ธุรกิจไร้ขีดจำกัด

ธุรกิจไร้ขีดจำกัด

ผู้บริหารและเจ้าของธุรกิจต้องมีความเป็นครูที่รักการสอน

ความท้าทายของโลกธุรกิจวันนี้อยู่ที่ “ความเป็นไปได้ไม่มีที่สิ้นสุด” เพราะเราสามารถคิดและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้อย่างไร้ขีดจำกัดด้วยความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระตุ้นให้คนรุ่นใหม่ได้คิดและทำในสิ่งแปลกใหม่ที่คนรุ่นก่อนไม่สามารถทำได้

แต่ก็ต้องแลกมาด้วยความผันผวนรุนแรง เพราะมีสิ่งใหม่เกิดขึ้นทุกวัน เทคโนโลยีใหม่เข้ามาแทนที่ของเก่า ส่งผลกระทบต่อคนทำงาน สร้างการเปลี่ยนแปลงจนบางธุรกิจแทบจะปิดตัวลงชั่วข้ามคืน 

ในเวลาเดียวกันก็เปิดโอกาสให้เราขยายตัวต่อยอดธุรกิจให้ยิ่งใหญ่ได้อย่างไม่เคยมีมาก่อน นับเป็นความท้าทายที่ผู้บริหารและเจ้าของธุรกิจในทุกวันนี้หลีกหนีไม่พ้นซึ่งมีข้อคิดอยู่ 10 ข้อที่จะขอฝากผู้อ่านทุกท่านดังนี้

ข้อแรก ลักษณะนิสัยที่ผู้บริหารและเจ้าของธุรกิจในทุกวันนี้ต้องมีคือ “ความเป็นครู” ที่รักการสอน รักการถ่ายทอดความรู้ใหม่ๆ อย่างไม่รู้เบื่อ และที่สำคัญต้องรับมือได้กับนักเรียน ซึ่งหมายถึงทีมงานภายใต้การบริหารของเราที่มีความหลากหลาย บางคนเฉลียวฉลาดจับการเปลี่ยนแปลงได้เร็วก็ย่อมเรียนรู้เร็วปรับตัวได้ก่อนคนอื่น

แต่บางคนที่จับการเปลี่ยนแปลงได้ช้า มองโลกในมุมเดียว จึงไม่เข้าใจว่าผลของการเปลี่ยนแปลงจะกระทบกับงานที่ทำอยู่ได้อย่างไร คนกลุ่มนี้ครูต้องไม่ย่อท้อและให้เวลากับเขาจนเขาค่อยๆ เปลี่ยนความคิดและปรับตัวได้ทันกับกระแสโลก

แม้จะต้องใช้เวลาและความทุ่มเทอย่างมากแต่ก็เป็นสิ่งจำเป็น เพราะหากคนๆ นี้ผ่านการพิจารณามาทำงานร่วมกับเราได้แสดงว่าเขาย่อมมีจุดเด่นบางอย่าง ซึ่งเขาอาจปรับตัวช้าในเรื่องนี้ แต่กับบางเรื่องเขาอาจเข้าใจได้เร็ว เพราะแต่ละคนล้วนมีความถนัดความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกัน

หากเราใช้เวลากับเขาให้เพียงพอ ใส่วิญญาณความเป็นครูลงไป ใช้ความทุ่มเทให้ความรู้กับเขา ทำให้เขาเข้าใจสิ่งที่องค์กรต้องการ ทำให้เขามองเห็นความเป็นไปของธุรกิจ ทำให้เขาตามโลกได้ทัน เมื่อไรที่ทำได้เขาจะเป็นกำลังสำคัญและทำให้เรากล้าที่จะหันไปทำสิ่งใหม่ให้องค์กรก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่งได้

แม้แต่คนรุ่นใหม่ที่มาพร้อมความรู้ใหม่ๆ จากรั้วมหาวิทยาลัย แม้แต่บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยชั้นนำที่เก่งกว่าเราก็ยังขาดประสบการณ์ในโลกธุรกิจจริง จึงเป็นหน้าที่เราที่ต้องบ่มเพาะและให้ความรู้แก่เขาอย่างเต็มที่เพื่อให้เขากลายเป็นกำลังสำคัญกับเราในอนาคต

ข้อที่สอง ต้องรู้จักให้อำนาจและต้องมองข้ามจุดเล็กจุดน้อยเพื่อเป้าหมายใหญ่เป็นสำคัญ เพราะเมื่อเราผ่านบทบาทการเป็นครูนั่นหมายถึงเราถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้ทุกอย่างที่มีให้กับเขาเต็มที่แล้ว ก้าวต่อไปก็คือการให้โอกาสเขาในการพิสูจน์ฝีมือด้วยการทำงานจริง

แนวทางการทำงานของแต่ละคนล้วนแตกต่างกันตามบุคลิกและลักษณะนิสัยเฉพาะตัว เราจึงต้องมองข้ามเรื่องหยุมหยิม ไม่จับผิดเขาในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ โดยมองที่ภาพกว้างคือการบรรลุเป้าหมายที่ต้องการเป็นหลัก ซึ่งวิธีนี้เป็นทางลัดในการสร้างบุคลากรที่มีความรับผิดชอบ กล้าคิดกล้าทำ แม้จะมีจุดผิดพลาดบ้างแต่เขาจะเรียนรู้ได้เร็วและไม่ทำผิดซ้ำสอง

ข้อที่สาม ต้องใจกว้างพอ และต้องมองอนาคตของผู้ร่วมงานเป็นสำคัญ เพราะขีดจำกัดของความเป็นเจ้าของธุรกิจทำให้เจ้าของกิจการหรือผู้บริหารหลายๆ คนกลัวว่าลูกน้องจะเก่งเกินไป และในอนาคตอาจเติบโตจนกลายเป็นคู่แข่งของเราได้

การคิดเช่นนี้ทำให้ธุรกิจมีขีดจำกัดที่ทำให้เติบโตได้ยาก ตรงกันข้ามกับการเปิดใจให้กว้างขึ้นและมองเขาในฐานะปุถุชนที่ต้องการความก้าวหน้าในชีวิต หากมองทะลุข้อจำกัดนี้ได้เราก็ย่อมมองหาอนาคตให้เขา ให้เขามีเวทีได้ใช้ความสามารถได้เต็มร้อยโดยมีผลตอบแทนที่เหมาะสม

ในขณะเดียวกันเส้นทางในการเติบโตของเขาก็ย่อมสร้างประโยชน์ซึ่งกันและกัน ซึ่งนั่นก็จะทำให้องค์กรได้ใช้ศักยภาพของบุคลากรเต็มที่ ในขณะที่คนทำงานก็กล้าทุ่มเทเต็มร้อยเพราะมองเห็นอนาคตและเป้าหมายทั้งระยะสั้นและระยะยาวได้ชัดเจน

สำหรับข้อคิดที่เหลือขอให้ติดตามในสัปดาห์ต่อๆ ไปนะครับ...