริหารงานให้สำเร็จตามนโยบายที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาหรือไม่

นโบายข้อ 9.การพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข และหลักประกันทางสังคม มุ่งเน้นการจัดบริการสาธารณสุขและระบบความคุ้มครองทางสังคมที่ครอบคลุมประชากรทุกกลุ่มอย่างเหมาะสม นำไปสู่ความเสมอภาค ประกอบด้วย

9.1 พัฒนาระบบบริการสาธารณสุข แพทย์สมัยใหม่ และแพทย์แผนไทยให้มีประสิทธิภาพ ทันสมัย และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และมีคุณภาพทัดเทียมกันทั่วทุกพื้นที่ รวมถึงการยกระดับไปสู่การแพทย์แม่นยำและยกระดับการประกันสุขภาพให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ โดยอยู่บนพื้นฐานหลักประสิทธิภาพและความยั่งยืนทางการคลัง ส่งเสริมให้มีมาตรการสร้างสุขภาพและอนามัย ให้คนไทยทุกช่วงวัยมีสุขภาพแข็งแรง และลดอัตราความเจ็บป่วยโรคเรื้อรัง พร้อมทั้งจัดให้มีสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่เอื้อต่อสุขภาพของประชาชนอย่างเหมาะสมและพอเพียง

ขอวิพากษ์เฉพาะนโยบายข้อ 9.1 ก่อน ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบในการนำนโยบายด้านสาธารณสุขไปปฏิบัติหรือดำเนินการให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมตามนโยบายที่นายกฯได้แถลงต่อรัฐสภา (ซึ่งถือว่า เป็นสัญญาประชาคม ที่รัฐบาลนี้จะต้องทำให้สำเร็จผลเป็นรูปธรรม แต่รมว.สาธารณสุข ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินการด้านสาธารณสุข ได้เริ่มต้นทำอะไรตามการแถลงนโยบายนี้บ้างหรือยัง ตามที่นายกฯได้แถลงต่อรัฐสภาดังนี้

ก. นโยบาย พัฒนาระบบบริการสาธารณสุข แพทย์สมัยใหม่ และแพทย์แผนไทย ให้มีประสิทธิภาพและทันสมัย ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล” จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ระบบบริการสาธารณสุข ยังขาดประสิทธิภาพ คุณภาพมาตรฐานในระดับสากล เนื่องจากการแคลนบุคลากรที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และรวดเร็ว จนทำให้ประชาชนต้องเสียเวลารอรับบริการ ซึ่งนายอนุทิน ชาญวีรกุล รมว.สาธารณสุขได้ให้นโยบายว่า ประชาชนไม่ควรรอพบแพทย์เกิน 1 ชั่วโมง ผู้เขียนจึงขอเรียนให้ท่านรัฐมนตรีทราบว่าจะทำนโยบายนี้ให้สำเร็จได้มี 2 วิธี คือ

(1) เพิ่มจำนวนบุคลากรให้เหมาะสมกับจำนวนผู้ป่วย โดยการแยกบุคลากรสาธารณสุขออกจากใต้การบังคับบัญชาของกพ. เพราะกพ.ไม่ยอมเพิ่มอัตรากำลังข้าราชการให้กระทรวงสาธารณสุข แต่จำนวนประชาชนผู้รับบริการเพิ่มจาก 80 ล้านครั้งเป็นกว่า 200 ล้านครั้งต่อปี แต่อัตรากำลังแพทย์ พยาบาล และบุคลากรอื่นๆยังไม่เพิ่มจากเดิม ในอัตราส่วนที่ใกล้เคียงกันกับการที่ผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังขาดงบประมาณ เครื่องมือและขาดเสรีภาพทางวิชาการแพทย์ในการใช้ยาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วย เพราะข้อจำกัดด้านงบประมาณที่รัฐบาลแบกรับค่าใช้จ่ายแทนประชาชนที่ไม่ยากจนและยากจนเท่าเทียมกันหมด รัฐมนตรีบอกว่า ไม่อยากเพิ่มภาระให้ประชาชน แต่โรงพยาบาลหลายแห่งกำลังอยู่ในภาวะที่ขัดสนและเสี่ยงต่อภาวะล้มละลายทางการเงิน และมาตรฐานการแพทย์ที่ทันสมัย จึงควรจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมในการจัดหาเครื่องมือและเทคโนโลยีทางการแพทย์ให้ครบถ้วนเหมาะสม 

(2) การลดเวลาที่ประชาชนรอนานในโรงพยาบาล ทำได้โดยลดจำนวนผู้ป่วย กล่าวคือ การให้ความรู้แก่ประชาชนในการสร้างสุขภาพ ป้องกันโรค รักษาความเจ็บป่วยเบื้องต้น(เล็กน้อย หรือเรียกว่าสามารถทำการปฐมพยาบาล)ได้เอง และประชาชนควรไปพบแพทย์ตามขั้นตอน จากระดับต้นไปโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลศูนย์(การแพทย์) และผู้ป่วยไม่ควรไปใช้โรงพยาบาลหลายแห่งในการเจ็บป่วยครั้งเดียวกัน (ซ้ำซ้อนและสิ้นเปลือง)นอกจากแพทย์จะส่งตัวไปปรึกษาหรือรักษาต่อเท่านั้น

ข. นโยบาย การยกระดับให้เป็นการแพทย์แม่นยำ การพัฒนาการแพทย์สมัยใหม่ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลของกระทรวงปัจจุบัน ยังไม่นำไปสู่การแพทย์แม่นยำ(การรักษามุ่งเป้า)ได้ เพราะระบบหลักประกันสุขภาพตีกรอบให้แพทย์ใช้ยา(สำหรับรักษาผู้ป่วยได้)เฉพาะในบัญชียาหลักแห่งชาติเท่านั้น และในการรักษาผู้ป่วยหลายโรคหลายกรณีนั้น ยาในบัญชียาหลักอาจมีประสิทธิภาพ(คือประหยัด คุ้มค่า) แต่ยังไม่มีประสิทธิผล (คือไม่เกิดผลในการรักษาให้ตรงโรค) และไม่สามารถที่จะพัฒนาไปสู่การยอมรับ(มาตรฐาน)ในระดับสากลจนพัฒนาเป็นการแพทย์แม่นยำได้ การแก้ไขพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ยุติการก้าวก่ายการรักษาผู้ป่วยจากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและการจัดสรรงบประมาณค่ารักษาประชาชนรายหัวเพิ่มเติมให้เหมาะสม จึงจะสามารถพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการรักษาให้ทันสมัยและเป็นที่ยอมรับในระดับสากลได้(อ่านต่อ ฉบับวันที่ 27 ส.ค. กับข้อเสนอกับ 5 นโยายที่มีต่อกระทรวงสาธารณสุข)

โดย... 

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา

 กรรมการแพทยสภา