ทำไมจึงเสพติด “มือถือ”

ทำไมจึงเสพติด “มือถือ”

หลายคนคงรู้สึกเหมือนผู้เขียนเมื่อลืมโทรศัพท์มือถือไว้ที่บ้านแล้วรู้สึกหงุดหงิดเหมือนขาดอะไรไปอย่างหนึ่ง รู้สึกถูกทอดทิ้ง

ไม่รู้ว่าโลกเขาไปถึงไหนกันแล้ว อีกทั้งรู้สึกต่ำต้อยยามเมื่อเห็นเขาใช้มือถือกันอย่างเมามันแต่เมื่อได้มันกลับมาอยู่ในมืออีกครั้งก็รู้สึกสบายใจ เปิดดูสาระพัดหน้าอย่างมีความสุข ความรู้สึกและพฤติกรรมเช่นนี้ไม่ผิดปกติหรอกเพราะพวกเราต่างก็ “ติด”โทรศัพท์มือถือเช่นเดียวกับที่เราติดน้ำตาล ติดเหล้า ติดบุหรี่ฯลฯ ปัจจุบันมีคำอธิบายเชิงวิทยาศาสตร์ในเรื่องการติดมือถือดังที่จะเล่าต่อไปโดยนำมาจากวารสาร Discover ฉบับ June 2019

ตลอดเวลา 10 ปีเศษที่ผ่านมา เราใช้โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน ไอแพดแล็บทอปกันอย่างกว้างขวาง โดยมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของตัวเราเองต่อความสัมพันธ์กับครอบครัวกับเพื่อน กับญาติมิตร ฯลฯ โดยที่ไม่รู้ตัวเพราะเราอยู่ในการเปลี่ยนแปลงนี้ ถ้าเราลองนึกย้อนหลังไปกว่า 10 ปีก็จะจำได้ว่าเราอ่านหนังสือ ดูทีวีร่วมกันในครอบครัว พูดจาคุยกันอย่างให้ความสนใจกันและกันไม่มีสิ่งน่ากลัวที่สามารถทำลายชีวิตใครก็ได้ในเวลาไม่กี่วินาทีด้วยการโพสต์ข้อความที่ไร้สติ ฯลฯ

เทคโนโลยีสมาร์ทโฟนและโซเชียลมีเดียทำให้คนใจร้อนมากขึ้น มีความอดทนและอดกลั้นต่อสิ่งต่างๆ รอบตัวน้อยลงเพราะเราคุ้นเคยกับความรวดเร็วของสิ่งที่ต้องการผ่านจอเรามีความสุขสนุกสนานมากขึ้นผ่านเรื่องราวต่างๆ ในโซเชียลมีเดีย มีสังคมที่กว้างขวาง รับรู้สิ่งใหม่ๆในโลกและหาความรู้ได้ในเวลาเพียงเสี้ยววินาที ฯลฯ มันมีทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดีปนกัน ถ้าเราเข้าใจกลไกทางวิทยาศาสตร์ของมันที่ทำให้เรา “ติด” เป็นทาสอาจช่วยให้เราสามารถควบคุมไม่ให้มัน “ทำร้าย” เราได้กระมัง

สมองมนุษย์นั้นกระหายใน 3 เรื่องคือ “ความสุขสมอย่างทันด่วน” (instant gratification) ความรวดเร็ว และ การคาดคะเนไม่ได้” (unpredictivity)สมาร์ทโฟนนั้นทำให้เกิดการ ท่วมท้นทั้ง 3 ลักษณะและสมองก็ตอบรับด้วยการหลั่งสารเคมีในร่างกายซึ่งมีชื่อว่าdopamineที่ทำให้เรามีความสุข (เราติดน้ำตาลเพราะมันให้ความหวานซึ่งทุกครั้งที่เราบริโภค dopamine ก็จะถูกปล่อยออกมาและทำให้เรามีความสุข ดังนั้นเราจึงชอบกินหวานกัน)

“ความสุขสมอย่างทันด่วน”และความรวดเร็วทำให้เกิดความสุขนั้นเข้าใจได้ง่าย ส่วน “การคาดคะเนไม่ได้” ทำให้เกิดความสุขได้อย่างไรต้องถามคนเล่นไพ่ว่า รู้สึกอย่างไรในขณะที่กำลังเปิดไพ่มือใหม่ที่ได้รับแจกหรือลุ้นตรวจหวยหรือลุ้นดูลูกเต๋าในเกมส์ไฮโลหรือblind date (นัดบอด) ฯลฯมันเป็นความสุขที่เกี่ยวพันกับความตื่นเต้น

ลักษณะสำคัญของสมาร์ทโฟนที่ทำให้เกิด“การคาดคะเนไม่ได้”นั้นคือการคาดหวังว่า“รางวัล” (ความรู้สึกพอใจ ความสุข ความตื่นเต้น) กำลังจะมาถึง เช่น โพสต์รูปถ่ายบน IG หรือ Facebook หรือ YouTube และคาดคะเนว่าจะมีคนดูหรือกดไลน์หรือแชร์มากน้อยเพียงใด มนุษย์นั้นต้องการได้รับการยอมรับจากผู้อื่นเสมอปฏิกิริยาด้านบวกในโซเชียลมีเดียก็คือ“รางวัล”หรือการยืนยันความมีตัวตนของตนเอง

ในสังคมธรรมดาที่ผู้คนพูดจาสังสรรค์กันความคาดหวังว่า รางวัลกำลังจะมาถึงนั้นมีน้อยเช่นจะมีคนชมว่าสวยว่าหล่อว่าดูดีอย่างดีก็จากคนไม่กี่คน แต่ถ้าเป็นโซเชียลมีเดียผ่าน สมาร์ทโฟนแล้วอาจมีคนกดไลน์เป็นหมื่นเป็นแสน ความตื่นเต้นความสุขมันอยู่ตรงการคาดหวังเช่นนี้จนทำให้dopamineหลั่งออกมาเป็นสองเท่าของการได้รับรางวัลจริงและเมื่อยิ่งมีการคาดหวังเช่นนี้บ่อยเข้าก็เป็นการเสพติดเพราะdopamineจะหลั่งออกมามากยิ่งขึ้น

การทำงานของโซเชียลมีเดียเช่น IG หรือ Facebook นั้นพุ่งไปที่ limbic system ของสมองซึ่งเกี่ยวพันกับเรื่องของ “รางวัล” การเอาตัวรอด การได้รับการยอมรับจากสังคม ฯลฯ ซึ่งเกี่ยวพันกับสารสร้างความสุขdopamine เมื่อเราต้องการ“รางวัล” เราจึงกลับไปที่โซเชียลมีเดียครั้งแล้ว ครั้งเล่าอย่างไม่รู้ตัวจนเสพติดเพราะได้รับความสุขจากdopamine

ในทางการแพทย์การกระหายใช้สมาร์ทโฟนในระดับเสพติดอย่างหนักจนมีผลต่อสุขภาพ ความสามารถในการคิด ความสัมพันธ์ ตลอดจนสุขภาพจิตมีชื่อเรียกว่า SPD (Smartphone Dependence) มีบทความที่ตีพิมพ์ในปี 2017ในวารสารClinical Psychological Scienceซึ่งระบุว่า เด็กวัยรุ่นซึ่งใช้สมาร์ทโฟนมากกว่าวันละ3ชั่วโมงมีโอกาสที่จะคิดหรือลงมือฆ่าตัวตายมากกว่าเด็กคนอื่นที่ใช้เวลากับสมาร์ทโฟนน้อยกว่าถึง34%

วารสาร Frontiers in Psychiatry ในปี 2016 ตีพิมพ์บทความที่พบว่าการใช้สมาร์ทโฟนเชื่อมโยงกับความกังวล ความเครียด อาการซึมเศร้าและการหลับที่ไม่มีคุณภาพ สาเหตุนั้นมาจากการรับข่าวสารข้อมูลที่ไหลมาอย่างไม่จบสิ้น ความเครียดที่เกิดขึ้นมาจากการหลั่งสูงขึ้นของฮอร์โมน adrenaline และ cortisol เมื่อได้รับสิ่งกระตุ้นซึ่งในเวลาต่อมาฮอร์โมน 2 ตัวนี้ก็กลับลงไปสู่การหลั่งในระดับปกติ แต่การใช้สมาร์ทโฟนอย่างต่อเนื่องโดยมีแรงกดดันที่จะต้องมีข้อมูลข่าวสารอย่างไม่หยุดยั้งจะทำให้ฮอร์โมนสองตัวนี้กลับลงไปสู่ระดับการหลั่งปกติที่สูงขึ้นกว่าเดิม

ที่เลวร้ายกว่านี้ก็คือยามที่เราถูกมนต์สะกดของสมาร์ทโฟน ความสนใจของเราจะไปอยู่ที่จุดเดียวจนสูญเสียความสามารถในการทำสิ่งอื่นพร้อมไปด้วยและถ้าพยายามที่จะสร้างความสมดุลของการรับการกระตุ้นจากหลายแหล่งก็จะนำไปสู่ระบบการประมวลข้อมูลที่ขาดประสิทธิภาพ จนทำให้เกิดความเครียด เกิดความหงุดหงิด ไม่สามารถโฟกัสความคิดหรือมีสมาธิในการทำงาน

งานศึกษาพบต่อไปอีกว่าวัยรุ่นที่มีอาการ SPD จะประสบความเสียหายในระดับโครงสร้างย่อยของเนื้อสมองหรือพูดอีกอย่างว่า ทำให้ตัวเชื่อมสัญญาณในสมองที่ทำให้สามารถสื่อสารถึงกันได้ทุกพื้นที่เกิดปัญหา

ผู้เขียนบทความ Digital Detox ในวารสาร Discover ได้ทดลองไม่ใช้สมาร์ทโฟนเป็นเวลา 1 อาทิตย์และพบว่าตนเองมีเวลาอยู่กับความคิดตนเองมากขึ้น มีการพูดคุยกับคนในครอบครัวอย่างจริงจังและสื่อสารกันได้ดีมากขึ้น (โดยไม่แอบเหลือบมองสมาร์ทโฟนเหมือนก่อน)และเกิดสิ่งที่เรียกว่า The Sound of Silence (เหมือนชื่อเพลงฮิตในยุค70) กล่าวคือเกิดความสงบจนได้ยินเสียงที่เกิดขึ้นในสมองของเรา และที่สำคัญมีเวลาสำหรับทำสิ่งอื่นๆ มากขึ้น เขาเพิ่งรู้ว่าสมาร์ทโฟนแย่งเวลาจากเขาและยัดเยียดข้อมูลที่ไม่จำเป็นไปมากมายเพียงไร เหนือสิ่งอื่นใดมีความเครียดน้อยลงและรู้สึกว่ามีเสรีภาพมากขึ้น

สมาร์ทโฟนและโซเชียลมีเดียไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเพราะทำให้ชีวิตสะดวกสบายและมีประโยชน์ยามฉุกเฉิน ประเด็นอยู่ที่การรู้จักใช้อย่างชาญฉลาดโดยไม่เป็นทาสของมันอย่างไม่รู้ตัวเพราะกระหาย dopamine ซึ่งเป็นสารเสพติด การเป็นอิสระจากการเสพติดคือการเป็นไทแก่ตัวอย่างแท้จริง