กลยุทธ์สำหรับช่วงเศรษฐกิจถดถอย

กลยุทธ์สำหรับช่วงเศรษฐกิจถดถอย

ประเด็นหนึ่งในวงสนทนาของผู้บริหาร ในปัจจุบันหนีไม่พ้นเรื่องของความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลกในปีที่เหลือและปีหน้า ซึ่งก็มีสองกระแสหลัก

ความคิดแรกคือเศรษฐกิจโลก (และประเทศไทย) คงจะเข้าสู่ภาวะถดถอย หรือ Recession ในเวลาอันใกล้ ทั้งนี้เนื่องจากสัญญาณทางเศรษฐกิจต่างๆ (เช่น Inverted Yield Curve) หรือแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจของประเทศชั้นนำหลายๆ แห่งเริ่มมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย หลังจากประกาศอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ออกมา (เช่น เยอรมนี อังกฤษ​ สิงคโปร์) และที่สำคัญคือแนวโน้มสงครามการค้าระหว่างมหาอำนาจของโลก ก็ยังไม่มีทีท่ายุติในเวลาอันใกล้ แถมมีทิศทางที่จะขยายไปสู่การเป็นสงครามค่าเงิน และอาจจะไปสู่สงครามเทคโนโลยีต่อไป

อย่างไรก็ดี มีอีกกระแสหนึ่งที่มองว่าภาวะเศรษฐกิจโลกยังไม่ถึงช่วงของความถดถอย เพียงแต่อาจจะซึมหรือชะลอตัวไปบ้าง ซึ่งความคิดนี้วิเคราะห์กันไปไกลว่าในเดือน พ.ย.2563 จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐใหม่อีกครั้ง ซึ่งคนเดิมก็แสดงเจตนาอย่างชัดเจนว่าต้องการกลับมาใหม่ และย่อมเป็นการยากที่ประธานาธิบดีจะได้รับการเลือกให้กลับมาใหม่อีกครั้งถ้าทำให้เศรษฐกิจของประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอย ดังนั้นในช่วงนี้จึงยังคงเน้นการทำสงครามการค้าอยู่ เพื่อให้เศรษฐกิจทั้งของประเทศและของโลกกระเทือน แต่ไม่ช้าความเข้มงวดในนโยบายการค้าต่างๆ ก็จะเริ่มผ่อนปรน และจะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศกลับมาสู่จุดที่ดีที่สุดอีกครั้งในช่วงเลือกตั้งพอดี

ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีไหนก็ตาม แต่สำหรับธุรกิจในประเทศไทยแล้ว เราก็ได้รับผลกระเทือนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากรายได้หลักของเรามาจากการพึ่งพิงต่างประเทศ ทั้งการส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุนจากต่างประเทศ ขึ้นอยู่กับผลกระทบที่จะได้รับนั้นจะแรงและเร็วเพียงใด ซึ่งองค์กรธุรกิจก็ควรที่จะเริ่มคิดถึงกลยุทธ์ที่ตนเองจะใช้ในช่วงเศรษฐกิจที่ไม่สดใสกันได้แล้ว ไม่ว่าจะออกมาเป็นเศรษฐกิจถดถอยหรือซึมยาว

ได้มีงานวิจัยจากหลายๆ สำนักที่ได้ศึกษาองค์กรในต่างประเทศที่สามารถฟันฝ่าช่วงเศรษฐกิจถดถอยได้อย่างสง่างาม และพบว่าองค์กรเหล่านี้จะให้ความสำคัญกับเรื่องหลักๆ ที่คล้ายๆ กันอยู่ ได้แก่

1.ต้นทุน - ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญสำหรับช่วงที่เศรษฐกิจไม่สดใส แต่การให้ความสำคัญกับต้นทุนนั้นไม่ใช่การหาทุกวิธีทางเท่าที่มีในโลกในการลดต้นทุน แต่เป็นการลดต้นทุนในส่วนที่ไม่จำเป็น หรืออาจจะเรียกว่าเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพมากกว่า เช่น การนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาช่วยในกระบวนการทำงาน

ประเด็นสำคัญคือต้นทุนที่จะลดนั้นจะต้องเป็นการทำให้องค์กรเข้มแข็งขึ้น เสมือนคนที่ลดไขมันที่จำเป็นเพื่อให้หุ่นดีขึ้นและแข็งแรงขึ้น แต่ไม่ไปลดกล้ามเนื้อที่สำคัญ ที่สำคัญคือองค์กรควรจะให้ความสำคัญกับการลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพ ตั้งแต่ก่อนช่วงที่เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย เพราะถ้าเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างแท้จริงแล้ว องค์กรจะได้มีความพร้อมสำหรับข้อ 2 และ 3 ก่อนองค์กรอื่น

2.ลงทุนสำหรับอนาคต - โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยที่จะขับเคลื่อนให้องค์กรเติบโตอย่างสง่างามภายหลังเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ควรจะยิ่งได้รับความสนใจมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในด้านคน ในด้านเทคโนโลยี ในด้านการวิจัยและพัฒนา หรือในด้านความรู้ความสามารถขององค์กร เป็นต้น เพราะการลงทุนเหล่านี้จะทำให้องค์กรได้เริ่มต้นก่อนองค์กรอื่นเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว และพร้อมที่จะไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็วกว่า

3.การเข้าซื้อกิจการ - ช่วงนี้หลายๆ บริษัทจะเริ่มมีผลประกอบการที่ไม่ดี และมูลค่าของบริษัทเหล่านี้ก็จะถูกลง ดังนั้นจะเป็นโอกาสอันดีที่องค์กรจะสามารถเข้าไปซื้อเพื่อให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ใหม่ เทคโนโลยีใหม่ ตลาดใหม่ ช่องทางการจัดจำหน่ายใหม่ หรือความรู้ความสามารถใหม่ๆ เป็นต้น

สรุปคือไม่ว่าเศรษฐกิจในอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่ก็ไม่น่าสดใสเหมือนที่ผ่านมา ดังนั้นยิ่งองค์กรเตรียมตัวพร้อมเพียงใด จะยิ่งทำให้องค์กรสามารถเกาะกุมโอกาสจากช่วงที่ไม่สดใสนี้ได้ดีและเร็วกว่าผู้อื่น