ฮ่องกงถึงจุดเปลี่ยน (1)

ฮ่องกงถึงจุดเปลี่ยน (1)

การชุมนุมประท้วงในฮ่องกงไม่เพียงทำให้เศรษฐกิจย่ำแย่ แต่ยังกลายเป็นประเด็นทางการเมืองที่อ่อนไหวสำหรับจีน

มันเริ่มต้น 8 กุมภาพันธ์ 2018 คู่รักวัยรุ่นชาวฮ่องกงไปเที่ยวไต้หวันด้วยกัน แต่ผู้ชายกลับมาคนเดียวและต่อมาสารภาพว่าฆ่าแฟนสาว ฮ่องกงตั้งข้อหาไม่ได้เพราะลงมือในไต้หวัน จะส่งตัวไปไต้หวันก็ไม่ได้อีก เพราะไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนต่อกัน

นี่เป็นเหตุให้คณะผู้บริหารฮ่องกงเสนอร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนเข้าสู่สภากุมภาพันธ์ 2019 แต่ร่างฯครอบคลุมถึงจีน จึงกลายเป็นประเด็นที่นำไปสู่การชุมนุมประท้วง

กลุ่มผู้ชุมนุมเพิ่มอย่างต่อเนื่อง วันที่ 12 มิถุนายน กลุ่มผู้ประท้วงปะทะตำรวจที่รัฐสภา จนต้องเลื่อนวาระพิจารณาออกไป วันที่ 15 แครี่ ลัม-ผู้ว่าการฮ่องกงแถลงว่าจะไม่รื้อฟื้นกฎหมายนี้อีก ท่าทีของเธอได้รับการสนับสนุนจากจีน นัยยะคือยอมถอย แต่ฝ่ายประท้วงไม่หยุด วันรุ่งขึ้นกลับมีผู้ร่วมชุมนุมมากสุด วันที่ 1 กรกฎาคม ครบรอบ 22 ปีที่กลับคืนสู่จีน ผู้ประท้วงหลายร้อยบุกเข้าสภา ทาสีทับสัญลักษณ์รัฐบาล ฉีกสำเนารัฐธรรมนูญ และชักธงอังกฤษขึ้นในสภา

สถานการณ์ยกระดับ การประท้วงแพร่กระจายไปทั่ว ผู้ประท้วงใช้วิธีรุนแรงขึ้น วันที่ 3 สิงหาคม กลุ่มผู้ประท้วงไปที่อ่าววิกตอเรียและปลดธงชาติจีนทิ้งทะเล วันที่ 12 ปิดสนามบิน จนต้องยกเลิกเที่ยวบินทั้งหมด รัฐบาลฮ่องกงพยายามควบคุมสถานการณ์ จีนประณามว่ามันเป็นก่อการร้ายไปแล้ว ทั้งขู่ว่าจะส่งกำลังทหารเข้ามาจัดการ เศรษฐกิจทรุดลงไปเรื่อย ๆ ไม่มีใครรู้ว่ามันจะจบอย่างไร

ฮ่องกงถึงจุดเปลี่ยน (1)

ก่อนวิเคราะห์ทำนาย เราจะย้อนประวัติศาสตร์เพื่อค้นหาดวงกำเนิดฮ่องกงกัน ตำราภูมิศาสตร์ราชวงศ์ฮั่น (202 ก่อนค.ศ. – ค.ศ.220) กล่าวว่า ฮ่องกงถูกปกครองโดยราชวงศ์ฉิน (221 – 206 ก่อนค.ศ.) ตั้งแต่ 214 ปีก่อนค.ศ. ช่วงปลายราชวงศ์ซ่งใต้ (ค.ศ.1127 – 1279) จักรพรรดิได้อพยพไปเกาลูน เมื่อสิ้นสุดราชวงศ์หยวน (มองโกล : ค.ศ.1271 – 1368) ตระกูลใหญ่ทั้ง 7 ย้ายไปที่นั่นและผู้คนย้ายไปมากขึ้นตลอดราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1368 – 1644) โปรตุเกสมาถึงในปี 1513 และสร้างท่าเรือขนส่งสินค้าที่ฮ่องกง

เมื่อราชวงศ์ชิง (แมนจู : ค.ศ. 1636 – 1912) ขึ้นครองอำนาจ ได้ยกเลิกการค้าทางทะเล (เพื่อแก้ปัญหาโจรสลัดญี่ปุ่นและมุ่งกวาดล้างกลุ่มอำนาจเดิม) จักรพรรดิคังซีเปิดใหม่อีกครั้งปี 1684 จักรพรรดิเฉียนหลงสร้างระบบควบคุมการค้าทางทะเล โดยรวมศูนย์ที่ท่าเรือทางใต้ของกว่างโจว (Canton System) ในปี 1757 ต่อมาพัฒนาเป็นระบบผูกขาดสินค้าทางทะเลทั้งหมด (Cohong)

ยุโรปต้องการใบชา ผ้าไหม และเครื่องดินเผาจากจีน ระบบผูกขาดทำให้ขาดดุลการค้าหนัก บริษัทบริติชอีสต์อินเดียของอังกฤษที่แซงหน้าโปรตุเกสและยึดครองอินเดียตั้งแต่ปี 1757 แก้ไขด้วยการส่งฝิ่นเข้าไปขายในจีน มันสร้างปัญหาอย่างมาก จักรพรรดิเต้ากวงต้องยกเลิกการค้าฝิ่น จึงนำไปสู่สงครามฝิ่นครั้งแรก 18 มีนาคม 1839 จีนแพ้และยอมเซ็นสนธิสัญญานานกิง 29 สิงหาคม 1842

สัญญานี้ยกเลิกระบบกว่างโจวและเปิดเมืองท่า 5 แห่ง คือ กว่างโจว เซียะเหมิน ฝูโจว หนิงโป และเซี่ยงไฮ้ มีอัตราภาษีที่แน่นอน ให้สิทธิสภาพนอกอาณาเขต และยกเกาะฮ่องกงแก่อังกฤษ (ซึ่งเข้ายึดครองตั้งแต่ 26 มกราคม 1841 เพื่อใช้เป็นท่าเรือส่งฝิ่น) จีนยังแพ้สงครามฝิ่นครั้งที่ 2 และต้องเซ็นอนุสัญญาปักกิ่ง 18 ตุลาคม 1860 ยกคาบสมุทรเกาลูนให้อีก ต่อมาอังกฤษขยายอนุสัญญาปักกิ่งเพื่อเช่า 99 ปี (โดยไม่มีค่าตอบแทน) ในเขตนิวเทอริทอรีส์และเกาะรอบข้าง ซึ่งกว้างใหญ่กว่าของเดิมเกือบ 10 เท่า โดยลงนาม 9 มิถุนายน 1898

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นบุกฮ่องกง 8 ธันวาคม 1941 (8 ชม.หลังโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์) อังกฤษยอมแพ้ 25 ธันวาคม ญี่ปุ่นยึดครองจนถึง 15 สิงหาคม 1945 จึงกลับมาอยู่ใต้ปกครองของอังกฤษอีกครั้ง สาธารณรัฐประชาชนจีนก่อตั้ง 1 ตุลาคม 1949 จีนอังกฤษเริ่มกระบวนการเจรจาเกี่ยวกับอนาคตของฮ่องกง 29 มีนาคม 1979

กันยายน 1982 มาร์การ์เร็ต แทชเชอร์มาจีนเพื่อคุยกับเติ้งเสี่ยวผิง จุดประสงค์คือขอต่อสัญญาเช่า แต่เติ้งปฏิเสธ ทั้งกล่าวว่าสัญญานานกิงและอนุสัญญาปักกิ่งไม่เป็นธรรม การแบ่งแยกดินแดนก็ทำไม่ได้ในทางปฏิบัติ จีนต้องการกลับคืนทั้งหมดและขู่ว่าสามารถยึดฮ่องกงได้ในวันเดียว ทั้ง 2 ฝ่ายเจรจาเสร็จสิ้นและลงนามข้อตกลงร่วมกัน 19 ธันวาคม 1984 เวลา 18:00 น.ที่ปักกิ่ง สาระคืออังกฤษจะคืนฮ่องกงหลังเที่ยงคืนวันที่ 1 กรกฎาคม 1997 (หลังจากปกครอง 156 ปี) จีนสัญญาจะให้ฮ่องกงเป็นอิสระทางเศรษฐกิจและปกครองตนเองไปอีก 50 ปี ภายใต้กฎหมายพื้นฐาน (เปรียบเสมือนรัฐธรรมนูญ) ที่ประกาศเมื่อ 4 เมษายน 1990

ดวงกำเนิดฮ่องกงมี 6 ช่วงเวลาที่เป็นไปได้ คือ (1) อังกฤษเข้ายึดครอง (2) สนธิสัญญานานกิง (3) อนุสัญญาปักกิ่ง (4) ขยายอนุสัญญา (5) จีนอังกฤษลงนามข้อตกลงร่วมกัน (6) วันที่ถ่ายโอนอำนาจกันจริง ๆ แต่ผู้เขียนคิดว่าข้อ 2, 5, 6 มีน้ำหนักมากสุด

สนธิสัญญานานกิงลงนามกันบนเรือเอชเอ็มเอส คอร์นวอลลิสเมื่อ 29 สิงหาคม 1842 แม้ไม่ทราบเวลา แต่ดวงดาวก็ให้ข้อมูลหลายประการ พฤหัสเสาร์ราหูเกาะกลุ่มกันในธนู ธนูหมายถึงการค้าต่างประเทศ พฤหัสเสาร์เพิ่งขึ้นวัฏจักร 20 ปีรอบใหม่ 26 มกราคมที่ 17:15 องศาธนู ชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าโลก พลูโตยกเข้าเมษได้เพียง 4 ลิปดา ยืนยันถึงจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนใหญ่

ที่น่าสนใจคือดาวใหญ่ทั้ง 5 พฤหัส-เสาร์-มฤตยู-เนปจูน-พลูโตถอยหลังกันหมด มันไม่มั่นคงหรือให้โทษกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง พุธดับบอกถึงความไม่ซื่อสัตย์-เล่ห์เหลี่ยม-เอาเปรียบของสัญญา อังคารนิจจ์ 180 เนปจูนสนิท หมายถึงความขัดแย้งและอุบัติเหตุเภทภัย (ญี่ปุ่นบุก)

อาทิตย์ จันทร์ และศุกร์คือดาวที่ให้คุณมาก อาทิตย์เกษตร์และเกาะวรโคตมนวางค์ จันทร์อุจจ์ ศุกร์กันย์แม้เป็นนิจจ์ แต่ก็เพ็ญ 42 องศาและเป็นนิจจะภังคะราชาโยค โชคร้ายที่ศุกร์ 90 พฤหัสราหูและ 180 พลูโต แสดงถึงเงินมหาศาลที่ได้มาโดยไม่สุจริต (ฝิ่น)

กำเนิดฮ่องกงมีที่มาที่ไปซับซ้อนเกินคาด