ท่าทีธุรกิจต่อการย้ายจากลอนดอนด้วยเบร็กซิท

ท่าทีธุรกิจต่อการย้ายจากลอนดอนด้วยเบร็กซิท

ในทางเศรษฐศาสตร์ มีการพยากรณ์เสมอๆ ถึงพฤติกรรมของหน่วยเศรษฐกิจต่อปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น และบ่อยครั้งพฤติกรรมไม่เป็นไปตามที่พยากรณ์

 เมื่อเป็นเช่นนั้น คำวิพากษ์วิจารณ์มักจะเกิดขึ้นเนืองๆ ว่า ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ใช้ไม่ได้ ไม่อาจอธิบายพฤติกรรมทาง เศรษฐศาสตร์ได้ ที่จริงแล้ว สาเหตุที่ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ใช้อธิบายไม่ได้มาจากนักเศรษฐศาสตร์ หรือใครก็แล้วแต่ที่พยายามอธิบายพฤติกรรมทางเศรษฐศาสตร์ไม่เข้าใจถึงปัจจัยแวดล้อมที่กำหนดการตัดสินใจของหน่วยเศรษฐกิจมากกว่า 

ตั้งแต่อังกฤษประกาศถอนตัวจากประชาคมยุโรป(เบร็กซิท) ความเห็นส่วนใหญ่พยากรณ์ว่า จะมีธุรกิจย้ายออกจากลอนดอนอย่างขนานใหญ่ เมื่อเวลาผ่านไป ปรากฏว่าเหตุการณ์ไม่ได้เป็นเช่น นั้น แม้ว่าข้อมูลที่จะกล่าวถึงนี้เกิดขึ้นมาทีหลังเหตุการณ์ (ex post) แต่ก็ยังไม่สายเกินไปเพราะว่า เบร็กซิทยังไม่จบเสียทีเดียว 

CBRE Research ได้สำรวจความเห็นธุรกิจรายสำคัญในลอนดอน ทั้งที่เป็นบริษัทอังกฤษ (54 ราย) และ บริษัทที่มาจากยุโรป (110 ราย) แล้วนำมาสรุปไว้ใน UK Real Estate Market Outlook 2019 ซึ่งออกในเดือน ม.ค.2019 ผลที่ได้แสดงพฤติกรรมของธุรกิจอย่างชัดเจนว่าใช้ปัจจัยอะไรบ้างในการตัดสินใจย้ายหรือไม่ย้ายจากลอนดอนดังนี้ 

ท่าทีธุรกิจต่อการย้ายจากลอนดอนด้วยเบร็กซิท

ในช่วงปลายปี 2017 ธุรกิจที่ใช้สำนักงานในลอนดอนแสดงความเป็นห่วงผลกระทบของเบร็กซิทต่อกิจการในสหราชอาณาจักรว่า “มีนัยสำคัญมาก” ลดลงจาก 15% เหลือเพียง 6% เมื่อเทียบกับ 1 ปีก่อนหน้านั้น ธุรกิจที่เห็นว่าเบร็กซิทส่งผลกระทบในทางลบลดลงจาก 52% เหลือ 39% (ทั้งหมดนี้แสดงในรูปที่ 1) อย่างไรก็ตาม ธุรกิจที่เห็นว่าเบร็กซิทไม่ส่งผลกระทบต่อกิจการอย่าง ไม่มีนัยสำคัญ และ “ไม่มีนัยสำคัญเลย” อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับเดิมหรือจาก 23% เป็น 22% ส่วนธุรกิจที่เห็นว่าเบร็กซิทไม่ส่งผลทางใดทางหนึ่งเพิ่มจาก 25% เป็น 37% 

สถิติข้างต้นมาจากธุรกิจของยุโรป ในส่วนของบริษัทอังกฤษนั้น สัดส่วนธุรกิจที่เห็นว่าเบร็กซิท จะส่งผลกระทบต่อกิจการอย่าง “มีนัยสำคัญ” และ “มีนัยสำคัญมาก” ก็ยังคงลดลงจาก 65% ในปี 2016 เหลือ 38% ในปี 2017 

ท่าทีธุรกิจต่อการย้ายจากลอนดอนด้วยเบร็กซิท

ในปี 2017 นั้น แม้ว่าเหตุการณ์จะยังไม่วิวัฒนาการไปถึงไหน แต่ว่า ”ฝุ่นที่ตลบ” ก็คงจางลงบ้าง นอกจากนั้นแล้ว ธุรกิจก็มองเห็นช่องทางในการดำเนินการบางอย่างในอันที่จะบรรเทาหรือแก้ไขผลกระทบ แม้ว่าจะเป็นเพียงบางส่วนหรือทั้งหมดก็ตามดังแสดงในรูปที่ 2 ซึ่งปรากฏว่า 2/3 ของบริษัทอังกฤษมีการวางวิสัยทัศน์ใหม่ 1/3 เปลี่ยนแปลงทำเลของปริมาณธุรกิจ และ อีก 1/4 พยายามวิ่งเต้นให้รัฐบาลทราบถึงข้อห่วงใย 

อย่างไรก็ตาม การที่สหราชอาณาจักรจะเข้าถึงตลาดยุโรปได้มากน้อยเพียงใดภายหลังเบร็กซิทก็ยังคงเป็นเครื่องหมายคำถามและไม่มีอะไรชัดเจนจนกว่าจะปี 2020 หรือแม้กระทั่งปี 2021 ภาวะอย่างนี้เป็นเรื่องที่ลำบากมาก โดยเฉพาะธุรกิจการเงินที่จำเป็นต้องมีความชัดเจนทางกฎหมายมากในการตัดสินใจใดๆ ดังนั้น ธุรกิจการเงินจะเป็นกิจการที่คิดถึงการย้ายฐานก่อนใครอื่นในกรณี ที่ถูกปฏิเสธการเข้าถึงตลาด 

ในจำนวนกิจการ 156 แห่งที่ CBRE สำรวจพบว่า การเสนอหรือยืนยันการย้ายฐานในเดือน พฤศจิกายน 2018 มี 104 แห่งที่ทำธุรกิจการเงิน แต่ว่าบริษัทเทคโนโลยีและสำนักงานกฎหมายมีน้อยแห่งเหลือเกินที่คิดจะย้ายฐาน ในทางตรงข้าม บริษัทเทคโนโลยีสำคัญๆ กลับลงนามผูกพัน การเช่าพื้นที่สำนักงานในใจกลางลอนดอนตั้งแต่การลงประชามติถอนตัวจากประชาคมยุโรป การวิจัยของ CBRE เร็ว ๆ นี้ ยังพบอีกว่าสำนักงานกฏหมายไม่สนใจต่อผลกระทบของเบร็กซิตเลย 

แม้แต่ในบรรดาธุรกิจการเงินเอง หลาย ๆ บริษัทกลับใช้ท่าทีที่รอดูมากกว่าจะกระโดดย้ายฐานออกไปเองโดยไม่จำเป็น ทั้งนี้ก็ด้วยลอนดอนมีฐานะเป็นศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศที่สุดยอดของยุโรป ท่าทีเช่นนี้ดูคล้ายกับว่าสถาบันการเงินต่าง ๆ มองว่าการถอนตัวน่าจะมีข้อตกลงอะไร สักอย่าง อย่างไรก็ตาม พวกเขาก็เตรียมพร้อมที่จะย้ายเพียงแต่ว่าจะเป็นเมื่อไรและภายใต้สภาวะ แวดล้อมอย่างไรเท่านั้น แต่สำหรับธุรกิจการเงินแล้วจะต้องมีเวลาเตรียมการอย่างน้อย 18 เดือน 

ประมาณการของ TheCityUK แสดงว่า ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดตำแหน่งงานในธุรกิจการเงิน ที่จะสูญเสียไปสู่ยุโรปอยู่ในราว 6  - 8 หมื่นคน แต่ว่าแฟรงก์เฟิร์ต ดับลิน และ ปารีส กลับประมาณการว่าจะมีเพียง 3 หมื่นคนหรือแห่งละ 1 หมื่นคน ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงว่าแม้แต่เมืองทั้ง 3 นี้ ยังไม่เชื่อว่าจะมีการสูญเสียตำแหน่งงานจากลอนดอนไปสู่ยุโรปจริง CBRE มองว่าในกรณีเลวร้าย ตำแหน่งงานที่จะเสียไปคงจะอยู่ในหลักหมื่นระดับต่ำ ๆ ถ้าเป็นเช่นนั้น จริง ๆ แล้ว เพียงแค่การปรับโครงสร้างของธุรกิจการเงินก็อาจมีการลดตำแหน่งงานในระดับนั้นได้อยู่แล้ว เช่น การลดต้นทุน หรือ ปัญหาภาษี เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้ทำให้มีการปรับสถานที่ตั้งของสถาบันการเงินต่าง ๆ อยู่ค่อนข้างชัดเจนตั้งแต่วิกฤตการเงินโลกปี 2008 เป็นต้นมา 

นอกจากนั้น การปรับสถานที่ตั้ง (relocation) อาจจะหมายถึงการที่บางบริษัทอาจจะจดทะเบียนนิติบุคคล ณ สถานที่อื่นๆ โดยไม่มีความจำเป็นต้องย้ายการดำเนินงานของกิจการ โดยที่ไม่ต้องย้ายตำแหน่งานหรือบุคคลากรเลย ในกรณีที่มีความคิดที่จะย้ายจริงๆ ส่วนใหญ่แล้วจะมา จากความเห็นของเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่มีสิทธิมีเสียงมากกว่า 

แม้กระทั่งในกรณีที่การย้ายฐานเกิดขึ้นจริง จุดหมายที่เกิดขึ้นจริงก็คงไม่ใช่เฉพาะเมืองหนึ่ง เมืองใด แต่เป็นการกระจายไปสู่หลาย ๆ เมือง เพราะว่าแต่ละเมืองต่างก็มีจุดเด่นจุดด้อยของตนเอง 

คำวิพากษ์วิจารณ์เท่าที่ผ่านมา ล้วนแต่มองไปที่การย้ายฐานที่จะเกิดมากกว่าการมองว่าศูนย์กลางการเงินของสหราชอาณาจักรจะปรับเปลี่ยนจุดเน้นในตลาดต่าง ๆ ที่ไม่ใช่ยุโรปอย่างไร เช่น สหราชอาณาจักรส่งออกประกันภัยไปยังสหรัฐถึง 38% แต่ส่งออกไปยุโรปเพียง 18% เท่านั้น ทั้งๆ ที่ไม่มีข้อตกลงการค้าด้านบริการกับสหรัฐเลย ดังนั้น ตำแหน่งงานจริงๆ อาจจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงน้อยกว่าที่คาดว่าจะเสียตำแหน่งงานให้ยุโรป ยิ่งถ้าสหราชอาณาจักรพิจารณาเจรจาการค้ากับประเทศนอกยุโรปอื่นๆ ด้วย โอกาสที่ตำแหน่งงานจะเพิ่มขึ้นสุทธิก็ยิ่งสูงขึ้น 

อย่างไรก็ตาม ปี 2019 ยังคงจะเต็มไปด้วยการคาดเดาต่าง ๆ นานาและความไม่แน่นอนต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเบร็กซิตฃท ฝ่ายการเมืองเองคงจะได้รับแรงกดดันมากขึ้นเรื่อย ๆ ในการแถลงแนวทางหลักๆ ของการเปิดตลาดว่าจะเป็นด้านใดและในระดับใด 

ตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา สิ่งที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้นตลอดเวลา ตั้งแต่การเลือกตั้งทั่วไป การเจรจาเงื่อนไขเบร็กซิท การแข่งขันชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยม และ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ สิ่งที่คาดไม่ถึงคงจะมีต่อไปอีกเรื่อย ๆ ให้ดูว่าสุดท้ายเบร็กซิตจะออกมาในรูปแบบใด