เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ประเทศไทยทำได้ดีแค่ไหน

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ประเทศไทยทำได้ดีแค่ไหน

การจากไปของมาเรียม ปัญหาขยะท่วมทะเล ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ปัญหาน้ำเสีย และอีกสารพัดปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นรายวัน

เป็นภาพสะท้อนด้านมืดของการพัฒนาประเทศ กลายเป็นว่ายิ่งพัฒนามากขึ้น ผลข้างเคียงของความพยายามยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศเริ่มตีกลับ จนชักไม่แน่ใจแล้วว่า พอเอาสิ่งที่ได้กับผลเสียมาหักลบกัน สุทธิแล้วเราดีขึ้นสักแค่ไหนกัน

แนวคิดหนึ่งที่เป็นไม้บรรทัดสากลเพื่อประเมินผลสุทธิของการพัฒนา คือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) ที่เสนอโดยสหประชาชาติ ซึ่งถือเป็นพันธสัญญาในการกำหนดทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก สำหรับประเทศไทย รัฐบาลได้รับเอาเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมาเป็นกรอบในการพัฒนาและมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นเจ้าภาพหลักในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ความสำคัญกับมิติในการพัฒนา 17 ด้านด้วยกัน คือ 1.ขจัดความยากจนทุกรูปแบบทุกสถานที่ 2.ขจัดความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร ส่งเสริมเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน 3.รับรองการมีสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนทุกช่วงอายุ 4.รับรองการศึกษาที่เท่าเทียมและทั่วถึง ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ทุกคน

5.บรรลุความเท่าเทียมทางเพศ พัฒนาบทบาทสตรีและเด็กผู้หญิง 6.รับรองการมีน้ำใช้ การจัดการน้ำและสุขาภิบาลที่ยั่งยืน 7.รับรองการมีพลังงาน ที่ทุกคนเข้าถึงได้ เชื่อถือได้ยั่งยืน ทันสมัย 8.ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องครอบคลุมและยั่งยืนการจ้างงานที่มีคุณค่า

9.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมการปรับตัวให้เป็นอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนทั่วถึง และสนับสนุนนวัตกรรม 10.ลดความเหลื่อมล้ำทั้งภายในและระหว่างประเทศ 11.ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความปลอดภัยทั่วถึง พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง และการพัฒนาอย่างยั่งยืน 12.รับรองแผนการบริโภค และการผลิตที่ยั่งยืน

13.ดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ 14.อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน 15.ปกป้อง ฟื้นฟู และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบกอย่างยั่งยืน 16.ส่งเสริมสังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และ 17.สร้างพลังแห่งการเป็นหุ้นส่วน ความร่วมมือระดับสากลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

เพื่อให้ทราบถึงความก้าวหน้าของการพัฒนาตามมิติทั้ง 17 ด้าน สถาบัน Bertelsmann Stiftung และ Sustainable Development Solutions Network (SDSN) จึงได้ร่วมกันจัดทำรายงานเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยรายงานฉบับล่าสุดปี 2562 นำเสนอความก้าวหน้าของประเทศต่างๆ ในปี 2561 ที่ผ่านมาด้วยการสร้างดัชนีคะแนนความก้าวหน้า มีคะแนนตั้งแต่ 0 ถึง 100

คะแนนที่สูงหมายถึงความก้าวหน้าที่มากกว่า ยกตัวอย่างเช่นในรายงานฉบับล่าสุด ประเทศไทยได้คะแนน 73 คะแนน หมายความว่าขณะนี้ประเทศมีความก้าวหน้าไป 73% ของเป้าหมายที่ควรจะเป็น มาเลเซียได้ 69.56 ก็หมายความว่ามีความก้าวหน้าไป 69.56% ของเป้าหมายที่ควรจะเป็น

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ประเทศไทยทำได้ดีแค่ไหน

ที่มา: รายงานเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ปี 2562

ผู้เขียนได้ใช้ข้อมูลจากรายงานดังกล่าวมาสร้างตัวแบบทางสถิติที่เป็นเส้นประในรูป จากตัวแบบนี้ จุดของประเทศไหนที่ได้คะแนนต่ำกว่าเส้นประ หมายความว่าผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดการพัฒนาที่ยั่งยืนมีค่าน้อยกว่าที่ควรจะเป็นเมื่อเทียบกับระดับรายได้ต่อหัวของประชากร ในทางกลับกัน หากจุดอยู่สูงกว่าเส้นประแสดงว่าประเทศนั้นทำได้ดีกว่าค่าที่คาดว่าจะเป็น

จากตัวแบบนี้จะเห็นว่าจุดของประเทศไทยอยู่สูงกว่าเส้นประ แสดงว่าโดยภาพรวมแล้วเราก็ทำได้ดีกว่าที่คาดว่าจะเป็นเมื่อเทียบกับระดับรายได้ต่อหัวของประเทศ แต่ประเด็นก็คือเรายังมีเรื่องที่ต้องทำอีกตั้ง 27% และเรื่องที่เหลือล้วนแต่เป็นเรื่องที่ท้าทายด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าจุดของประเทศที่มีรายได้ต่อหัวมากกว่าเราก็ไม่ได้ขยับเพิ่มสูงขึ้นไปมากกว่านี้สักเท่าไร

ที่เป็นแบบนี้เพราะการจะทำส่วนที่เหลือให้สำเร็จ ต้องเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนของประเทศ ทั้งในภาพรวมและระดับพื้นที่ กรอบการคิดและวิธีการดำเนินการควรแตกต่างจากที่เคยใช้มา แต่ไม่ว่าความท้าทายจะหนักหนาสาหัสแค่ไหน ก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ อนาคตคือสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น เมื่อยังไม่เกิดขึ้นย่อมมีความเป็นไปได้มากมายให้เลือก เหมือนที่ ปีเตอร์ ดรักเกอร์ เคยกล่าวไว้ว่า วิธีที่สุดในการทำนายอนาคต คือสร้างมันขึ้นมาเสียเอง