เมื่อฉันผลัดใบ

เมื่อฉันผลัดใบ

สวัสดีค่ะแฟนๆคอลัมน์ ขออนุญาตอัพเดตสถานะของตนเองสักหน่อยนะคะ เวลานี้ดิฉันมีอาชีพเป็นที่ปรึกษาอิสระ(Freelance advisor)

และงานที่ดิฉันรับทำเป็นหลัก (แต่ไม่ใช่พนักงานประจำ)ในเวลานี้คือเป็นที่ปรึกษาบริหาร (Executive Advisor) ของบำรุงราษฎณ์ อะคาเดมี (Bumrungrad Academy) ที่อยู่ในเครือของรพ. บำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ทั้งนี้เพราะดิฉันมีความสนใจในธุรกิจการรักษาพยายาล (Healthcare) มาได้พักใหญ่แล้ว และอยากมีส่วนในการพัฒนาบุคลากรด้าน Healthcare ของไทยเราให้มีความสามารถเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติอย่างกว้างขวาง

ดิฉันได้ลาออกจากการเป็นอาจารย์ที่สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่ง จุฬาฯเมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาค่ะ เหตุผลก็คือรู้สึกอิ่มตัวกับการทำงานประจำ ต้องการเป็นอิสระ ซึ่งการที่ตัดสินใจลาออกจากศศินทร์เพื่อมาประกอบอาชีพอิสระหลังจากทำงานประจำมาเกือบสามสิบปีถือว่าเป็นการตัดสินใจครั้งใหญ่ของชีวิต จึงมีคนรู้จักหลายท่านให้ความสนใจว่าดิฉันมีวิธีคิด วิธีเตรียมการอย่างไรก่อนตัดสินใจเปลี่ยนงานของตนเองประมาณเหมือนต้นไม้ผลัดใบ (turn over new leaves) กระนั้น จริงแท้แน่นอนที่ของแบบนี้มันก็ต้องมีการเตรียมการกันพอสมควร ดิฉันจึงขออนุญาตเล่าถึงประสบการณ์ตรงของตนเองไว้ในคอลัมน์นี้เพื่อที่แฟนคอลัมน์ที่นึกอยากจะเปลี่ยนงานผลัดใบเมื่อวัยไม่น้อยอย่างดิฉันอาจจะนำบทเรียนจากประสบการณ์ของดิฉันไปใช้ประโยชน์ได้บ้าง 

ทบทวนความรู้สึกและความต้องการของตนเองจนมั่นใจ การที่ดิฉันทำงานที่ศศินทร์ จุฬาฯ มาถึง 28 ปีในฐานะนักวิชาการที่สอน ทำวิจัย ให้คำปรึกษา งานบริหาร ซึ่งดิฉันก็รู้สึกสนุกเพลิดเพลินกับงานมาโดยตลอดจึงสามารถอยู่ที่ศศินทร์ได้นานขนาดนี้ อย่างไรก็ตามก็มีบางช่วงที่ดิฉันเคยคิดเหมือนกันว่าอยากเป็นอิสระ อยากเป็นนายของตัวเอง โดยเฉพาะเมื่อต้องตรวจข้อสอบจำนวนมากๆ ดิฉันรู้สึกเหนื่อยและเบื่อ และหลายครั้งดิฉันไม่อยากสอนหัวข้อที่ดิฉันไม่สนใจ แต่ต้องสอนตามหน้าที่ เมื่อมีความรู้สึกนี้เกิดขึ้นบ่อยมากขึ้น ดิฉันก็เริ่มคิดแล้วว่าเราอาจจะไม่เหมาะที่จะทำงานประจำที่ศศินทร์เสียแล้วกระมัง ดังนั้นเมื่อประมาณต้นปีที่ผ่านมาดิฉันจึงเริ่มทบทวนความรู้สึกของตนเองอย่างจริงจัง และเมื่อแน่ใจในความรู้สึกว่าอยากเป็นอิสระแน่นอน อยากทำเรื่องอื่นในธุรกิจอื่น ดิฉันก็ไม่ได้ลาออกในทันที แต่เดินหน้าด้วยขั้นตอนต่อไป

วิเคราะห์ความพร้อม ก่อนจะมั่นใจว่าสามารถทิ้งรายได้ประจำเพื่อไปทำงานอื่นที่ยังไม่แน่นอน เราต้องทบทวนความพร้อมของเราในหลายๆด้าน ได้แก่ในเรื่องความรู้และทักษะสำหรับงานใหม่ที่เราหมายตาไว้ ต้องทบทวนว่าเรามีเครือข่ายความสัมพันธ์กับคนในสายธุรกิจที่เราสนใจมากน้อยเพียงใด การมีความสามารถนั้นยังไม่เพียงพอ จำเป็นต้องมีคนในวงการที่เราสนใจทำงานรู้จักเราและรู้ว่าเรามีความสามารถในด้านที่เขาต้องการด้วย บางท่านตั้งหน้าตั้งตาทำงานในสาขาใดสาขาหนึ่งอย่างเดียว ทั้งๆที่มีความสามารถด้านอื่นแต่ไม่มีโอกาสแสดงความสามารถอื่นให้คนในวงการธุรกิจรับรู้ หากคิดจะเปลี่ยนงานไปทำงานที่ใช้ทักษะอื่น ควรต้องใช้เวลาพบปะผู้คนกลุ่มเป้าหมายเพื่อแสดงฝีมือในด้านอื่นให้ปรากฏด้วย ซึ่งอาจต้องใช้เวลาพอสมควร ขึ้นอยู่กับความสามารถและเครือข่ายของท่าน ดังนั้นแม้ว่าท่านจะยังไม่มีความคิดอยากเปลี่ยนงาน ท่านก็ควรหาโอกาสแสดงความสามารถด้านอื่นและหมั่นฝึกปรือฝีมือด้านอื่นให้ปรากฏเป็นที่รู้จักกันด้วย เพราะใดใดในโลกล้วนอนิจจัง วันใดอยากเปลี่ยนงานขึ้นมา จะได้หางานใหม่ไม่ยาก นอกจากการทบทวนเรื่องความรู้ความสามารถและเครือข่ายคนรู้จักแล้ว ท่านยังควรคำนึงถึงเรื่องสภาพคล่องทางการเงินด้วย โดยเฉพาะหากท่านต้องการประกอบอาชีพอิสระ ท่านควรคำนวณล่วงหน้าว่าท่านมีเงินสำรองไว้ใช้จ่ายได้นานเพียงใดในกรณีที่โชคร้ายหางานที่สร้างรายได้ไม่พอ เมื่อพิจารณาทบทวนความพร้อมทั้งสามด้านนี้แล้วท่านก็จะได้คำตอบเองว่าด้านใดที่ท่านยังพร่อง แล้วจะเสริมด้านนั้นให้แข็งแรงขึ้นได้อย่างไร และจะใช้เวลาเท่าไรจึงพร้อมที่จะ “ผลัดใบ”

การ “ผลัดใบ” คือการ “รีแบรนด์” หากพิจารณาจากมุมมองของนักการตลาด การเปลี่ยนงานใหม่ที่ผิดแผกแตกต่างไปจากงานเดิมและบทบาทเดิมก็คือการรีแบรนด์ (rebrand) ตัวเองในฐานะผลิตภัณฑ์ (product) ที่ใช้ชื่อเดิมแต่มีประโยชน์ใช้งานหรือคุณค่าที่แตกต่าง ทำให้ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายหรือนายจ้างรู้จักตัวเราในบทบาทใหม่ ในความสามารถอื่นๆ ซึ่งการจะรีแบรนด์ตัวเองให้ประสบความสำเร็จย่อมขึ้นกับคุณภาพของผลิตภัณฑ์หรือความรู้ความสามารถดังได้กล่าวไปแล้ว แต่ในส่วนที่อยากคุยเพิ่มเติมก็คือการสื่อสารประชาสัมพันธ์คุณสมบัติใหม่ บทบาทใหม่ของตัวเองในฐานะมืออาชีพ ซึ่งนอกจากการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ก็คือการใช้โซเชียลมีเดียที่เป็นเครื่องมือที่ทรงอานุภาพมากในปัจจุบัน การสร้างบล็อก เว็บไซต์ของตนเอง โดยเฉพาะผู้ที่อายุน้อย ยังไม่ค่อยรู้จักคนมาก เป็นเรื่องสำคัญและเป็นเรื่องดีที่ควรใช้โซเชียลมีเดียในการสร้างตนเองและเนื้อหาให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างอันจะนำไปสู่การสร้างงานและธุรกิจต่อไป ทั้งนี้หากมีผู้ที่เคยใช้บริการหรือสินค้าหรือเคยจ้างงานท่านให้คำรับรองด้วยก็จะเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับท่านเพิ่มขึ้นไปอีก เครดิตการทำงานแต่หนหลังจึงเป็นทรัพยากรตัวช่วยสำคัญที่จะทำให้กระบวนการผลัดใบของท่านงสะดวกราบรื่นขึ้น

การเตรียมใจ นอกจากหลักการขั้นตอนต่างๆในการเตรียมผลัดใบซึ่งเป็นเรื่องทางเทคนิคแล้ว เรื่องอื่นที่สำคัญก็คือการเตรียมใจ เพราะการเปลี่ยนงานหมายถึงการเปลี่ยนที่ทำงาน สภาพแวดล้อมการทำงาน ผู้คนที่ทำงานด้วย ตลอดจนค่านิยมและสไตล์การทำงานของที่ทำงานใหม่ที่จะต่างไปจากเดิม คนที่พร้อมจะผลัดใบคือคนที่มีใจกว้าง มีความยืดหยุ่น (resiliency) มากพอที่จะปรับทัศนคติ ปรับใจ และปรับพฤติกรรมการทำงานให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ คนที่มีความคิดติดกรอบ ยึดมั่นถือมั่นในเรื่องต่างๆจนเกินไปคงจะต้องรู้จักปรับใจให้มองโลกในมุมมองที่แตกต่างไป เพื่อที่จะสามารถรับฟังความคิดที่แตกต่างของคนที่แตกต่างออกไปได้ไม่ยาก มีวุฒิภาวะทางอารมณ์สูง สามารถทนความเหงาโดดเดี่ยวของช่วงแรกของการเปลี่ยนงานได้ มองโลกในแง่ดี

เรื่องของการเปลี่ยนงานโดยเฉพาะเมื่ออายุมากแล้วเช่นดิฉัน ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนเนื้อหาของงาน แต่มันหมายถึงการผลัดใบที่หมายถึงการผลัดเปลี่ยนจิตใจข้างใน ถ้าเนื้อในแก่นของต้นไม้ยังแข็งแรง แม้จะผ่านความแล้ง พายุฝน หรือลมหนาว ก็ยังสามารถยืดหยุ่นปรับตนเองให้เข้ากับฤดูกาลที่เปลี่ยนไปได้ ไม่แห้งเหี่ยวเฉาตายไปก่อน นี่คือวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่ได้มาพร้อมกับวัย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าขอบคุณสำหรับวัยที่เพิ่มมากขึ้นเมื่อถึงวันอยากผลัดใบ สลัดใบแก่ทิ้งไปและผลิใบอ่อนที่สดชื่นกว่ามาแทนที่