Blockchain กับการปฏิรูปทรัพย์สินทางปัญญา

 Blockchain กับการปฏิรูปทรัพย์สินทางปัญญา

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสบรรยายในหัวข้อกฎหมายและการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัล ณ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

หนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจ คือ Blockchain จะสามารถช่วยจัดการระบบสิทธิ์ในกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาได้อย่างไร? 

Blockchain และประโยชน์ในเชิงธุรกิจ

ลักษณะพิเศษของ Blockchain คือ การจัดการข้อมูลในแบบ Peer-to-Peer โดยเชื่อมต่อบุคคลต่าง ๆ ในลักษณะปราศจากตัวกลาง ซึ่งระบบจะทำการกระจายข้อมูล (Distributed) ไปยังทุกคนในระบบ ทำให้ขั้นตอนในการบันทึกข้อมูลในแต่ละครั้งนั้น สมาชิกทุกคน (Nodes) จะต้องทำการตรวจสอบข้อความ (Verify) และให้ความเห็นชอบข้อมูลนั้นก่อนที่ระบบจะบันทึกข้อมูลลงใน Block และเมื่อระบบได้ทำการบันทึกโดยผ่าน Consensus ของสมาชิกแล้ว การแก้ไขข้อมูลจะกระทำไม่ได้

นอกจากนี้ เทคโนโลยี Blockchain ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ยังสามารถพัฒนาเพื่อเขียนโปรแกรม Smart Contract โดยคู่สัญญาสามารถใส่ชุดคำสั่งที่เป็นเงื่อนไข (Programmable Logic) หรือตั้งค่า Algorithm ตามที่ตนต้องการไว้ และเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นตามข้อตกลงดังกล่าว ระบบก็จะทำธุรกรรมให้อัตโนมัติ หรือเท่ากับว่าสัญญาก็จะเกิดขึ้นในแบบอัตโนมัติ เช่น ให้มีการโอนเงินไปยังบัญชีผู้รับหากเงื่อนไขอย่างหนึ่งอย่างใดที่กำหนดไว้ผู้รับได้ดำเนินการสำเร็จแล้ว เป็นต้น 

Blockchain และลิขสิทธิ์

กฎหมายให้ความคุ้มครองงานอันมีลิขสิทธิ์ เช่น งานวรรณกรรม นาฎกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียง และภาพยนต์ เป็นต้น โดยความคุ้มครองดังกล่าวจะเกิดขึ้นทันทีเมื่องานสำเร็จโดยไม่ต้องนำมาจดทะเบียนกับภาครัฐ

ดังนั้น จุดอ่อนที่สำคัญของงานลิขสิทธิ์ คือ การละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ ภาพ เสียง หรืองานศิลปในแขนงต่าง ๆ มักถูกเผยแพร่ในรูปแบบ Digital  ผ่าน Platform ออนไลน์ อันเป็นการง่ายต่อการละเมิดสิทธิ โดยเจ้าของผลงานอาจไม่ทราบและไม่สามารถยับยั้งการส่งต่อหรือเผยแพร่งานดังกล่าวได้

เพื่อแก้ไขปัญหาในข้างต้น จึงมีแนวคิดในการปรับใช้ Blockchain และ Smart Contract ในหลายรูปแบบ เช่น การใช้เพื่อบันทึกสิทธิ์ของผู้เป็นเจ้าของผลงาน หรือเพื่อแสดงเป็นหลักฐานใน

การสร้างผลงานเป็นรายแรก เนื่องจากการบันทึกข้อมูลลงใน Blockchain จะมีการบันทึกวันและเวลาไว้ชัดเจน (Timestamp) และด้วยสภาพที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ จึงถือเป็น e-document ประเภทหนึ่งที่น่าเชื่อถือตามกฎหมายธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้น Blockchain จึงอาจเป็นเครื่องมือที่ช่วยเจ้าของสิทธิ์นำไปใช้พิสูจน์ในชั้นศาลหากมีข้อพิพาทเกี่ยวกับงานได้

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทเอกชนจำนวนไม่น้อยที่ใช้เทคโนโลยี Smart Contract สร้าง App/Website เพื่อให้เจ้าของผลงานสามารถบันทึกงานและสิทธิ์ลงใน Blockchain ได้ และเมื่อมีผู้สนใจใช้สิทธิ์ในงานดังกล่าว สามารถเข้าทำสัญญาใช้สิทธิ์ได้ทันที ดังนั้น หากเงื่อนไขเป็นไปตามที่ ทั้งสองฝ่ายตกลง ระบบจะทำการตัดเงินผู้ใช้อัตโนมัติ พร้อมกับทำสัญญาอนุญาตให้ใช้งานลิขสิทธิ์ ตัวอย่างของ App ที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันเช่น Blinded.com และ Kodak.com ซึ่งในกรณีของ Kodak ได้มีการออกเหรียญดิจิทัลของตนเอง หรือ Kodak Coin เพื่อใช้สำหรับชำระค่าสิทธิ์ในรูปภาพของศิลปินที่บันทึกไว้บน platform ของตน

Blockchain และ GI

GI หรือ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดจากความเชื่อมโยงระหว่าง สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของบุคคลที่ผลิต (ตั้งแต่ Harvest จนถึงขั้น Production) ใน แหล่งธรรมชาติของชุมชน” เช่น ข้าวหอมมะลิสุรินทร์ ทุเรียนนนท์ และกาแฟเขาทะลุ เป็นต้น ดังนั้น จะเห็นว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นสินค้าที่มีลักษณะเฉพาะตามแต่ละท้องถิ่น ซึ่งจะได้ผลดีเฉพาะ การผลิตหรือเพาะปลูกในแหล่งท้องถิ่นนั้นเท่านั้น หรืออาจกล่าวได้ว่า GI เป็นสิ่งที่การันตีว่าสินค้า จะมีคุณภาพและชื่อเสียงตามแหล่งที่ผลิต

ในกรณีของ GI เทคโนโลยี Blockchain จะมีประโยชน์อย่างมากสำหรับภาครัฐในกระบวนการจดทะเบียน ตรวจสอบและติดตาม (trace) แหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ เช่น หากผู้ผลิตไวน์เจ้าหนึ่งต้องการขอขึ้นทะเบียน GI ในผลิตภัณฑ์ไวน์จากองุ่นที่ปลูกทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส จึงได้นำชาวสวนผู้ปลูกองุ่น ชาวสวนที่ทำการเก็บผลผลิต เจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ในการผลิตไวน์ในกระบวนการต่าง ๆ (คั้นน้ำองุ่น หมัก บ่ม กรอง ตลอดจนบรรจุลงขวด) มาเป็น Nodes ใน Blockchain และให้แต่ละคนบันทึกกระบวนการและขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดทำคำขอ GI กับภาครัฐ ดังนั้น Blockchain ในกรณีนี้ จึงทำหน้าที่แสดงความสัมพันธ์ของสินค้าและแหล่งภูมิศาสตร์ พร้อมทั้งระบุลักษณะเฉพาะเพื่อแสดงแหล่งกำเนิดที่แท้จริงของสินค้า 

Blockchain และหลักประกันทางธุรกิจ

ในปัจจุบันทรัพย์สินทางปัญญาสามารถใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้ ซึ่งในทางปฏิบัติ การยื่นขอหลักประกันอาจมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน เช่น ธนาคาร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญา และกรมที่ดิน เป็นต้น เช่น หากบริษัท ต้องการกู้เงินกับธนาคาร จึงนำเครื่องหมายทางการค้าของบริษัทและที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไปเป็นหลักประกันต่อมา ในขั้นตอนการทำสัญญาหลักประกันกับธนาคาร ธนาคารจะเป็นผู้ทำหน้าที่นำเอกสารที่เกี่ยวข้องไปแจ้งจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อบันทึกการทำรายการดังกล่าว ซึ่งในขั้นตอนนี้ จะมีการแจ้งข้อมูลการใช้สิทธิ์มายังกรมทรัพย์สินทางปัญญาและกรมที่ดิน (ในกรณีของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง) และหากในอนาคต มีการผิดนัดชำระหนี้เกิดขึ้น ทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันอาจมีการโอนสิทธิ์ตามเงื่อนไขของสัญญา ซึ่งจำเป็นต้องบันทึกข้อมูลการโอนสิทธิ์ดังกล่าวลงบนฐานข้อมูลของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ดังนั้น จากตัวอย่างข้างต้น Blockchain จะช่วยอำนวยความสะดวกได้อย่างมาก หากทุกคน ที่เกี่ยวข้องเป็น Nodes ในธุรกรรมดังกล่าว และระบบสามารถจดแจ้งการใช้และการเปลี่ยนแปลงของสิทธิ์ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างเป็นระบบ

ท้ายที่สุด การนำ Blockchain มาใช้ในประเทศไทยในลักษณะข้ามหน่วยงาน เป็นเรื่องที่ จะเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐและประชาชนเป็นอย่างมาก แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดของการไปถึงเป้าหมายนั้นคือ การบูรณาการข้อมูลภาครัฐอย่างเป็นระบบเพื่อส่งเสริมการจัดการข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพในยุคBig Data

[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน]