รัฐบาลอินเดียกับความพร้อมเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ

รัฐบาลอินเดียกับความพร้อมเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ

หลังจากเข้าพิธีสาบานตนเพื่อรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 เมื่อวันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา

นายนเรนทรา โมดีก็ได้เดินหน้าสานต่อนโยบายต่าง ๆ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจอย่างแข็งขัน โดยหนึ่งในนโยบายที่สำคัญคือการประกาศว่าจะส่งเสริมให้เศรษฐกิจอินเดียถูกขับเคลื่อนโดยการลงทุนเป็นหลัก (Investment-led Growth) และตั้งเป้าหมายให้อินเดียมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 1.62 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายใน 5 ปีข้างหน้า โดยจะเน้นส่งเสริมการลงทุนทั้งจากภายในประเทศ และจากต่างประเทศ

บทความฉบับนี้จึงจะนำเสนอแนวทางการดำเนินนโยบายเพื่อดึงดูดการลงทุนของอินเดีย ตามที่สะท้อนให้เห็นจากการแถลงแผนงบประมาณประจำปี 2019-2020 เมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นการแถลงแผนงบประมาณครั้งแรกหลังรัฐบาลฯ ได้รับชัยชนะเลือกตั้งเป็นครั้งที่ 2  

สถานการณ์การลงทุนจากต่างประเทศในปัจจุบัน

นับตั้งแต่การเข้ารับตำแหน่งของนายกฯ โมดี ในปี 2014 มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของอินเดียเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยในช่วงปี 2014 จนถึงปัจจุบัน อินเดียมีมูลค่า FDI ถึง 2.86 แสนล้านดอลลาร์ (เพิ่มขึ้นกว่า 50% เมื่อเทียบกับมูลค่า FDI ในช่วง 5 ปีก่อนหน้า) และในช่วงปี 2018-2019 ซึ่งนับเป็นช่วงที่มูลค่า FDI ทั่วโลกซบเซา แต่อินเดียกลับมีมูลค่า FDI รวมถึงประมาณ 6.5 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 6% จากปีก่อนหน้า นอกจากนี้ อินเดียยังได้รับการยกระดับ Ease of Doing Business อย่างก้าวกระโดด จากลำดับที่ 144 ใน 2014 เป็นลำดับที่ 77 ในปัจจุบัน (ไทยอยู่ในลำดับที่ 27)

แนวทางสำคัญที่อินเดียจะใช้พัฒนาศักยภาพของประเทศ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ ตามที่เห็นได้จากแผนงบประมาณฯ สามารถสรุปออกเป็น 4 หัวข้อที่น่าสนใจ ประกอบด้วย

1.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อินเดียมุ่งการสานต่อการพัฒนาความเชื่อมโยง (connectivity) ภายในประเทศทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ สร้างความมั่นคงทางพลังงานทั่วประเทศ และเดินหน้าการระดมทุนเพื่อนำงบประมาณมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างเป็นรูปธรรม จะเห็นได้ว่าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในครั้งนี้ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงเพื่อรองรับความต้องการพื้นฐานในการอยู่อาศัย แต่ได้ก้าวไปสู่การส่งเสริมการสร้าง supply chain ที่มีประสิทธิภาพ สำหรับรองรับการขนส่งสินค้าและการดำเนินธุรกิจที่กำลังจะเติบโตขึ้นในอินเดีย 

2.การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ อินเดียเน้นสร้างทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมภายในประเทศ โดยมีแนวทางที่สำคัญ 2 ประการคือ (1) พัฒนาระบบการศึกษาขั้นสูง เน้นการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ และ (2) การพัฒนาฝีมือแรงงานขั้นสูง โดยเน้นพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อรองรับความต้องการแรงงานฝีมือในต่างประเทศ โดยเน้นสาขาที่เป็นที่ต้องการในปัจจุบัน อาทิ AI/ IoT/ Big Data/ 3D Printing/ Virtual Reality และหุ่นยนต์ เป็นต้น 

3.การสร้างนโยบายเพื่อดึงดูดการลงทุนที่ชัดเจน โดยนอกเหนือจากการปรับปรุง Ease of Doing Business แล้ว อินเดียได้เพิ่มนโยบายที่สำคัญ อาทิ (1) การเพิ่มสาขาที่เปิดโอกาสให้ FDI ลงทุนได้ เช่น สาขาการบิน สื่อ Animation, Visual Effects, Gaming & Comics (AVGC) และภาคการประกันภัย เป็นต้น (2) การอนุญาตให้ธุรกิจในอินเดียสามารถระดมทุนจาก foreign portfolio investment (FPI) ได้มากขึ้น (3) การอำนวยความสะดวกให้คนอินเดียที่มีถิ่นพำนักอยู่นอกประเทศ สามารถเคลื่อนย้ายเงินทุนมาลงทุนในอินเดียได้สะดวกขึ้นและ (4) การเปิดประมูลและงดเก็บภาษีเงินได้สำหรับธุรกิจต่างชาติที่จะร่วมลงทุนในธุรกิจขนาดใหญ่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น โรงงานชิพและแผงวงจรขั้นสูง (Semi-conductor Fabrication-FAB) โรงงานโซลาร์เซลล์ แหล่งเก็บพลังงานแบตเตอรี่ลิเทียม โครงสร้างพื้นฐานการชาร์จไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และโรงงานเซิร์ฟเวอร์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น 

4.สร้างอินเดียให้น่าอยู่และน่าลงทุน นอกจากการดำเนินนโยบายเพื่อส่งเสริมการลงทุนแล้ว อินเดียยังเดินหน้าสร้างอินเดียใหม่ (New India) ภายในปี 2022 โดยได้ตั้งวิสัยทัศน์ 10 ประการ ประกอบด้วย (1) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสร้างสังคมที่เข้มแข็ง (2) พัฒนาระบบดิจิทัลให้เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม (3) สร้างอินเดียปราศจากมลพิษ (4) สานต่อนโยบาย Make in India เน้นธุรกิจ MSMEs และ Start-ups อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ไมโครชิพและแบตเตอรี่ และเครื่องมือแพทย์ (5) บริหารจัดการน้ำ (6) ส่งเสริมเศรษฐกิจภาคพื้นทะเล (Blue Economy) (7) พัฒนาโครงการทางอวกาศ (8) ส่งเสริมการเกษตรให้เพียงพอต่อการบริโภคและส่งออก (9) สร้างสังคมอุดมสุขภาพ และ (10) การสร้างทีมอินเดียที่ดี ลดขั้นตอนและดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการดำเนินการทั้งหมดจะย่อมสร้างให้อินเดียน่าอยู่และน่าลงทุนมากยิ่งขึ้น 

ไทยเห็นอะไรจากการพัฒนาของอินเดีย

จากนโยบายด้านบน เราได้เห็นจุดแข็งของรัฐบาลอินเดียที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจย่างจริงจังชัดเจน สานต่อโครงการที่เคยดำเนินการแล้ว และมีแนวทางที่ชัดเจนเพื่อเดินหน้าไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ อินเดียกำลังได้รับการพัฒนาในทุกมิติเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการลงทุน ภาคธุรกิจไทยจึงไม่ควรกลัวอินเดียอีกต่อไป แต่ควรเรียนรู้และทำความรู้จักตลาดแห่งนี้ให้มากขึ้น เพื่อฉกฉวยโอกาสทางธุรกิจในอนาคตร่วมกับอินเดียได้อย่างทันท่วงที

โดย... 

นางสาวเชษฐ์ธิดา กิตติ์ชัยวัชร์

เลขานุการเอก สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี