เศรษฐกิจไทย 2020: สู่ภาวะ 0-1-2

เศรษฐกิจไทย 2020: สู่ภาวะ 0-1-2

เนื่องด้วยผู้เขียนได้รับเกียรติอย่างสูงให้เป็นวิทยากรในงานเสวนา “เศรษฐกิจไทยและตลาดการเงินโลกปี 2019 กับการลงทุนในภาวะผันผวน”

ที่จัดโดยกองทุนภายใต้การกำกับของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ผู้เขียนจึงขอนำมุมมองบางส่วนมาแชร์ในบทความนี้ด้วย

หากให้สรุปธีมที่ผู้เขียนกล่าวไว้ในงานเสวนาสั้น ๆ 2 คำ คือในปีนี้และปีหน้า เศรษฐกิจโลกจะอยู่ในภาวะ " Low rate, low growth" อันได้แก่ภาวะเศรษฐกิจโลกที่โตต่ำ และดอกเบี้ยทั่วโลกจะเป็นขาลง ขณะที่เศรษฐกิจไทยจะอยู่ในภาวะ “0-1-2” อันได้แก่ภาวะที่การส่งออกจะเติบโต 0% เงินเฟ้อและดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ที่ 1% และเศรษฐกิจไทยจะเติบโตในช่วง 2% (+/-)

สาเหตุที่ผู้เขียนมองว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้และปีหน้าจะอยู่ในภาวะ Low rate, low growth คือโตต่ำ ที่ระดับประมาณ 3% (อันเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดตั้งแต่วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์) แต่ไม่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยเช่นเดียวกับที่ตลาดการเงินมอง เป็นเพราะว่าหากพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานแล้ว เศรษฐกิจโลกในปี 2018 เป็นเพียงภาวะ Late cycle หรือช่วงเศรษฐกิจขาลง หลังจากที่เกิดภาวะ Synchronized growth หรือการเติบโตอย่างพร้อมเพรียงในปี 2017

แต่สาเหตุหลักที่ทำให้เศรษฐกิจโลกตกต่ำในปี 2018-19 ได้แก่ความไม่แน่นอนจากสงครามการค้าเป็นหลัก ซึ่งทำให้การส่งออกของประเทศในเอเชีย (ที่มีการค้าขายกับจีน) หดตัว และกระทบต่อแผนการลงทุนของบริษัทต่าง ๆ ทั่วโลก (โดยเฉพาะบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเพื่อส่งออก)

หากพิจารณาภาพระยะยาวของสงครามการค้า จะเห็นได้ว่าเป็นความต้องการของสหรัฐที่ต้องการจะ “คุมกำเนิด” การก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของจีน ทั้งด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี การเงิน รวมถึงการทหาร ดังนั้น นับจากนี้ไป ความรุนแรงของสงครามเย็นระหว่างสองยักษ์ใหญ่จะมากขึ้นเรื่อย ๆ และอาจเปลี่ยนแปลงไปในมุมอื่น ๆ แทน

อย่างไรก็ตาม ยังมี 2 ปัจจัยบวก ที่จะลดทอนโอกาสที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ได้แก่ (1) การทำนโยบายการเงินผ่อนคลายของธนาคารกลางทั่วโลกโดยเฉพาะสหรัฐ (Fed) ซึ่งมีแนวโน้มที่จะผ่อนคลายมากขึ้นหากสงครามการค้ารุนแรงขึ้น และ (2) การที่สหรัฐกำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีหน้า และจากการที่ทรัมพ์ใช้ภาวะเศรษฐกิจและดัชนีหุ้นเป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดคะแนนิยม ดังนั้น หากหุ้นตกมากจากภาวะสงครามการค้ารุนแรงขึ้น ก็มีแนวโน้มที่เขาจะต้องยอมผ่อนคลายความตึงเครียดลง

ด้วยภาวะเช่นนี้ ผู้เขียนจึงมองว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้และปีหน้าจะถูกกดด้วยสงครามการค้า แต่จะได้ปัจจัยบวกจากการผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางทั่วโลก ทำให้จะเป็นโลกที่ “โตต่ำ ดอกเบี้ยต่ำ” และเผชิญกับ 3 ความเสี่ยงหลัก

(1) ความเสี่ยงวิกฤตความเชื่อมั่น ที่เริ่มจากภาวะ Inverted Yield Curve (ผลตอบแทนพันธบัตรกลับทิศ) ในสหรัฐ อันเป็นเครื่องชี้วัดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอีก 1-2 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้นักธุรกิจและนักลงทุนยุติกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้ง ๆ ที่พื้นฐานเศรษฐกิจในปัจจุบันไม่ได้เลวร้าย

(2) ทรัมพ์บ้าเลือด (Mad Trump) ที่กล้ายกระดับความรุนแรงกับจีนมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยในปัจจุบัน แม้ว่าตลาดหุ้นสหรัฐจะตกต่ำกว่า 10% นับจากจุดสูงสุด แต่คะแนนนิยมในตัวทรัมพ์ก็ยังไม่ได้แย่ลง เนื่องจากคนอเมริกันเริ่ม “บ้าเลือด” และเกลียดชังจีนมากขึ้น (เช่นเดียวกับคนจีนที่เกลียดชังอเมริกามากขึ้น) ดังนั้น ทรัมพ์อาจดำเนินนโยบายการค้าการลงทุนแบบสุดโต่งกับจีนเพื่อเพิ่มคะแนนนิยม จนอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถย้อนกลับได้

(3) ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ต่าง ๆ เช่น Brexit สถานการณ์ในฮ่องกง ไต้หวัน คาบสมุทรเกาหลี และตะวันออกกลาง เป็นต้น

ในส่วนของไทย ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันชะลอตัวลงทุกด้าน อันเป็นผลจาก 3 ปัจจัยลบหลักคือ (1) ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง (2) สงครามการค้า และ (3) นโยบายการเงินที่ตึงตัว โดย 2 ปัจจัยแรกส่งผลหลักทำให้การส่งออก การลงทุนภาคเครื่องมือเครื่องจักร และภาคการผลิตหดตัว ส่วนปัจจัยที่สามเป็นส่วนทำให้เงินบาทแข็ง เงินเฟ้อต่ำ และการลงทุนภาคอสังหาฯ และก่อสร้างชะลอตัวลง

โดยเครื่องชี้วัดที่ผู้เขียนกังวลคือการนำเข้าของไทย ที่เป็นเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจล่วงหน้าได้อย่างดี โดยการนำเข้าสำคัญทั้งสินค้าทุน (ชี้วัดการลงทุนในอนาคต) วัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง (ชี้วัดการผลิต) รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภค (ชี้วัดการบริโภค) ต่างหดตัวในระดับสูงในช่วงครึ่งปีแรกทั้งสิ้น นอกจากนั้น ปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ได้แก่การเบิกจ่ายงบลงทุนที่จะล่าช้าตามงบประมาณปีหน้าที่ไม่สามารถออกได้เนื่องจากการเปลี่ยนรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม ในข่าวร้ายก็มีข่าวดี 2 ปัจจัยบวกสำคัญที่จะเป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ต่อเนื่องปีหน้าได้แก่ (1) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจกลางปีของรัฐบาล และ (2) การจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการเงินการคลังให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ในส่วนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจกลางปีของรัฐบาลนั้น เหนือกว่าที่ตลาดคาดเพราะมีมูลค่าถึง 3.2 แสนล้านบาท(1.8% ของ GDP) โดยมีทั้งมาตรการกระตุ้นการบริโภค ลงทุน และช่วยเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย โดยผู้เขียนมองว่าอาจช่วยให้เศรษฐกิจโตได้ประมาณ 3.0% ในปีนี้ (จากที่เคยมองว่าจะโตประมาณ 2.6-2.7%) โดยมาตรการกระตุ้นการลงทุนน่าจะมีผลต่อการบวกต่อเศรษฐกิจมากที่สุดเพราะจะทำให้เกิดการหมุนของเงิน (Velocity of money)

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมาตรการส่วนใหญ่เป็นมาตรการระยะสั้นและกระตุ้นการบริโภคเป็นหลัก ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่จะยิ่งซึมเซามากกว่าปีนี้ ทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะชะลอลงมาก

แต่ผู้เขียนเชื่อว่า ด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลัง จะทำให้การดำเนินนโยบายการเงิน มีแนวโน้มที่จะไปในทิศทางเดียวกับนโยบายการคลังมากขึ้น โดยจากภาคเศรษฐกิจต่างประเทศที่กำลังชะลอตัว (ทำให้การส่งออกโต 0%) และลุกลามไปสู่ในประเทศมากขึ้น เงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่า ขณะที่เงินเฟ้อและเสถียรภาพระบบการเงินไม่เป็นความเสี่ยงนั้น นโยบายการเงินจึงสามารถผ่อนคลายได้ โดยทั้งเงินเฟ้อและดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับเดียวกัน (ที่ 1%) ส่งผลให้นโยบายการเงินไม่ตึงตัวจนเกินไป

ยิ่งลดดอกเบี้ยเร็วเท่าไหร่ เศรษฐกิจก็ยิ่งฟื้นตัวเร็วเท่านั้น หาไม่แล้ว เศรษฐกิจไทยปีหน้า คงหนีไม่พ้นภาวะ 0% (ส่งออก) 1% (ดอกเบี้ยและเงินเฟ้อ) 2% (GDP) อย่างแน่นอน

[ บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่ ]