การเงินที่ยั่งยืน: ก้าวแรกสู่ความแข็งแกร่ง (2)

การเงินที่ยั่งยืน: ก้าวแรกสู่ความแข็งแกร่ง (2)

สวัสดีครับ ในบทความก่อนหน้านี้ ผมได้กล่าวถึงความคืบหน้าด้านการเงินที่ยั่งยืน (Sustainable Finance)

โดยเน้นไปที่ตัวเลขที่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะปริมาณผลิตภัณฑ์ทางการเงินและการลงทุนเพื่อความยั่งยืนในช่วงกลางปี 2560 ถึงกลางปี 2561 อ้างอิงจากรายงาน Sustainable Finance Progress Report ที่ได้รับการเผยแพร่โดย UN Environment ในเดือนมีนาคม ในฉบับนี้จะเป็นภาคต่อที่ไม่ได้เน้นด้านตัวเลข แต่เป็นภาพรวมความก้าวหน้าในมุมมองด้านต่างๆ

นอกเหนือไปจากปริมาณเงินลงทุนทั่วโลกที่สะท้อนให้เห็นว่าการเงินที่ยั่งยืน ไม่ได้เป็นเพียงแค่ผลิตภัณฑ์การเงินที่เน้นไปที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเฉพาะกลุ่ม (Niche) อีกต่อไป หากแต่กลายเป็นแนวคิดกระแสหลัก (Mainstream) มากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีตัวชี้วัดใหม่จำนวนมากที่เป็นหลักฐานสำคัญว่าองค์กรระดับโลกทั้งในภาครัฐและเอกชน ได้ผนวกแนวคิดด้านความยั่งยืนเข้าไปสู่การตัดสินใจที่สำคัญทางการเงิน อาทิ ธนาคารเพื่อการพัฒนาต่างๆ นักลงทุนสถาบัน ธนาคารพาณิชย์ บริษัทประกัน และบริษัทเอกชนใหญ่ๆ บางแห่ง ขณะเดียวกันผู้ให้บริการด้านการเงินอื่นๆ รวมถึงบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ตลาดหลักทรัพย์ในประเทศต่างๆ ต่างก็บรรจุแนวคิดด้านความยั่งยืนในผลิตภัณฑ์ของตนผ่านการให้ข้อมูล การวัดมูลค่า (Valuation) และวิธีการด้านการจัดการความเสี่ยง เป็นต้น

 ปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวผลักดันให้เกิดการเร่งกระแสแห่งการเงินที่ยั่งยืนมีอยู่ 2 ด้านหลักๆ ดังนี้

ปัจจัยด้านกรอบการทำงานระดับสากล (Universal Framework) เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ที่จัดทำขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติ เปรียบเสมือนฟันเฟืองตัวใหญ่ที่ก่อให้เกิดพลวัตที่มีความต่อเนื่องในห่วงโซ่อุตสาหกรรมการลงทุน โดยช่วยขยายขอบเขตของแนวคิดความยั่งยืนให้กว้างขวางมากขึ้นไปสู่ผลลัพท์ที่ยั่งยืน (Sustainability Outcome) นอกเหนือไปจากปัจจัยด้านทรัพยากร (Input) กระบวนการ และความเสี่ยง ในเดือนตุลาคมปี 2561 ธนาคารขนาดใหญ่จำนวน 28 แห่งใน 5 ทวีปได้ตกลงกันภายใต้หลักการ Principles for Responsible Banking ซึ่งเป็นหลักการที่กำหนดไว้ตามกรอบของ SDGs ส่วนในวงการลงทุน บรรดาเจ้าของสินทรัพย์และผู้จัดการกองทุนต่างก็กำหนดกลยุทธ์ด้านการลงทุนไปในทางเดียวกันกับเป้าหมายของ SDGs ตัวอย่างเช่น เครือข่ายที่เรียกว่า Principles for Responsible Investment ในระดับของผลิตภัณฑ์การเงินนั้น เกือบร้อยละ 40 ของพันธบัตรสีเขียว พันธบัตรเพื่อสังคม และพันธบัตรยั่งยืนที่ออกในช่วงเดือนมกราคมถึงกรกฎาคมปี 2561 ใช้หลักการเดียวกันกับเป้าหมาย SDGs ในส่วนของอุตสาหกรรมปลายน้ำด้านการลงทุน มีมาตรการหลายอย่างกำลังได้รับการพัฒนาเพื่อให้สามารถวัดผลกระทบด้านความยั่งยืนได้ ข้อตกลง Stockholm Declaration ซึ่งมีคู่สัญญามากถึง 29 ราย คิดเป็นจำนวนสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

ปัจจัยด้านข้อมูลสารสนเทศที่มีคุณภาพดีขึ้น การมุ่งสู่เป้าหมาย SDGs นั้น องค์กรต่างๆ ต้องการข้อมูลที่มีคุณภาพมากขึ้นเพื่อการตัดสินใจทางการเงินที่มีประสิทธิผล ขณะที่ข้อมูลด้านความยั่งยืนมีเพิ่มมากขึ้นในด้านคุณภาพ ความต่อเนื่องสอดรับกันและมีความเป็นปัจจุบัน ดังนี้

  • การสร้างความตกลงร่วมและการผนึกกำลังระหว่างภาคส่วนต่างๆ มีการจัดทำข้อตกลงร่วมระหว่างผู้เกี่ยวข้องจำนวนมากในการสร้างมาตรฐานด้านการจัดอันดับและประเภท และคำจำกัดความด้านการเงินที่ยั่งยืนมากขึ้นเรื่อยๆ (Taxonomies and Definitions) ยกตัวอย่างเช่นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคด้านการเงินที่ยั่งยืนและข้อตกลงด้านการจัดอันดับและประเภทของยุโรป ได้ร่วมมือกันผ่านเครือข่าย Sustainable Banking Network และ Green Finance Leadership Program ของมหาวิทยาลัยชิงหวา (Tshinghua University) โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 35 ประเทศ
  • ข้อมูลที่มองไปข้างหน้า อุตสาหกรรมการเงินเริ่มเปลี่ยนจากการใช้ข้อมูลย้อนหลังที่เป็นข้อมูลภาพรวมทางสถิติมาเป็นข้อมูลที่มองไปข้างหน้า ผ่านการแยกย่อยแบบเฉพาะเจาะจง มีความถี่มากขึ้น และแบ่งพื้นที่มากขึ้น การให้ข้อมูลด้านการเงินที่ยั่งยืนผ่านการวิเคราะห์เชิงสถานการณ์ (Scenario Analysis) มีเพิ่มมากขึ้น
  • ข้อมูลที่โปร่งใสมากขึ้น ผู้ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลด้านการเงินต่างขยายขอบเขตของการเก็บข้อมูลมากขึ้น ในสหรัฐอเมริกา มีบริษัทในกลุ่ม S&P 500 มากถึงร้อยละ 44 ที่กล่าวถึงมุมมองด้านความยั่งยืนในการประกาศผลประกอบการในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2559 ถึงไตรมาส 4 ปี 2560 ตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกต่างขานรับด้วยการเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น โดยมีข้อกำหนดในการเปิดเผยข้อมูลด้านการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) ที่เป็นลายลักษณ์อักษรเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 85

                จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่าปัจจัยด้านกรอบการทำงานระดับนานาชาติ และข้อมูลที่มีคุณภาพขึ้น  เป็นปัจจัยที่ร่วมผลักดันให้เกิดกระแสหลักของการเงินที่ยั่งยืน อย่างไรก็ตาม รายงานของ UN Environment สรุปไว้อย่างน่าสนใจว่าแม้กลไกการส่งผ่านระหว่างอุตสาหกรรมการเงินและผลลัพธ์ที่มีความยั่งยืนในระบบเศรษฐกิจจริงจะเริ่มมีความคล่องตัวขึ้นแต่ก็ยังไม่สมบูรณ์นัก ดังนั้นประเด็นนี้น่าจะเป็นประเด็นที่ประชาคมโลกให้ความสนใจต่อไปในหลายปีข้างหน้านี้ครับ