โครงสร้างพื้นฐานด้าน“บริการ”ดิจิทัล

โครงสร้างพื้นฐานด้าน“บริการ”ดิจิทัล

จีน และ รัสเซีย เป็นสองประเทศที่มีความคล้ายคลึงกันอยู่หลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จุดยืนของทั้งสองประเทศ

ที่มักจะแสดงท่าทีเป็นคู่ปรับที่สำคัญในการคานอำนาจกับ สหรัฐอเมริกา และ ยุโรป ทางด้านการเมืองของโลก

แม้แต่ในด้าน เศรษฐกิจและการค้าโลก สถานการณ์ก็ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก เพราะจีนและรัสเซีย ก็ยังคงมีท่าทีที่มีการคานอำนาจกับสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในวงการดิจิทัล โดยมี หัวเว่ย เป็นตัวละครที่สำคัญในสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน

แต่ท่ามกลางความเหมือนก็ยังมีความแตกต่าง เพราะยุโรป ก็กำลังตีตัวออกห่างจากสหรัฐ เพื่อดิ้นรนไม่ให้โครงสร้างพื้นฐานทางด้านบริการดิจิทัลของประเทศถูกครอบงำโดยกลุ่มบริษัทข้ามชาติจากสหรัฐ ที่ถูกขนานนามว่า GAFA ได้แก่ Google, Amazon, Facebook และ Apple โดยอาศัยทั้งการออกกฎหมายและการฟ้องร้องเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับธุรกิจและประชาชนของสหภาพยุโรป

หากเรานึกถึงโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ (Critical Infrastructure) ทางด้านดิจิทัล โดยทั่วไป เราคงต้องนึกถึงโครงสร้างพื้นฐานที่เมื่อหยุดทำงาน จะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อการใช้ชีวิตในระบบดิจิทัล ในปัจจุบัน คนไทยมักนึกถึง โครงข่ายโทรคมนาคม ระบบเซอร์เวอร์ หรือ ดาตาเซ็นเตอร์ ที่มีรูปลักษณะเป็นฮาร์ดแวร์ที่มีกายภาพอยู่ในประเทศ และสามารถจับต้องได้

แต่ Critical Infrastructure ด้าน “บริการ” ดิจิทัล กลับมีความสำคัญที่ไม่แพ้กลุ่มแรก แม้จะไม่มีลักษณะเป็นภายภาพอยู่ในประเทศหรือสามารถจับต้องได้ เพราะเป็นบริการที่คนไทยใช้อยู่ทุกวัน หากเมื่อหยุดทำงานหรือต้องระงับไป จะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อการใช้บริการในโลกดิจิตอลเช่นกัน เหล่านี้คือ เสิร์ช์เอนจิน โซเชียลเน็ตเวิร์ค วีดีโอแชร์ริ่ง แผนที่ ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นบริการของกลุ่มบริษัท GAFA จากสหรัฐอเมริกา โดยมีส่วนหนึ่งที่ให้บริการมาจากนอกเขตปกครองของกฎหมายไทย หรือ ภาษีไทย

หากวันหนึ่ง Google, Amazon, Facebook และ Apple เหล่านี้ ถูกสั่งโดยใครก็ตามให้ระงับการให้บริการ เสิร์ช์เอนจิน โซเชียลเน็ตเวิร์ค วีดีโอแชร์ริ่ง แผนที่ แอนดรอยด์ ฯลฯ ในประเทศไทย อะไรจะเกิดขึ้น โครงข่ายโทรคมนาคม ระบบเซอร์เวอร์ หรือ ดาตาเซ็นเตอร์ ที่อยู่ในประเทศ จะยังมีความหมายอีกต่อไปหรือไม่

เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ จะต้องล่มสลายภายในช่วงพริบตาหรือไม่

ความคล้ายคลึง ของ จีน และ รัสเซีย คือการที่เป็นสองประเทศสุดท้ายในโลก ที่กลุ่มบริษัทข้ามชาติจากสหรัฐ ยังไม่สามารถครอบงำ Critical Infrastructure ด้านบริการดิจิทัล ได้อย่างสำเร็จ

สำหรับประเทศจีน Baidu, WeChat และ Yorku คือ เสิร์ช์เอนจิน โซเชียลเน็ตเวิร์ค และ วีดีโอแชร์ริ่ง ที่ครองตลาด และเกิดขึ้นมาจากสตาร์ทอัพภายในประเทศจีนเอง

สำหรับประเทศรัสเซีย Yandex และ Vk คือ เสิร์ช์เอนจิน และ โซเชียลเน็ตเวิร์ค ที่ครองตลาด และเกิดขึ้นมาจากสตาร์ทอัพภายในประเทศรัสเซีย

ไม่ว่าการที่ Critical Infrastructure ด้านบริการดิจิทัล ของจีนและรัสเซีย เป็นชัยชนะของบริษัทในประเทศ จะเกิดขึ้นจากนโยบายที่กีดกัน Google และ Facebook ในยุคแรกของอินเทอร์เน็ตก็ตาม แต่ผลที่ได้คือ ทั้งสองประเทศนี้ เป็นปราการด่านสุดท้ายของทั้งโลก ที่ยังไม่ถูกครอบงำโดยธุรกิจข้ามชาติจากสหรัฐ ทำให้ทั้งสองประเทศ สามารถปกครอง Critical Infrastructure อยู่ภายใต้กฎหมายและภาษีของตน และยังมีรายได้ที่หมุนเวียนอยู่ภายในระบบเศรษฐกิจของประเทศ แทนที่จะถูกส่งกลับไปสหรัฐ หรือ สิงค์โปร์ ที่เป็นดินแดนภาษีต่ำ

หลายปีก่อนหน้านี้ ยังมี ญี่ปุ่น และ เกาหลี ที่สามารถอยู่เหนือการถูกครอบงำทางดิจิทัลของกลุ่มบริษัท GAFA ได้ แต่ในปัจจุบัน ก็ได้เสียท่าให้กับสหรัฐเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ล่าสุดหัวเว่ยของประเทศจีน ได้ประกาศ ร่วมมือกับ Yandex ของประเทศรัสเซีย ในการพัฒนาแผนที่ โดยหลายฝ่ายได้คาดนะเนว่า เพื่อคานอำนาจกับ Google Maps ที่ยังคงประสบความสำเร็จอยู่ในประเทศจีน

สำหรับประเทศไทยเอง ก็ไม่แตกต่างกับประเทศที่เหลือของโลก ที่ถูกครอบงำไปแล้ว แต่ก็เพียงหวังว่าภาครัฐของไทย จะได้ศึกษาการต่อสู่ของ ทั้ง จีน รัสเซีย และ ยุโรป และนำมาประยุกต์ใช้เป็นแบบอย่าง เพื่อลดความเหลื่อล้ำทางเศรษฐกิจดิจิทัลระหว่างประเทศ และเพิ่มโอกาสที่ ไทย จะสามารถมีอิสระภาพและความมั่นคงทางไซเบอร์​ อย่างที่ไม่ต้องอาศัยประเทศมหาอำนาจหายใจ