“ตบหน้า” ด้วยมือถือ

“ตบหน้า” ด้วยมือถือ

หลายคนคงเคยถูกตบหน้า ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุพิษรักแรงหึงหรือรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวของคนอื่น หรือมีคนไม่พอใจคำพูด แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม

 มันล้วนทำให้เจ็บปวด ในปัจจุบันมีการตบหน้าอีกลักษณะหนึ่งที่เจ็บปวดอย่างล้ำลึกกว่าและเกิดขึ้นตลอดเวลาทุกวันต่างคนต่าง “ตบหน้า” กันโดยไม่รู้ตัว นั่นก็คือการ ตบหน้าด้วยโทรศัพท์มือถือ

ถามง่ายๆ ว่าท่านรู้สึกอย่างไร (1)เมื่อคนที่คุยกับท่านพูดไปเล่นโทรศัพท์มือถือไป (2)เพื่อนที่สนทนาด้วยถึงจะไม่ถึงกับหยิบมันขึ้นมาดูแต่ก็พูดไปเหลือบมองจอมือถืออยู่เป็นพักๆ (3)ไปทานข้าวกับเพื่อนหรือคนในครอบครัวหรือคนที่คิดจะเอามาเป็นสมาชิกในครอบครัว ตลอดเวลาที่นั่งอยู่ด้วยกันไม่ค่อยได้พูดได้จากัน กล่าวคือพูดน้อยแต่เล่นมือถือแยะ (4)ในเวลาประชุมประธานก้มหน้าก้มตาดูมือถือราวกับว่าถ้าไม่ดูแล้วโลกจะล่มสลาย ใครพูดอะไรก็ไม่ค่อยได้ฟังเพราะใจอยู่ที่มือถือ (5)ผู้เข้าประชุมแทนที่จะตั้งใจรับฟังคำพูดความเห็นเพื่อช่วยกันคิดวิเคราะห์หาข้อสรุปแต่กลับเล่นมือถืออยู่ตลอดเวลาหรือเป็นพักๆอย่างไม่รู้ว่าดูอะไรกันนักกันหนา ฯลฯ

การเห็นภาพการใช้มือถือในลักษณะข้างต้นเป็นเรื่องที่เจนตากันอยู่ทุกวี่ทุกวันจนคนจำนวนไม่น้อยเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ใครๆ เขาก็ทำกัน แต่ถ้าพิจารณาในความถูกต้องแล้ว ไม่ว่าคนส่วนใหญ่จะทำอะไรตราบที่มันไม่ถูกและไม่เข้าท่าแล้วมันก็ไม่มีวันถูกต้องได้วันยังค่ำ การหลงประเด็นในเรื่องเช่นนี้นำความเสื่อมมาสู่สังคมมากอยู่แล้ว เราไม่ควรปล่อยให้เรื่องนี้ผ่านไปเพราะมันกระทบต่อสิ่งสำคัญที่เชื่อมต่อมนุษย์เข้าไว้ด้วยกันให้เกิดความสุขนั่นก็คือความสัมพันธ์

โทรศัพท์มือถือโดยเฉพาะที่เป็นสมาร์ทโฟนสร้างสถานการณ์เหล่านี้ซึ่งโดยแท้จริงแล้วก็คือการ“ตบหน้า”นั่นเอง ถ้าท่านพูดคุยกับคนที่เขาไม่ตั้งใจฟังท่าน พูดหันไปหันมาพูดคุยกับคนอื่นที่อยู่ใกล้เคียงหรือตาสอดส่ายมองไปรอบตัว มันก็เข้าลักษณะเดียวกับการใช้มือถือขณะที่สนทนากับท่าน อย่างนี้ก็คือการ“ตบหน้า”โดยแท้เพราะไม่ให้เกียรติคนที่พูดอยู่ด้วย

ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นทั่วโลกจนปัจจุบันมีคำใหม่ในภาษาอังกฤษคือ “phub” โดยมาจาก phone + snub (snub ก็คือการถูกปฏิเสธอย่างไม่มีเยื่อใยหรืออย่างเหยียดหยามซึ่งก็เป็นเสมือนการถูกตบหน้านั่นเอง) มือถือเป็นเครื่องมือที่ทำให้ผู้คนต่างๆ ถูก phub กันอยู่ตลอดเวลาโดยไม่รู้ตัว

snub เป็นมารยาทที่เลวร้ายของสังคม เวลาท่านพูดกับใครแล้วเขาไม่ตอบหรือไม่สนใจที่จะตอบก็คือsnubในดีกรีหนึ่งเช่นเดียวกับการทักทายคนเคยรู้จักกันและเขาไม่ทักตอบหรือมีกิริยาที่ไม่ตอบรับว่ารู้จักก็คือการ“ตบหน้า”เราดี ๆนั่นเอง ซึ่งอาจเจ็บปวดยิ่งกว่าถูกตบหน้าจริงก็เป็นได้ในหลายกรณี

คำถามก็คือเราสมควรปล่อยให้มันเป็นไปเช่นนี้หรือ? ให้ผู้คนก้มหน้าเล่นมือถือหรือใช้มือถืออยู่เกือบตลอดเวลาในยามที่พบปะกันทั้งกับคนคุ้นเคยและแปลกหน้า ไม่ว่าใครจะพูดอะไรในที่ประชุมก็ก้มหน้าดูมือถือย่างโจ่งแจ้งหรือแอบดูเกือบตลอดเวลา(เลวร้ายกว่านั้นก็คือพูดโทรศัพท์ขณะประชุมไปด้วยอย่างไม่เกรงใจใคร)และในการพบปะของครอบครัวญาติมิตรต่างคนก็ต่างก้มหน้าใช้มือถือ ไม่พูดจากันโดยให้ความสนใจกับสิ่งที่แต่ละคนพูดอย่างจริงใจเหมือนเมื่อครั้งไม่มีอุปกรณ์นี้เมื่อก่อนหน้า 12-13 ปีก่อนฯลฯ

คำตอบก็คือมันเป็นเรื่องมารยาทของแต่ละคนที่มีไม่เท่ากัน อย่างดีที่สุดก็คือชี้ให้เห็นว่ามันเป็นสิ่งผิดปกติเพราะยามเมื่อเราอยู่ในการเปลี่ยนแปลงใด เรามักจะมองไม่เห็นชัดเจนว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นต่อเมื่อเราถอยออกมาอยู่ห่างเสมือนเป็นคนนอกและมองเข้าไปก็อาจเห็นได้ชัดขึ้น

มารยาทคือกติกาของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติโดยมิได้เป็นกฎหมายแต่เป็นที่รู้กันว่าสิ่งใดควรทำและไม่ควรทำ เช่น การแซงคิว การจามไอโดยไม่ปิดปาก การพูดแซงขึ้นในขณะที่คนอื่นกำลังพูดอยู่ การพูดตอบกลับเมื่อมีใครพูดด้วย ฯลฯ และแน่นอนการแสดงกิริยาปฏิเสธผู้อื่นอย่างไม่มีเยื่อใยหรือเหยียดหยามโดยเฉพาะในที่สาธารณะเป็นการเสียมารยาทอย่างมากการใช้โทรศัพท์มือถือในลักษณะที่กล่าวข้างต้นเข้าข่ายการเสียมารยาทและการไม่รู้ตัวว่าเสียมารยาทนี้เรากระทำต่อกันและกันอยู่ตลอดเวลา เรา“ตบหน้า”กันทุกวันอย่างไม่ช้ำหน้าแต่ช้ำความสัมพันธ์

คงจะไม่ผิดที่เกือบทุกคนรวมทั้งผู้เขียนด้วยกระทำผิดมารยาท“ตบหน้า”ผู้คนมากมายอย่างลืมตัวนับตั้งแต่มีการใช้มือถือกันมา แต่เมื่อมันเป็นประเด็นขนาดเกิดคำภาษาอังกฤษใหม่ขึ้นในโลกก็ฉุกให้คิดว่าการ“ตบหน้า”ลดประสิทธิภาพในการประชุม ลดคุณภาพของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ลดความเป็นมนุษย์ที่อ่อนไหวต่อความรู้สึกของคนอื่น เพิ่มการ“เสพติด”โทรศัพท์มือถือยิ่งขึ้นฯลฯหรือไม่

การต้องติดตามข่าวสารสำคัญบางเรื่องอย่างใกล้ชิดหรือความจำเป็นต้องตื่นตัวรอรับโทรศัพท์สำคัญหรือการรอคอยการติดต่อที่สำคัญฯลฯ เป็นเรื่องน่าเห็นใจสำหรับบางคนจนทำให้ต้องใช้มือถือในขณะที่ประชุมหรือพบปะผู้คนแต่ที่จริงแล้วก็สามารถแก้ไขได้ด้วยการเปิดโหมดสั่นเพื่อเตือนให้รู้หรือวางหงายจอไว้บนโต๊ะเพื่อให้เห็นการเคลื่อนไหว แต่มิใช่การก้มลงดูมือถืออยู่เกือบตลอดเวลา รูดไล่ดูหน้าต่างๆ อย่างหิวกระหายเมื่อมีความจำเป็นที่ต้องดูหน้าจออย่างจริงจัง ก็ควรออกจากห้องประชุมชั่วคราว(เช่นเดียวกับการใช้โทรศัพท์)

การ “ตบหน้า” นั้นเป็นนิสัยประจำของบางคนที่แก้ไขได้ยาก ไม่ว่าจะอยู่ในที่ประชุมหรือระหว่างการสนทนาไม่ว่าจะมีเรื่องที่สำคัญหรือไม่สำคัญที่ต้องติดตามก็ตาม คนเหล่านี้จะ “ตบหน้า” ผู้คนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งคนที่ "เสีย” ในสายตาคนอื่นๆมากที่สุดก็คือคน “ตบหน้า” นั่นแหละ

การแอบดูจอมือถือแบบเนียนๆ เร็วๆ อย่างไม่ทำลายสมาธิของคนร่วมประชุมนั้นเป็นไปได้อย่างไม่น่าเกลียดจนถึงกับเป็นการ “ตบหน้า” ผู้อื่นตราบที่ไม่ก้มหน้าก้มตาอย่างละเลยคำพูดของผู้ร่วมประชุม ส่วนการดูจอมือถืออย่างจริงจังหรือเหลือบมองจอขณะสนทนากับผู้คนนั้นถือได้ว่าเป็นการ “ตบหน้า”โดยแท้ ว่าที่จริงแล้วไม่มีใครอยาก“ตบหน้า”ใคร แต่การปล่อยให้ความเคยชินและความร้อนรนในการรับข่าวสารข้อมูลเข้าครอบงำอย่างมากนั้นเป็นการเสียมารยาทที่ไม่น่าอภัยให้

มารยาทมิได้มีสองชุดหนึ่งใช้สำหรับคนที่เราเห็นว่าสำคัญและอยากสร้างความประทับใจและสองสำหรับคนที่เราเห็นว่าไม่สำคัญมนุษย์ต้องมีมารยาทชุดเดียวสำหรับทุกคนและไม่ จงใจ“ตบหน้า”ใครๆด้วยมือถือด้วย