SET Index ขาลงหรือปรับฐาน?

SET Index ขาลงหรือปรับฐาน?

การก่อสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาฯ และจีน โดยการที่สหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงทั้งต่อสหรัฐฯเองและจีน

ภาคการผลิตชะลอตัวและภาคการลงทุนหยุดชะงัก เนื่องจากความไม่แน่นอนของการขึ้นภาษีนี้ ทำให้เริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ และในภูมิภาคอื่นๆ ของโลกรวมถึงประเทศไทย ไทย ซึ่งก็ได้รับการยืนยันจากตัวเลขจีดีพีในไตรมาสที่ 2 ที่ประกาศเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม จีพีดีไตรมาสนี้เติบโตเพียง 2.3% ชะลอตัวลงจากไตรมาส 1 ที่เติบโต 2.8% คิดเป็นอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกที่ 2.6% โดยภาคการส่งออกสินค้าและบริการหดตัว -6.1% จากปีที่แล้ว ผลผลิตทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรหดตัว  ส่วนการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน แม้จะยังเติบโตเป็นบวก แต่ชะลอตัวลงจากไตรมาสที่แล้ว ทำให้ทางสภาพัฒน์จึงปรับเป้าจีดีพีลดลงอีกครั้ง จาก 3.3 - 3.8% มาอยู่ที่ 2.7 - 3.2% ทำให้ภาพตลาดหุ้นดูไม่สดใสนัก

นอกจากนี้ ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม ยังเป็นฤดูกาลประกาศผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 2 ซึ่งส่วนใหญ่ออกมาต่ำกว่าคาดค่อนข้างมาก กำไรรวมของตลาดอยู่ที่ 2.14 แสนล้านบาท ลดลง -17% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2018 และลดลง -21% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 โดยมีไม่กี่กลุ่มธุรกิจเท่านั้นที่มีผลกำไรเติบโตขึ้นจากปีที่แล้ว เช่น กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ เป็นต้น กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ เช่น พลังงาน อสังหาริมทรัพย์ ธนาคารพาณิชย์ และ วัสดุก่อสร้าง เป็นต้น ล้วนมีกำไรลดลง ส่วนหนึ่งมาจากการตั้งสำรองผลประโยชน์ของพนักงานเพิ่มขึ้นตามกฎหมายจาก 300 วันเป็น 400 วัน และอีกส่วนมาจากตัวธุรกิจหลักเอง เช่น การลดลงของราคาน้ำมันดิบและปิโตรเคมีภัณฑ์ทำให้เกิดส่วนขาดทุนจากสินค้าคงคลัง การขาดทุนค่าเงินของบริษัทในกลุ่มส่งออกจากเงินบาทที่แข็งค่า และการชะลอตัวของยอดโอนของอสังหาริมทรัพย์หลังมีการใช้มาตรการ LTV เป็นต้น ทำให้นักวิเคราะห์ปรับลดการคาดการณ์กำไรสุทธิของตลาดในปีนี้ลง จากเดิม ประเมินกำไรต่อหุ้นของตลาดอยู่ที่ระดับ 104 บาท ลดลงมาอยู่บริเวณ 100 -101 บาท จึงทำให้อัตราการเติบโตของกำไรสุทธิในปี 2019 ลดลงเหลือเพียง 2 - 3% เท่านั้น

เมื่อเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัว รัฐบาลและธนาคารกลางของแต่ละประเทศต่างดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจ ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2019 ธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ 2.0 – 2.25% ส่วนประเทศจีนนั้น ธนาคารกลางจีนผ่อนคลายนโยบายการเงินเช่นกัน โดยการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิงจาก 4.35% ลงเหลือ 4.25% ในฝั่งยุโรป รัฐบาลเยอรมันมีการประกาศพร้อมใช้วงเงิน 55 พันล้านยูโรเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นต้น สำหรับประเทศไทยนั้น เพียง 1 สัปดาห์หลังเฟดลดอัตราดอกเบี้ย การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5:2 ปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% เช่นกัน ซึ่งเป็นการลดดอกเบี้ยที่อยู่เหนือความคาดหมาย ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปัจจุบันอยู่ที่ 1.5% ประกอบกับในวันที่ 16 สิงหาคม รัฐบาลได้มีการเสนอมาตรการกระตุ้นอย่างเร่งด่วน ได้แก่ การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้งโดยการปล่อยสินเชื่อฉุกเฉิน มาตรการส่งเสริมการปล่อยสินเชื่อ SME  มาตรการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุน เช่น การแจกเงินเพื่อการท่องเที่ยวจังหวัดที่ตัวเองไม่ได้อยู่ การเพิ่มวงเงินให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นต้น คิดเป็นวงเงิน 3.16 แสนล้านบาทที่พร้อมอัดฉีดเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ

ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมานี้ ตลาดหุ้นปรับตัวลงแล้วกว่า 100 จุด จากจุดสูงสุดในเดือนกรกฎาคมที่ 1748 จุด มาทำจุดต่ำสุดระหว่างวันที่ 1590 จุดในเดือนสิงหาคม และฟื้นตัวขึ้นมาอยู่บริเวณ 1630 จุดในปัจจุบัน การที่ SET Index ปรับตัวลงแรง มาจากปัจจัยกดดันต่างๆ ที่กล่าวในข้างต้น แต่หลังจากนี้ไป เมื่อเครื่องมือทางการเงินและการคลังของแต่ละประเทศเริ่มทำงาน เศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวขึ้นได้ และ SET Index น่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น ซึ่งในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำและยังเป็นขาลง ค่าพีอีที่เหมาะสมของตลาดหุ้นมักจะสูงขึ้น ค่าพีอีของ SET Index น่าจะยืนอยู่บริเวณ 16 -17 เท่าได้ในปีนี้และปีหน้า จากค่าเฉลี่ยในอดีตที่ 15.3 เท่า ซึ่งคิดเป็นระดับดัชนีที่ 1600 – 1700 จุด และการที่ SET Index ปรับตัวลงค่อนข้างแรง ในระยะสั้นอาจเห็นการรีบาวด์ของดัชนี และในระยะกลางหากกำไรตลาดไม่มีการถูกปรับลดลงอย่างรุนแรง ตลาดหุ้นน่าจะยังปรับตัวขึ้นได้ต่อจนถึงต้นปีหน้า ซึ่งนักลงทุนควรลงทุนด้วยความระมัดระวัง หลีกเลี่ยงหุ้นที่อาจได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า เช่น กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์ เป็นต้น และอาจเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่มีเงินปันผลดี หรือลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์หรือทรัสต์ ที่จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ อีกทั้งยังมีความผันผวนต่ำ เหมาะสำหรับภาวะดอกเบี้ยขาลงในปัจจุบัน