Bane การเมือง Batman

Bane การเมือง Batman

“เราจะเอาประเทศเราคืนมาจากพวกฉ้อฉล พวกคนรวย พวกที่กดขี่คนมาหลายชั่วคน ที่มอมเมาพวกเราไว้ด้วยโวหารต่างๆนานา

เราจะคืนประเทศให้เป็นของประชาชน ทุกคนจะมีเสรีภาพ.... เราต้องเริ่มจากการพังคุกที่มีเอาไว้ขังแต่คนจน ปลดปล่อยเขาเหล่านั้นที่ถูกกดขี่เอาเปรียบ ให้พวกเขาได้มาเป็นแนวหน้าของกองทัพประชาชน เราต้องจัดการกับพวกที่กุมอำนาจไว้....” 

อย่าเพิ่งคิดว่า คำกล่าวนี้มาจากพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งในประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือมาจากคณะปฏิวัติประชาธิปไตยที่ไหนในโลก แต่ข้อความนี้ดัดแปลงมาจากคำกล่าวในภาพยนตร์เรื่องมนุษย์ค้างคาวตอน อัศวินรัตติกาล โดยผู้ที่กล่าวข้อความนี้ต่อสาธารณะคือ เบน (Bane) ผู้ทรงพลังและเป็นผู้นำการปฏิวัติที่ใช้กำลังความรุนแรงทุกรูปแบบในการเปลี่ยนแปลงเมืองก็อดแธม เพื่อคืนอำนาจให้กับชาวเมือง เบนเป็นคู่ปรับมนุษย์ค้างคาวที่สามารถเอาชนะมนุษย์ค้างคาวได้ในตอนแรก  

จากคำกล่าวของเบนที่ปลุกระดมประชาชนให้ลุกฮือขึ้นโค่นล้มทุกอย่างที่ดำรงอยู่เพื่อนำไปสู่เสรีภาพและความเสมอภาค เบนจึงเป็นผู้นำประชาธิปไตยและผู้นำฝูงชน แต่เขาจะนำไปสู่เสรีภาพและความเสมอภาคของมวลประชามหาชนได้จริงหรือ ? 

มีนักสังคมวิทยาชาวเยอรมันท่านหนึ่งชื่อโรเบิร์ต มิเชล (Robert Michels) ได้เสนอทฤษฎีหรือกฎที่เรียกว่า กฎเหล็กแห่งคณาธิปไตย หรือ Iron Law of Oligarchy (1911) โดยเขาอธิบายว่า องค์กรใดๆ ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยมากแค่ไหน ยังไงก็หนีไม่พ้น ต้องลงเอยในสภาพที่อำนาจมากระจุกตัวอยู่ในคนไม่กี่คน เพราะองค์กรจะเดินหน้าทำงานได้จริงๆ จังๆ มันหนีไม่พ้นที่อำนาจการตัดสินใจจะต้องอยู่ที่คนจำนวนหนึ่ง ไม่ใช่ให้คนส่วนใหญ่ มิเชลเห็นว่า ที่เป็นเช่นนั้นเพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของความจำเป็นในทางเทกทิกและเทคนิคของการบริหารจัดการองค์กร เพราะองค์กรสมัยใหม่เป็นองค์กรที่มีความสลับซับซ้อน และต่อให้จะพยายามทำให้องค์กรมีความเป็นประชาธิปไตยเพียงไร ยังไงก็ต้องลงเอยเป็นคณาธิปไตยที่อยู่ภายใต้การตัดสินใจและการบริหารจัดการของกลุ่มคนหรือชนชั้นนำอยู่ดี ยิ่งองค์กรมีขนาดใหญ่และมีความสลับซับซ้อนมากแค่ไหน ก็ยิ่งจะห่างจากความเป็นประชาธิปไตยมากเท่านั้น    

กระทรวงก็ดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ดี พรรคการเมืองก็ดี ไม่สามารถหนีการอยู่ภายใต้กฎเหล็กแห่งคณาธิปไตยไปได้ ดังนั้น ไม่ว่าพรรคการเมืองใดจะประกาศตัวเป็นประชาธิปไตยหรือมุ่งสู่ความเป็นประชาธิปไตยอันสมบูรณ์แค่ไหน แต่ด้วยการที่เป็นองค์กร ยังไงก็ต้องลงเอยอยู่ภายใต้อำนาจและการตัดสินใจของชนชั้นนำหรือกลุ่มคนจำนวนน้อยๆในพรรค  

มิเชลย้ำอีกว่า จากประสบการณ์ในประวัติศาสตร์ จะพบว่า การพยายามหามาตรการป้องกันใดๆ ทั้งหลายแหล่ที่จะไม่ให้เกิดคณาธิปไตย หรือการกล่าวอ้างการเป็นผู้รับใช้มวลชนล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องเพ้อฝันไร้สาระ หรือเป็นโวหารหลอกรับประทานกันไปเป็นวันๆ เท่านั้น    

ดังนั้น ไม่ว่า เบน จะให้คำมั่นสัญญาต่อประชาชนแค่ไหน มันก็ไม่น่าจะหนีพ้นกฎเหล็กคณาธิปไตยของมิเชลไปได้  สิ่งที่ประชาชนจะได้หลังจากลุกฮือตามเบนล้มล้างอำนาจเก่าไปแล้ว ก็คืออำนาจใหม่ที่กระจุกตัวอยู่ที่เบนและพรรคพวก และถ้าในกลุ่มของเบนเกิดมีปัญหาทะเลาะขัดแย้งกันเอง ในที่สุดก็ต้องจบลงที่ต้องที่มีคนๆเดียวเป็นผู้นำสูงสุดที่จะตัดสินชี้ขาดอยู่ดี 

แต่เป็นไปได้ไหมที่ประชาชนจะไม่ลงเอยอยู่ภายใต้คณาธิปไตย ? 

เป็นไปได้ ! ถ้ามวลชนไม่ยอมอยู่ภายใต้คณาธิปไตยหรือเอกาธิปไตย แต่ให้อำนาจอยู่ที่คนแต่ละคนที่เป็นมวลชนนั้น แต่สภาวะแบบนี้ก็หนีไม่พ้นที่จะลงเอยเป็น อนาธิปไตย ! คือไม่มีใครมีอำนาจสูงสุดหรือมีอำนาจเหนือใคร ทุกคนเท่ากัน อนาธิปไตยมีสองแบบ แบบดีและแบบเลว แบบดีคือ เป็นสภาวะที่คนแต่ละคนอยู่กันได้โดยไม่ต้องมีใครหรือคณะบุคคลใดปกครอง ซึ่งก็เป็นอุดมคติมาก ส่วนแบบเลว ก็คือ สภาวะที่แต่ละคนทำไรตามใจชอบ ไม่ฟังกัน ไม่มีระเบียบและลงเอยห้ำหั่นกันและกัน ซึ่งเห็นได้บ่อยๆ 

แต่ เบน อาจจะแย้งว่า มันไม่มีทางที่เขาและคู่หูของเขาจะลงเอยยึดกุมอำนาจเป็นคณาธิปไตย และมวลชนก็ไม่มีทางที่จะลงเอยเป็นอนาธิปไตย เพราะเบนจะบอกว่า สมัยนี้มีสื่อโซเชียลมีเดียที่จะสะท้อนความเห็นความต้องการของผู้คน และพวกเขาก็จะกลายเป็นแค่ผู้จัดการสนองตอบต่อความต้องการของประชาชน อย่างที่เบนอาจจะอ้างความคิดของฟรานซิส ฟูคุยาม่า นักรัฐศาสตร์ชั้นนำชาวอเมริกันที่เห็นว่า สื่อสมัยใหม่จะช่วยไม่ให้เกิดอำนาจเผด็จการ  

แต่เราก็รู้ๆ กันอยู่ว่า สื่อสมัยใหม่นั้นมันต้องมีผู้คุมระบบ ผู้ประมวลข้อมูลและสามารถบริหารจัดการข้อมูลรวมทั้งการสร้างกระแสเสียงข้างมากโดยผ่านการเจาะไปที่จุดเปราะบางของผู้คนหรือกลุ่มคนได้ผ่านสิ่งที่เรียกว่า BigData 

ตัวอย่างหนึ่งของจุดเปราะบางของคนเราก็คือ หากเราไปกดไลค์หรือไม่ไลค์อะไร โดยเฉพาะที่เป็นเรื่องการเมือง หากสักพักหนึ่ง มีคนจำนวนมากมากดไลค์ในสิ่งที่เราไลค์ไว้ เราก็จะรู้สึกดีมากกว่าในสภาพที่ไม่มีใครมากดไลค์เราเลย หรือคนตามกดเกลียดเรามากๆ แต่ใครจะไปรู้ว่า เสียงไลค์หรือไม่ไลค์จำนวนมากนั้นเกิดจากความคิดอิสระ หรือมาจากการจัดตั้ง ?!! แต่ยังไงก็ตาม เราก็หวั่นไหวไปเรียบร้อยแล้วกับกระแสที่เกิดขึ้น  

ดังนั้น ผู้กุมอำนาจในปัจจุบันและอนาคตอาจจะไม่หมายได้หมายถึงเพียงผู้กุมทุนและกำลังเท่านั้น แต่หมายถึงผู้ควบคุมระบบการสื่อสารสมัยใหม่ และถ้าเป็นอย่างนั้น มันก็หนีไม่พ้นกฎเหล็กคณาธิปไตยของมิเชลอยู่ดี เพียงแต่มันจะเนียนกว่าและมากจนประชาชนไม่รู้สึกตัวหรือไหวตัวทัน 

ดังนั้น เบนและคู่หูของเขายากที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้อย่างจริงจัง สิ่งที่เขาพูด จะรู้ตัวหรือไม่ มันก็เป็นเรื่องเพ้อฝันไร้สาระหรือเป็นโวหารหลอกรับประทานกันไปเป็นวันๆเท่านั้น    

แต่ที่น่าสนใจคือ มนุษย์ค้างคาวที่เป็นคู่ปรับของ เบน นั้น ก็ไม่ใช่เป็นฝ่ายอำนาจเก่าเสียทีเดียว เพราะฝ่ายอำนาจเก่าก็ดูจะไม่สามารถยอมรับจุดยืนนอกกฎหมายของมนุษย์ค้างคาวได้ แต่มนุษย์ค้างคาวก็ไม่ใช่ฝ่ายล้มรัฐ 

ท่ามกลางกระแสการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างฝ่ายอำนาจเดิมกับเบน เราจะจัดวางให้ มนุษย์ค้างคาว-อัศวินรัตติกาลอยู่ตรงไหน ?