ป่าแหว่งยังไม่จบ

ป่าแหว่งยังไม่จบ

ผมเชื่อว่าแทบทุกท่านต้องเคยได้ยินเรื่องราวของ “บ้านป่าแหว่ง” ที่เป็นบทเรียนของสิ่งชำรุดในระบบรัฐราชการรวมศูนย์มาก่อน

 เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่กินพื้นที่ข่าวของปี 2561 นานหลายเดือน รัฐบาลที่แล้วส่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีไปเจรจา แล้วห้ามใช้พื้นที่ จากนั้นก็เงียบหายไป คนจำนวนมากคิดว่าเรื่องยุติไปแล้ว แต่ที่จริงไม่ใช่ครับ ชาวเชียงใหม่ยังสับสนงุนงงอยู่เลยว่า ตกลงเรื่องนี้จะเอาอย่างไร เพราะยังมีความไม่ลงตัวในภาคปฏิบัติ

เพื่อความเข้าใจตรงกัน ผมขอเล่าที่มาที่ไปพอสังเขป

โครงการบ้านพักข้าราชการตุลาการที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “บ้านป่าแหว่ง ดำเนินการโดยสำนักงานศาลยุติธรรม บนพื้นที่ประมาณ 147 ไร่ อยู่ในเขต อ.แม่ริม ถัดจากสนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปีไปไม่มาก เป็นที่ดินราชพัสดุบนเชิงดอยสุเทพ ซึ่งบริเวณแถบนั้นเป็นที่ของฝ่ายทหารครอบครองมายาวนาน จึงมีสภาพเป็นป่าสมบูรณ์ ถัดขึ้นไปเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติกลืนเป็นป่าผืนเดียวกัน

สำนักงานศาลยุติธรรม (เดิม-กระทรวงยุติธรรม) ได้ยื่นขอใช้ที่ดินจากทหารมาตั้งแต่ ปี 2540 แต่ไม่ได้รับการอนุญาต แต่มายื่นอีกรอบปี 2545 รอบนี้ได้รับการอนุญาต มีการรังวัด และถอนการใช้ที่ดินของทหาร แล้วก็มอบให้สำนักงานศาลยุติธรรมใช้ประโยชน์เมื่อปี 2549

ซึ่งก็แปลกเพราะระเบียบของราชพัสดุท่านกำหนดว่า หน่วยงานใดได้รับอนุญาตใช้ที่ดินราชพัสดุไปแล้ว ต้องดำเนินการตามที่ขอภายใน 2 ปี แต่ทว่ากว่าที่สำนักงานศาลยุติธรรมจะใช้ที่ดินผืนนี้ก็จนปี 2556 ได้ประกาศเปิดประมูลโครงการก่อสร้างสำนักงานศาลยุติธรรมภาค 5 พร้อมกับ อาคารชุด 13 หลัง และบ้านเดี่ยวอีก 45 หลัง

การก่อสร้างเริ่มเมื่อประมาณปลายปี 2557 และมีการไถที่ป่าสมบูรณ์บริเวณที่เป็นบ้านเดี่ยวเมื่อ 2558 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ประชาชนชาวเมืองโดย คุณธีระศักดิ์ รูปสุวรรณจากชมรมร่มบินได้บินไปพบเข้า ยุคนั้นเป็นยุค คสช.กำลังต้องการความสงบเรียบร้อย ห้ามเคลื่อนไหวใดๆ แม้กระทั่งประชุมสัมมนาบางประเด็นก็ไม่ได้ การเคลื่อนไหวของประชาชนจึงไม่มีเสียงดังและยังเป็นห้วงเวลาอันโศกเศร้าของพสกนิกรชาวไทย จนกระทั่งต้นปี 2561 เรื่องนี้จึงเริ่มเป็นที่สนใจกว้างขวางขึ้นอีกครั้งหนึ่ง จนเกิดการชุมนุมเรียกร้องครั้งใหญ่ที่ข่วงประตูท่าแพเมื่อ 28 เม.ย.2561 มีการรณรงค์กันทั้งจังหวัดโดยเห็นว่าเป็นบาดแผลที่กรีดลึกกระทบกระเทือนต่อจิตใจของคนเชียงใหม่เพราะบริเวณที่ก่อสร้างอยู่เชิงดอยสุเทพอันเป็นเคารพนับถือของคนเชียงใหม่ทั้งมวล ซึ่งทางศาลท่านก็อ้างว่าทำถูกต้องตามกฎหมาย แต่ก็มีคนท้วงว่าจริงหรือเพราะขนาด อบต.ดอนแก้ว ขอดูแบบตามกฎหมายก็ไม่ยอมส่งให้ทั้งที่แจ้งว่าจะส่งๆแต่ก็ไม่ส่งให้แต่อย่างใด

ส่วนฝ่ายบริหารก็บอกว่าทุบไม่ได้ๆ ทั้งๆ ที่อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 แต่ก็ไม่มีใครกล้าเพราะเห็นว่าไม่อยากไปมีเรื่องกับศาล

การรณรงค์มีการผูกผ้าและริบบินสีเขียวที่บริเวณต้นไม้และรถยนต์กันอย่างกว้างขวาง พ่อค้าแม่ขายในตลาดติดป้ายไม่ขายของให้ตุลาการป่าแหว่ง เหตุการณ์ใหญ่โต จนถึงกับมีการค้นบ้านค้นช่องและการแจ้งความดำเนินคดีหมิ่นประมาทต่อแกนนำที่กรุงเทพฯ ซึ่งก็แปลกเพราะทั้งมูลคดีและภูมิลำเนาของจำเลยก็อยู่ที่เชียงใหม่ ทำให้ถูกมองว่าเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อเพิ่มภาระแก่แกนนำ

รัฐบาลที่แล้วส่งตัวแทนไปเจรจากับชาวเมือง แล้วต่อมาก็ตั้งคณะกรรมการมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ เป็นประธาน มีคณะกรรมการระดับจังหวัด ซึ่งระดับจังหวัดก็มีมติให้รื้อบ้านทั้งหมดที่ล้ำแนวเขตป่าเดิมออกไปพร้อมๆ กันนั้น คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) ก็มีมติย้ายที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไปยัง จ.เชียงราย

เมื่อ 7 ธ.ค. 2561 คณะกรรมการแก้ไขปัญหากรณีบ้านพักข้าราชการตุลาการ ได้มีมติ 6 ข้อ คือ

  1. ห้ามมิให้มีผู้เข้าพักอาศัยในบ้านพักเดี่ยว 45 หลัง
  2. ให้จังหวัดเชียงใหม่ร่วมกับนักวิชาการและเครือข่ายประชาชนปลูกต้นไม้ฟื้นฟูความสมบูรณ์ของบ้านพัก45 หลัง
  3. ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เร่งรัดการขออนุญาตขอใช้ที่ดินของศาลยุติธรรมเพื่อสร้างที่ทำการใหม่
  4. การส่งคืนพื้นที่บ้านพักเดี่ยว 45 หลัง ให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และกฎหมายเกี่ยวข้อง
  5. การรื้อถอน หากจำเป็นต้องดำเนินการในอนาคต ขอให้หน่วยงานเกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมาย
  6. การพักอาศัยในอาคารชุด 9 หลัง (เรียกร้องให้รื้อ9 หลังที่ล้ำแนวเขตจาก 13 หลัง) ที่มีการพักอาศัยอยู่แล้ว เห็นสมควรให้พักอาศัยอยู่ต่อไปตามความจำเป็น รวมทั้งให้ปลูกต้นไม้และฟื้นฟูพื้นที่

ต่อมามีการนำเรื่องนี้เข้ามาที่ประชุมครม.รับทราบ

จากเรื่องราวโดยสังเขปที่ผมได้กล่าวมา ปรากฏข้อเท็จจริงว่าทุกวันนี้กรณีบ้านป่าแหว่งยังไม่จบ

มติคณะกรรมการแก้ปัญหาบอกว่า ให้จังหวัดกับประชาชนไปร่วมกันฟื้นฟู โดยจะจัดงบประมาณให้ 19 ล้านบาท แต่ผู้ว่าฯเชียงใหม่เพิ่งประชุมเมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา ว่าได้งบมาเพียง 9 ล้านบาท โดยเป็นการเตรียมปลูกต้นไม้ 2,700 ต้นและพืชคลุมดิน (ผมก็ยังงงๆ อยู่ว่าจะปลูกกันอย่างไร บ้านพัก 45 หลังก็ยังตั้งอยู่อย่างนั้น) โดยต้องการให้ประชาชนเข้าร่วม ซึ่งประชาชนคงเข้าไปรดน้ำ ดูแลได้ยาก เพราะต้องขออนุญาตศาลทุกครั้ง จนบัดนี้ สนง.ศาลก็ยังไม่ได้คืนพื้นที่ให้กรมธนารักษ์แต่อย่างใดประชาชนจะเข้าไปดูพื้นที่ ไปตระเตรียมก็ยังเข้าไปไม่ได้ แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ราชการด้วยกันยังต้องขออนุญาตเป็นครั้งๆ ไป

ทั้งๆ ที่ มติคณะกรรมการฯ ที่รัฐบาลตั้งขึ้นมาเองบอกว่า การส่งคืนที่ดินบ้านพัก 45 หลังให้ดำเนินการตามขั้นตอน คนเชียงใหม่เขาอยากทราบว่า ขั้นตอนดำเนินการส่งมอบคืนน่ะไปถึงไหนแล้ว ชาวบ้านเขาจะได้ไปปลูกต้นไม้กัน หรือว่าตกลงกับผู้รับเหมาในเรื่องการส่งมอบงานยังไม่ได้น่ะครับ